ว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เคยกล่าวว่าจะไม่เป็นเผด็จการ “ยกเว้นวันแรก” แต่หากประเมินจากท่าทีและสิ่งที่เขาเคยประกาศเอาไว้ จะพบว่ามีหลายอย่างที่เขาอยากจะทำตั้งแต่วันแรกที่เหยียบทำเนียบขาว
ในครั้งที่ทรัมป์รับตำแหน่งวาระแรกเมื่อปี 2017 ก็ผลักดันนโยบายหลายเรื่อง เช่น เจรจาสัญญาการค้าใหม่ ส่งตัวผู้อพยพเข้าเมืองกลับประเทศ และออกมาตรการปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ แต่ทัั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน
แต่ในครั้งนี้ คำถามที่ว่าทรัมป์จะออกคำสั่งฝ่ายบริหารมากน้อยเพียงใดในสัปดาห์แรก แคโรลีน เลฟวิต เลขาธิการด้านสื่อของทรัมป์กล่าวกับสำนักข่าวฟอกซ์นิวส์เมื่อวันอาทิตย์ว่า “จะมีเป็นสิบ ๆ คำสั่ง”
และนี่คือแปดประเด็นที่ทรัมป์ประกาศว่าจะทำในวาระที่สอง และเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเดินหน้าในวันแรกที่ขึ้นรับตำแหน่ง
1. เป่าคดีความของตัวเอง
ทรมป์เคยกล่าวว่า “ภายในสองวินาที” ที่เข้ารับตำแหน่ง เขาจะปลดแจ๊ค สมิธ ที่อัยการพิเศษที่ฟ้องร้องทรัมป์ในคดีความระดับรัฐบาลกลางสองคดี ในข้อกล่าวหาเรื่องพยายามล้มล้างการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2020 ที่เขาแพ้ให้กับโจ ไบเดน และข้อหาเก็บเอกสารลับสุดยอดหลายชิ้นเอาไว้ที่บ้านพักส่วนตัวในรัฐฟลอริดา
เอพีรายงานว่าสมิธเริ่มประเมินแล้วว่าจะหาทางลงให้กับสองคดีความดังกล่าวอย่างไร เพราะกระทรวงยุติธรรมมีนโยบายว่าผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี จะไม่สามารถถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้
อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ไม่สามารถใช้อำนาจสั่งอภัยโทษตนเองในคดีระดับรัฐ ที่ถูกศาลนิวยอร์กตัดสินว่ามีความผิดในคดีเงินปิดปาก แต่เขาอาจจะใช้สถานะว่าที่ผู้นำคนใหม่ในการต่อรองให้ศาลเลื่อน ลด หรือล้างคำพิพากษาหรือโทษจำคุก
ส่วนคดีความทีคาดว่าจะยังดำเนินต่อไป หรืออย่างน้อยก็จะกลับมาพิจารณากันใหม่หลังทรัมป์ลงจากตำแหน่ง คือคดีแทรกแซงการเลือกตั้งในรัฐจอร์เจีย สืบเนื่องจากการที่อัยการที่สั่งฟ้องเขาได้รับการเลือกตั้งอีกสมัย
2. อภัยโทษผู้สนับสนุนที่บุกรุกอาคารรัฐสภา
มีผู้สนับสนุนทรัมป์มากกว่า 1,500 คนถูกดำเนินคดีจากการบุกรุกอาคารรัฐสภาเมื่อ 6 มกราคม 2021 และในแคมเปญหาเสียงครั้งนี้ ทรัมป์ผู้ที่กล่าวปราศรัยก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ก็พูดในการหาเสียงครั้งนี้ ว่าคนเหล่านี้คือ “ผู้รักชาติอย่างไม่น่าเชื่อ” และสัญญาว่าจะช่วยเหลือพวกเขาตั้งแต่รับตำแหน่งในวันแรก
ทรัมป์สามารถใช้อำนาจประธานาธิบดีเพื่ออภัยโทษผู้มีความผิดตามคำพิพากษาของศาลระดับรัฐบาลกลาง ศาลประจำกรุงวอชิงตัน (superior court) หรือศาลทหาร ไม่เพียงเท่านั้นยังสามารถสั่งให้รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมหยุดการดำเนินคดีต่อผู้ก่อจลาจลได้ด้วย
เมื่อเดือนมีนาคม ทรัมป์โพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์ของเขาว่า “ผมน่าจะอภัยโทษหลายคน” แต่ก็อธิบายว่าไม่ใช่ทุกคนจะได้รับสิทธิ์นั้น เพราะมีส่วนน้อยที่อาจจะควบคุมตัวเองไม่ได้
3. ปลดเจ้าหน้าที่รัฐที่อ้างว่าเป็น ‘รัฐซ้อนรัฐ’
ในเรื่องนี้ ทรัมป์มีวัตถุประสงค์ในการปลดเจ้าหน้าที่รัฐอยู่สองอย่าง ได้แก่การลดค่าใช้จ่ายการจ้างงานของภาครัฐ และ “ทำลายล้างรัฐซ้อนรัฐ” ซึ่งหมายถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่เขามองว่าเป็นศัตรู โดยเจาะจงไปที่ “ข้าราชการฉ้อฉลที่ใช้ระบบตุลาการเป็นอาวุธ” และ “คนฉ้อฉลในเครื่องมือด้านความมั่นคงแห่งชาติและงานข่าวกรองของเรา”
ทรัมป์ต้องการเปลี่ยนสถานะของตำแหน่งข้าราชการประจำ (career officials) ให้เป็นตำแหน่งทางการเมือง (political appointees) ซึ่งสามารถปลดและแทนที่ด้วยคนที่ภักดีกับเขาได้ง่ายขึ้น
ทรัมป์สามารถแก้โจทย์ดังกล่าวด้วยการรื้อฟื้นคำสั่งฝ่ายบริหารเมื่อปี 2020 ที่ชื่อว่า “Schedule F” ที่ถอนการคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐและนิยามสถานภาพพนักงานประเภทใหม่ขึ้นมา ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง พนักงานรัฐจำนวนราว 50,000 คน - 2.2 ล้านคนอาจได้รับผลกระทบ
ประธานาธิบดีไบเดนถอน Schedule F และถึงแม้สามารถออกกฎหมายปกป้องเจ้าหน้าที่รัฐขึ้นมาได้ แต่หน่วยงานบริหารจัดการบุคลากรของรัฐบาลกลางก็ออกกฎมาป้องกันการแก้นิยามสถานภาพพนักงานใหม่ หมายความว่าหากทรัมป์ต้องการจะแก้ไขเรื่องนี้ก็ต้องใช้เวลาหลายเดือนถึงหลายปี
4. ตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้า โดยเฉพาะจากจีน
ทรัมป์ใช้เวลาในการหาเสียงพูดถึงเรื่องดังกล่าวมาตลอด โดยให้เหตุผลว่าการทำเช่นนั้นจะช่วยตรึงภาคการผลิตให้อยู่ในสหรัฐฯ ลดการขาดดุล และทำให้ราคาอาหารถูกลง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นแกนกลางของวาระด้านความมั่นคงแห่งชาติในสายตาของเขา
ตัวเลขของมาตรการทางภาษีที่ประกาศมานั้นมีตั้งแต่การเพิ่มภาษีสินค้านำเข้าแบบยกแผง 10% เพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 60% รวมถึงภาษีนำเข้า 25% ต่อสินค้าทุกประเภทจากเม็กซิโก
ทรัมป์ไม่จำเป็นต้องอาศัยสภาคองเกรสเพื่อประกาศมาตรการเหล่านี้ เพราะเมื่อปี 2018 เขาก็เคยตั้งกำแพงภาษีนำเข้าเหล็กกล้าและอลูมิเนียมผ่านมาตรา 232 ของกฎหมายการขยายการค้า ปี 1962 ที่ให้อำนาจประธานาธิบดีปรับอัตราภาษีนำเข้าสินค้าที่อาจกระทบความมั่นคงของชาติ
5. ถอนการคุ้มครองนักเรียน นักศึกษาข้ามเพศ
ทรัมป์ผู้มีจุดยืนต่อต้านสิทธิคนข้ามเพศ เคยพูดในการหาเสียงว่าจะทำเรื่องนี้ในวันแรกที่รับตำแหน่ง ด้วยการยกเลิกกฎหมาย Title XI ที่รัฐบาลไบเดนออก ว่าด้วยการห้ามเลือกปฏิบัติต่อนักเรียน นักศึกษาข้ามเพศ
ในทางเครื่องไม้เครื่องมือ ทรัมป์สามารถทำตามที่สัญญาไว้ได้ด้วยอำนาจฝ่ายบริหาร แต่เอพีคาดการณ์ว่าแนวทางของทรัมป์น่าจะถูกโต้แย้งในทางกฎหมาย ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกันกับที่ไบเดนต้องเจอเมื่อจัดทำ Title XI
6. ขุดเจาะน้ำมันและแก๊ซธรรมชาติมากขึ้น
ทรัมป์ประกาศว่าจะเพิ่มอัตราการผลิตเชื้อเพลิงจากฟอสซิลของสหรัฐฯ ตั้งแต่รับตำแหน่งผู้นำวันแรก และเล็งที่จะเปิดพื้นที่ในอาร์กติกสำหรับการขุดเจาะน้ำมัน ซึ่งเขาอ้างว่าจะทำให้ราคาพลังงานมีราคาถูกลง
ทรัมป์สามารถใช้คำสั่งฝ่ายบริหารตั้งแต่วันแรกที่เข้าทำเนียบขาวเพื่อยกเลิกมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ระงับโครงการพลังงานลม ถอนคำสั่งในรัฐบาลไบเดน ที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่รถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงยกเลิกมาตรฐานที่เรียกร้องให้บรรษัทมีแนวทางทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
7. ยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน
ทรัมป์พูดบ่อยครั้งว่าสามารถยุติการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครนได้ภายในหนึ่งวัน
ในสายตาของทูตรัสเซียประจำองค์การสหประชาชาติ วาสซิลี เนเบนเซีย กล่าวว่า “วิกฤตยูเครนไม่สามารถแก้ไขได้ภายในวันเดียว”
แคโรลีน เลฟวิต เลขาธิการฝ่ายสื่อของทรัมป์กล่าวกับฟอกซ์นิวส์เมื่อวันพุธว่า การเป็นผู้นำสหรัฐฯ จะทำให้ทรัมป์สามารถ “เจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครน” และอธิบายเพิ่มเติมในเวลาต่อมาว่า “รวมถึงการนำยูเครนและรัสเซียมานั่งโต๊ะเจรจากันเพื่อหยุดสงครามนี้ภายในวันแรก(ของการดำรงตำแหน่ง)”
ทรัมป์ที่ไม่ได้ปกปิดท่าทีการยกย่องผู้นำรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน วิจารณ์รัฐบาลไบเดนที่สนับสนุนการเงินให้ยูเครนต่อสู้กับรัสเซียที่ผู้บุกรุกเข้ามายึดครองดินแดนบางส่วนเมื่อเกือบสามปีที่แล้ว
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2023 ทรัมป์กล่าวว่า ต้องการหยุดการล้มตายของชาวรัสเซียและยูเครน และจะทำเช่นนั้นได้หลังจากเขาพบกับประธานาธิบดีปูติน และประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน
8. ส่งผู้อพยพในสหรัฐฯ กลับประเทศแบบขนานใหญ่
มาตรการนี้เป็นหนึ่งในนโยบายที่ทรัมป์พูดบ่อยครั้งในการหาเสียง เช่นในเวทีที่มหานครนิวยอร์กในเดือนตุลาคม ที่บอกว่า “ในวันแรก ผมจะดำเนินโครงการส่งกลับประเทศที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกาเพื่อเอาพวกอาชญากรออกไป ผมจะช่วยทุกเืองที่ถูกบุกและยึดครอง และเราจะเอาพวกอาชญากรโหดร้ายและกระหายเลือดเข้าคุก และเตะมันออกนอกประเทศให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”
ทรัมป์สามารถสั่งให้รัฐบาลของเขาเริ่มงานเรื่องนี้ได้ตั้งแต่นาทีแรกที่เข้าทำงาน แต่ด้วยตัวเลขประชากรที่อยู่ในสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมายที่เชื่อกันว่ามีอยู่เกือบ 11 ล้านคน ทำให้มีความซับซ้อนในทางปฏิบัติ เพราะต้องใช้กำลังคนที่ได้รับการฝึกจำนวนมาก ต้องมีสถานกักกันขนาดใหญ่ รวมถึงเครื่องบินที่จะขนคนออก และประเทศปลายทางที่จะยินยอมรับคนเหล่านั้น
ว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 47 เคยกล่าวว่าจะใช้กฎหมายศัตรูต่างด้าวปี 1947 หรือ Alien Enemies Act เป็นกฎหมายที่ไม่ค่อยถูกใช้นัก ที่ให้อำนาจประธานาธิบดีนำคนที่ไม่ใช่สัญชาติอเมริกัน ที่มาจากประเทศที่ “ประกาศสงคราม” หรือเป็นภัยที่จะรุกรานสหรัฐฯ ออกนอกประเทศ
ทรัมป์เคยพูดถึงแนวคิดการใช้กองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิแห่งรัฐ หรือ National Guard ที่ผู้ว่าการรัฐสามารถออกคำสั่งได้ นอกจากนั้น สตีเฟน มิลเลอร์ ที่ปรึกษาของทรัมป์ กล่าวว่าผู้ว่าการรัฐที่เห็นด้วยกับพรรครีพับลิกัน สามารถส่งทหารไปรัฐใกล้เคียงที่ปฏิเสธจะให้ความร่วมมือได้ด้วย
เมื่อถูกถามถึงต้นทุนในการทำตามแผนการนี้ มิลเลอร์กล่าวกับสำนักข่าวเอ็นบีซีนิวส์ว่า “มันไม่ใช่คำถามเรื่องราคา ไม่ใช่เลย แท้จริงแล้วเราไม่มีทางเลือก เมื่อคนมาสังหารและก่อการฆาตกรรม เมื่อผู้ค้ายาเสพติดมาทำลายประเทศของเรา และตอนนี้พวกเขาต้องกลับไปที่ประเทศเขา เพราะพวกเขาจะไม่อยู่ที่นี่”
- ที่มา: เอพี
กระดานความเห็น