Your browser doesn’t support HTML5
การประชุมสุดยอดครั้งที่สองระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ กับผู้นำเกาหลีเหนือ คิม จอง อึน ที่กรุงฮานอย เวียดนาม จบลงเร็วกกว่ากำหนดการเดิมที่วางไว้ หลังจากที่ผู้นำทั้งสองไม่สามารถบรรลุข้อตกลงใดๆ กันได้
ประธานาธิบดีทรัมป์ ระบุว่า "ได้เตรียมเดินออกจากการประชุมอยู่แล้ว หากไม่สามารถตกลงกันได้" และว่า ผู้นำคิมต้องการให้ยกเลิกมาตรการลงโทษทั้งหมดที่มีต่อเกาหลีเหนือ แลกกับการยุติโครงการนิวเคลียร์ส่วนหญ่ตามที่สหรัฐฯ ต้องการ ซึ่งสหรัฐฯ ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้
ประธานาธิบดีทรัมป์ กล่าวว่า ได้มีการหารือเรื่องการรื้อถอนโรงงานเตาปฏิกรณ์ปรมาณูยองเบียน แต่ประเด็นที่ซับซ้อนกว่านั้นคือสถานที่เสริมคุณภาพแร่ยูเรเนียมอีกแห่งหนึ่งของเกาหลีเหนือ
WATCH: Trump on why deal wasn't signed
Your browser doesn’t support HTML5
อย่างไรก็ตาม ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวว่า การประชุมฮานอยซัมมิตครั้งนี้ถือว่ามีประสิทธิผล และตนเชื่อว่าในที่สุดแล้วทั้งสองประเทศจะสามารถบรรลุข้อตกลงเรื่องการยุติโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือได้
ด้านรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอ ซึ่งร่วมแถลงข่าวกับ ปธน.ทรัมป์ ภายหลังการประชุมกับผู้นำคิม กล่าวว่า ตนหวังว่าการเจรจาระหว่างสองประเทศจะมีขึ้นอีกครั้งเร็วๆ นี้ และว่า มีประเด็นเกี่ยวกับเงื่อนเวลาและความต่อเนื่อง ที่ทำให้ผู้นำทั้งสองไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้
ประธานาธิบดีทรัมป์ ยังได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวด้วยว่า ตนไม่สามารถรับปากได้ว่าจะมีการประชุมครั้งที่สามเกิดขึ้นหรือไม่ และสหรัฐฯ จะยังไม่เพิ่มมาตรการลงโทษใดๆ ต่อเกาหลีเหนือ จากการที่ไม่มีความคืบหน้าเรื่องการยุติโครงการนิวเคลียร์เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากมาตรการที่ใช้อยู่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อประชาชนที่ยากจนของเกาหลีเหนืออยู่แล้ว
ผู้นำสหรัฐฯ ระบุด้วยว่า ตนจะโทรศัพท์ปรึกษากับประธานาธิบดีเกาหลีใต้ มูน แจ-อิน และนายกฯ ญี่ปุ่น ชินโซ่ อาเบะ เกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย
ด้านทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้ มีแถลงการณ์ออกมาในวันพฤหัสบดีว่า "น่าเสียดายที่ไม่มีข้อตกลงใดๆ เกิดขึ้นในการประชุมระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์และผู้นำคิม แต่ก็ถือว่ามีความคืบหน้าที่สำคัญบางอย่างในครั้งนี้"
ขณะที่นักวิเคราะห์ชาวญี่ปุ่น อากิระ คาวาซากิ แห่งโครงการเพื่อการยับยั้งอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างประเทศ (International Campaign to Abolish Nuclear Weapons) เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี 2017 กล่าวว่า "ไม่น่าแปลกใจที่การเจรจาครั้งนี้จะล้มเหลว เนื่องจากที่ผ่านมา ปธน.ทรัมป์ ให้ความสำคัญกับการยกเลิกสนธิสัญญาควบคุมอาวุธนิวเคลียร์มากกว่าจะผลักดันให้มีการยุติโครงการนิวเคลียร์"
และว่า "ถึงเวลาที่จำเป็นต้องมีแนวทางเพื่อจัดทำสนธิสัญญาควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ในระดับทั่วโลกอย่างแท้จริง"
ที่ผ่านมา แม้เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ จะพยายามลดความความหวังของสาธารณชนถึงสิ่งที่จะได้จากการประชุมที่กรุงฮานอยครั้งนี้ แต่ดูเหมือน ปธน.ทรัมป์ ได้ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันให้ทำข้อตกลงอะไรสักอย่าง ที่ไม่ใช่แค่คำสัญญาอย่างเลื่อนลอยจากผู้นำเกาหลีเหนือว่าจะปลดอาวุธนิวเคลียร์ เหมือนการประชุมที่สิงคโปร์เมื่อปีที่แล้ว
ด้านคุณเจมส์ แอ็คตัน แห่งสถาบัน Carnegie Endowment for International Peace ให้ความเห็นว่า ก่อนหน้านี้เกาหลีเหนือเชื่อว่าสหรัฐฯ ต้องการอย่างยิ่งที่จะทำข้อตกลงให้ได้ในการประชุมครั้งนี้ และจะยอมยกเลิกมาตรการลงโทษทั้งหมดให้ ซึ่งสิ่งที่เปียงยางอาจคิดไม่ถึงก็คือ ความคิดของ ปธน.ทรัมป์ ที่ไม่อาจคาดเดาได้ว่าตอนไหนที่จะสู้ หรือตอนไหนที่จะล้มกระดาน
อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าเล็กๆ จากการประชุมสุดยอด "ทรัมป์-คิม" ที่กรุงฮานอยครั้งนี้ คือการที่ผู้นำทั้งสองคนแสดงท่าทีสนับสนุนให้มีการเปิดสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงเปียงยาง หลังจากที่ทั้งสองประเทศไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันมาก่อน
นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า ปธน.ทรัมป์ และผู้นำคิม อาจได้ตกลงที่จะหารือกันในเรื่องการจัดทำสนธิสัญญาสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลีด้วย เนื่องจากในความเป็นจริง เกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ยังถือว่าอยู่ในภาวะสงคราม แม้สงครามเกาหลีได้สิ้นสุดลงไปตั้งแต่ปี ค.ศ.1953 แล้วก็ตาม