ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันอังคารว่า จะมีเรื่องราวต่างๆ ที่น่าสนใจมากมายเกิดขึ้นจากการประชุมสุดยอดครั้งที่สองระหว่างตนกับผู้นำเกาหลีเหนือในเวียดนาม ปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้
และว่าถึงแม้เป้าหมายท้ายสุดของวอชิงตันคือการลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือก็ตาม แต่ตนก็ไม่ได้เร่งรัดกดดันเรื่องเวลาตราบเท่าที่เกาหลีเหนือไม่ทดลองจรวดขีปนาวุธหรืออาวุธนิวเคลียร์นิวเคลียร์เพิ่มเติม
แต่ผู้สันทัดกรณีเรื่องเกาหลีเหนือบางคน เช่น นาย Thae Yong Ho อดีตอัครราชทูตเกาหลีเหนือประจำอังกฤษ กลับมองว่า เป้าหมายระยะยาวของรัฐบาลกรุงเปียงยางนั้นคือการผลักดันให้สหรัฐฯ และกองกำลังสหประชาชาติถอนตัวออกจากคาบสมุทรเกาหลี
โดยอดีตนักการทูตเกาหลีเหนือผู้แปรพักตร์อธิบายว่า นายคิม จอง อึน ได้เสนอให้ขยายเขตปลอดทหารเพื่อลดการกระทบกระทั่งระหว่างสองเกาหลี ซึ่งในที่สุดแล้วเขตปลอดทหารดังกล่าวจะขยายออกไปจนครอบคลุมคาบสมุทรเกาหลีทั้งหมด
และหากประธานาธิบดีทรัมป์ยอมประกาศเรื่องการยุติสงครามเกาหลีระหว่างการประชุมที่กรุงฮานอยครั้งนี้ เกาหลีเหนือก็จะใช้เรื่องดังกล่าวเป็นข้ออ้างว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีกองกำลังของสหประชาชาติอยู่บนคาบสมุทรเกาหลีอีกต่อไป
ส่วนนาย Bruce Bennett นักวิจัยอาวุโสด้านกลาโหมของ Rand Corporation ก็ชี้ว่า เป้าหมายระยะยาวของนายคิม จอง อึน คือการผลักดันให้สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากคาบสมุทรเกาหลี
และว่า ไม่ว่าการวิเคราะห์ของหน่วยงานข่าวกรองหรือการมองของผู้เชี่ยวชาญจะเป็นอย่างไรก็ตาม เป้าหมายหลักของนายคิม จอง อึน นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่โลกตะวันตกคาดว่าเกาหลีเหนือจะสามารถบรรลุได้ เพราะนายคิม จอง อึนต้องการสร้างและกระชับความสนับสนุนทางการเมืองจากภายในประเทศของตนเป็นหลัก
และในส่วนที่เกี่ยวกับคำกล่าวอ้างของประธานาธิบดีทรัมป์ว่าการปรับความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดสงครามได้นั้น นาย Thae Yong Ho อดีตนักการทูตเกาหลีเหนือเชื่อว่า สหรัฐฯ ตกเป็นเหยื่อกลลวงของเกาหลีเหนือในเรื่องนี้ เพราะนายคิม จอง อึน ประสบความสำเร็จในการเบี่ยงเบนความสนใจจากเรื่องโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของตนมาเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ แทน
ส่วนนักวิเคราะห์อีกคนหนึ่งคือนาย Robert Manning จาก Atlantic Council ก็เชื่อว่า จากคำประกาศหลังการประชุมสุดยอดครั้งแรกในสิงคโปร์ ที่ว่าทั้งสองฝ่ายจะทำงานร่วมกันเพื่อให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดอาวุธนิวเคลียร์อย่างสมบูรณ์นั้น เรื่องดังกล่าวจะเป็นแรงกดดันให้มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม มิฉะนั้นแล้วการประชุมครั้งที่สองที่เวียดนามก็จะนับว่าล้มเหลวได้
และท้ายที่สุด นาย James McKeon นักวิเคราะห์อีกคนหนึ่งจากศูนย์ควบคุมการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ เตือนว่า ผู้นำของประเทศทั้งสองจะไม่สามารถแก้ปัญหาทุกอย่างได้ด้วยตนเอง และสิ่งที่ควรเกิดขึ้นคือการมอบรายละเอียดที่สลับซับซ้อนต่างๆ ให้เป็นงานของเจ้าหน้าที่ระดับผู้เชี่ยวชาญ
โดยสิ่งที่อาจจะเป็นความหวังได้ก็คือ เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ แถลงว่าได้มีการประชุมหารือเพื่อเตรียมงานโดยเจ้าหน้าที่ระดับผู้ปฏิบัติงานของสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือ สำหรับการประชุมสุดยอดครั้งที่สองที่เวียดนามนี้มากกว่าจากการประชุมครั้งแรกในสิงคโปร์