นโยบายอเมริกาต้องมาก่อน หรือ America First กำลังกลับมาสู่เวทีโลกอีกครั้ง หลังชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่าการปัดฝุ่นนโยบายดังกล่าวในยุคทรัมป์ 2.0 อาจผลักให้สหรัฐฯ กลายเป็นพันธมิตรที่น่าเชื่อถือลดลง ขณะที่อาจเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับคู่แข่งอย่างจีนและรัสเซียแทน
ท่าทีของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในช่วงที่ผ่านมาสะท้อนว่าเขาสนใจกฎระเบียบและพันธมิตรน้อยลงแต่แสดงความชื่นชอบผู้นำเผด็จการ โดยไม่นานมานี้ทรัมป์ได้เรียกประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินว่าเป็น “อัจฉริยะ” ในการรุกรานยูเครน และเรียกประธานาธิบดีสี จิ้นผิงว่า “ยอดเยี่ยม” ในการใช้ “กำปั้นเหล็ก” หรือมาตรการที่เด็ดขาดเพื่อควบคุมประชาชน
นอกจากนี้ ทรัมป์ได้กล่าวว่าตนจะสนับสนุนรัสเซียในการ “ทำอะไรก็ได้ตามที่ต้องการ” กับพันธมิตรด้านการทหารนาโต้ที่ไม่ทุ่มงบด้านการทหารเพียงพอ และสัญญาณว่าจะบังคับใช้มาตรการกำแพงภาษี 10% กับสินค้านำเข้าจากประเทศต่าง ๆ แม้กระทั่งประเทศที่เป็นมิตรของสหรัฐฯ ก็ตามที
ในทัศนะของโรเบิร์ต โอไบรอัน อดีตที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติในยุคทรัมป์สมัยแรก ได้แย้งว่า ว่าที่ปธน.ทรัมป์จะรักษา "สันติภาพด้วยความเข้มแข็ง" ด้วยนโยบายต่างประเทศที่แข็งแกร่ง และตีความถ้อยแถลงต่าง ๆ ของว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ ในมุมที่อ่อนลงว่า ทรัมป์ ยังคงให้ความสำคัญกับความเป็นหุ้นส่วนต่าง ๆ แต่ได้มีคำขู่เพื่อให้ได้รับข้อเสนอที่ดีกว่าจากพันธมิตรในด้านกลาโหมและการค้าเท่านั้น
โอไบรอัน ระบุในนิตยการ Foreign Affairs ฉบับเดือนมิถุนายนว่า “มิตรสหายของวอชิงตันจะมีความมั่นคงปลอดภัยและพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น และศัตรูก็จะเกรงกลัวอำนาจของอเมริกาอีกครั้ง สหรัฐฯ จะต้องแข็งแกร่ง และจะมีสันติภาพตามมา”
อย่างไรก็ตาม มีอุปสรรคอย่างหนึ่งก็คือ ทรัมป์ ดูจะมีความพอใจที่จะทำข้อต่อรองที่ดีขึ้นแม้จะหมายถึงการคุกคามหุ้นส่วนต่าง ๆ ทรัมป์ไม่เชื่อในหลักการปกครองที่มีกฎระเบียบในด้านความสัมพันธ์และการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งโอไบรอันเรียกว่า “สิ่งที่เป็นนามธรรม”
ผลก็คือ พันธมิตรในยุโรปและเอเชียจะให้ความไว้เนื้อเชื่อใจสหรัฐฯ น้อยลง และมองอเมริกาว่าเป็นหุ้นส่วนที่พึ่งพาไม่ได้ พวกเขาจะเริ่มมองหาทางเลือกอื่น ๆ ในการปกป้องตนเอง
อันตรายในฝั่งยุโรป
ยูเครนมีความกังวลมากที่สุดในยุโรปหลังการเลือกตั้งที่ทรัมป์กุมชัยชนะ ทรัมป์อาจข่มขู่ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ให้ยอมรับข้อตกลงสันติภาพกับรัสเซีย ด้วยการขู่ที่จะตัดความช่วยเหลือด้านอาวุธเว้นแต่จะยอมรับข้อเสนอไป
ว่าที่ปธน.ทรัมป์ เคยกล่าวว่าตนจะสามารถยุติสงครามได้ใน 24 ชั่วโมง แม้ว่าเขาจะไม่ได้กล่าวว่าจะทำได้อย่างไร เจ.ดี.แวนซ์ คู่ชิงของทรัมป์จากพรรครีพับลิกัน ได้เสนอว่าข้อตกลงอาจเกี่ยวข้องกับการที่รัฐบาลกรุงเคียฟยอมยกดินแดนให้แก่รัสเซียและสัญญาว่าจะไม่เข้าเป็นสมาชิกนาโต้
ข้อตกลงสันติภาพที่เลวร้ายของยูเครนอาจบั่นทอนด้านกลาโหมของสหภาพยุโรป ด้วยการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้รัสเซีย แต่รัฐบาลทรัมป์สมัยสองจะยิ่งเพิ่มความท้าทายให้กับอียู จากมาตรการกำแพงภาษีที่กระทบกับประเทศในสหภาพยุโรปซึ่งเศรษฐกิจอ่อนแออยู่เป็นทุนเดิม
ตามหลักการที่ควรจะเป็นคือประเทศในอียูลงทุนในด้านกลาโหมของประเทศมากขึ้น และให้ความช่วยเหลือยูเครนเพิ่มเพื่อให้สามารถต่อสู้กับรัสเซียได้หากสหรัฐฯ ตัดความช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม มีโอกาสน้อยมากที่อียู ซึ่งมีอำนาจด้านนโยบายการต่างประเทศและกลาโหม จะสามารถทำอะไรที่หาญกล้าไปได้ อีกทั้งประเทศในยุโรปบางแห่งที่มีแนวคิดชาตินิยมที่ช่วยให้พรรคฝ่ายขวาในประเทศเหล่านั้นคว้าชัยเลือกตั้ง และหลายประเทศมีความเห็นอกเห็นใจรัสเซีย ซึ่งทำให้เป็นเรื่องยากที่จะทำให้ประเทศเหล่านี้เห็นตรงกันในมาตรการต่าง ๆ ในยุโรปด้วยกันเอง
ยิ่งไปกว่านั้น เยอรมนีและฝรั่งเศส 2 มหาอำนาจในอียู กำลังตกอยู่ท่ามกลางวิกฤตการเมืองภายในประเทศ พ่วงด้วยภาวะการคลังที่อ่อนแอในรัฐบาลยุโรป ทำให้ยากที่จะเห็นอียูผนึกเป็นปึกแผ่นอย่างแข็งแกร่งในการเผชิญหน้ากับภัยคุกคามด้านภูมิรัฐศาสตร์เช่นนี้ แต่มีแนวโน้มว่าแต่ละชาติจะพยายามทำข้อตกลงขึ้นมา บ้างจะเข้าหาทรัมป์ บ้างจะเสริมสัมพันธ์กับผู้นำรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน และบางประเทศเลือกที่จะเสริมสัมพันธ์กับสองผู้นำไปพร้อมกัน
จีนจะเป็นฝ่ายที่ใช้ประโยชน์จากความแบ่งแยกเหล่านี้ โดยจีนจะแย้งว่ายุโรปควรจะร่วมมือกับจีนในด้านการค้าหากเผชิญกับกำแพงภาษีจากสหรัฐฯ และจีนจะผลักดันแนวคิดเดียวกันนี้กับการแก้ปัญหาสภาพอากาศผิดธรรมชาติ หากทรัมป์ขู่อีกครั้งว่าสหรัฐฯ จะถอนตัวจากความตกลงปารีส (Paris Agreement) ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ความเสี่ยงในฝั่งเอเชีย
ในฝั่งเอเชีย ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะมองหาโอกาสในการผลักดันความมุ่งมั่นในการรวมไต้หวันเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจีน ผู้นำจีนอาจตีความแรงกดดันของทรัมป์ต่อยูเครนเป็นสัญญาณว่าสหรัฐฯ จะทำอะไรไม่มากนักในการปกป้องไต้หวัน โดยเฉพาะเมื่อว่าที่ปธน.ทรัมป์ กล่าวหาไต้หวันว่า “ขโมย” อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ
ขณะที่มิตรสหายและพันธมิตรของอเมริกาในเอเชียแปซิฟิก เริ่มกังวลเกี่ยวกับการกลับมาของทรัมป์ ความอ่อนแอเชิงนโยบายต่อไต้หวันจะยิ่งทำให้พวกเขากังวลมากขึ้นเป็นเท่าตัว ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้จะเริ่มไม่แน่ใจว่าสหรัฐฯ จะปกป้องพวกเขาหรือไม่หากจีนตัดสินใจเข้ามาคุกคามประเทศ ซึ่งจะทำให้พวกเขาเริ่มพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของตนขึ้นมา
อีกด้านหนึ่งคือฟิลิปปินส์ ซึ่งเอนเอียงมาทางสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งเพื่อการปกป้องตนเองจากการรุกรานของจีนในทะเลจีนใต้ อาจมีอนาคตที่ไม่แน่นอนในการต่อกรกับจีน ส่วนเวียดนาม ซึ่งมีแนวทางที่โน้มเข้าหาสหรัฐฯ อาจสรุปได้ว่านี่ไม่ใช่แนวทางที่ฉลาดนัก ขณะที่อินเดีย ซึ่งมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ มากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา หลังข้อพิพาทพรมแดนกับจีน ก็กำลังปรับปรุงความสัมพันธ์กับรัฐบาลปักกิ่งเช่นกัน
หากจีนสามารถควบคุมประเทศต่าง ๆ ใกล้เคียงได้ จีนจะสามารถสถาปนาตนเองเป็นมหาอำนาจแห่งเอเชียได้อย่างไร้ข้อพิพาท ในเวลาเดียวกันนี้หากพันธมิตรชิดใกล้ปักกิ่งอย่างรัสเซีย สามารถหยิบยื่นข้อเสนอที่แย่ให้แก่ยูเครนได้ สองมหาอำนาจนี้จะก้าวขึ้นมาในจุดยืนที่แข็งแกร่งทั่วยูเรเชีย
ที่ผ่านมา จีนอ้างว่าสหรัฐฯ กำลังอยู่ในช่วงตกต่ำ แต่นั่นไม่ใช่ความจริงทั้งหมด เพราะแม้ว่าสหรัฐฯ จะไม่ได้เป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจโลกเหมือนที่เคยเป็นมาในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1960 แต่ในระยะยาวสหรัฐฯ ยังอยู่ในทิศทางที่ดีกว่าจีน
เรื่องของเศรษฐกิจไม่ได้เป็นเหตุผลเดียวที่สหรัฐฯ ยังคงเป็นประเทศที่ทรงอำนาจที่สุดในโลก นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะสหรัฐฯ ได้ลงทุนในด้านเครือข่ายพันธมิตรโลกและหลักนิติธรรม ซึ่งหากทรัมป์เข้ามาคุกคามในประเด็นเหล่านี้ นโยบายอเมริกาของเขา อาจผลักให้อเมริกาต่อไปต่อท้ายในฐานะประเทศที่เข้าสู่ช่วงตกต่ำได้
- ที่มา: รอยเตอร์