'ทรัมป์' โน้มน้าว 'คิม' สละอาวุธนิวเคลียร์แลกความมั่งคั่งรุ่งเรือง

US President Donald Trump (L) shakes hands with North Korea's leader Kim Jong Un following a meeting at the Sofitel Legend Metropole hotel in Hanoi on February 27, 2019.

เมื่อวันพุธ ประธานาธิบดีทรัมป์ทวีตข้อความว่า “เวียดนามกำลังเจริญรุ่งเรือง และเกาหลีเหนือก็อาจอยู่ในฐานะเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว หากยอมเลิกอาวุธนิวเคลียร์ เกาหลีเหนือมีศักยภาพและโอกาสอันยิ่งใหญ่ไม่เหมือนประเทศอื่นใด และสำหรับเพื่อนของผม คือ คิม จอง อึน เราจะทราบเรื่องนี้ไม่ช้า - น่าสนใจมากทีเดียว”

การทวีตของผู้นำสหรัฐฯ ดูจะมุ่งสร้างแรงกระตุ้นจูงใจแก่เกาหลีเหนือที่จะปลดอาวุธนิวเคลียร์เพื่อแลกกับโอกาสการพัฒนาเศรษฐกิจและความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ

คำกล่าวจูงใจของผู้นำสหรัฐฯ เรื่องนี้ พอจะมีพื้นฐานข้อมูลจากความเป็นจริง เพราะคุณ William Brown อดีตนักวิเคราะห์ของซีไอเอ และขณะนี้เป็นนักวิเคราะห์เศรษฐกิจเกาหลีเหนือ กล่าวว่า เกาหลีเหนือสามารถพัฒนาเติบโตเป็นประเทศที่ประสบความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจได้ไม่ยาก เนื่องจากเกาหลีเหนือมีปัจจัยพื้นฐานต่างๆ พร้อมอยู่แล้ว นับตั้งแต่ทรัพยากรมนุษย์ที่เข้มแข็ง ซึ่งมีความสามารถทั้งทางด้านภาษาและคณิตศาสตร์ รวมทั้งยังมีต้นทุนด้านค่าแรงต่ำ มีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ เช่น สินแร่หายาก ถ่านหิน แร่เหล็ก และพลังน้ำ

รวมทั้งยังมีที่ตั้งอยู่ระหว่างสี่ประเทศซึ่งมีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และช่วยสร้างความได้เปรียบเรื่องการค้าได้ด้วย

U.S. President Donald Trump and North Korean leader Kim Jong Un

อย่างไรก็ตาม อดีตนักวิเคราะห์ของซีไอเอผู้นี้ก็ชี้ว่า การเปิดประเทศเพื่อรับเงินทุนจากต่างชาติและกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศนั้น มักต้องแลกมาด้วยการยอมสละการควบคุมอำนาจ ซึ่งในแง่นี้การมีอำนาจควบคุมดูจะเป็นเรื่องสำคัญที่สุดสำหรับนายคิม จอง อึน ในขณะนี้

ขณะที่นายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือเดินทางถึงกรุงฮานอยนั้นหนังสือพิมพ์ Rodong ของพรรครัฐบาลเกาหลีเหนือได้ตีพิมพ์บทความที่ประกาศว่า เกาหลีเหนือจะยังคงยืนหยัดบนเส้นทางที่ผู้นำตระกูลคิมได้วางรากฐานให้กับประเทศไว้เป็นเวลาสามชั่วคน และว่าเป้าประสงค์ของการปฏิวัติเพื่อการพึ่งพาตนเอง และเพื่อบรรลุเจตนารมณ์ของสังคมนิยมนั้นจะได้รับชัยชนะโดยไม่เปลี่ยนแปลง

SEE ALSO: วิเคราะห์รูปการณ์จากการประชุมสุดยอด 'ทรัมป์-คิม' ครั้งที่สอง ที่กรุงฮานอย 

นาย Benjamin Katzeff Silberstein นักวิเคราะห์ที่ศูนย์ Henry L. Stimson และบรรณาธิการของวารสารเศรษฐกิจเกี่ยวกับเกาหลีเหนือ ตั้งข้อสังเกตว่า คำกล่าวในเชิงจูงใจของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ว่าเกาหลีเหนือจะสามารถก้าวขึ้นมาเป็น 'เสือเศรษฐกิจ' รายต่อไปนั้น ดูจะทึกทักว่า หากรัฐบาลกรุงเปียงยางยอมกำจัดอาวุธนิวเคลียร์แล้วเกาหลีเหนือก็พร้อมจะเปิดประเทศและสังคม เพื่อต้อนรับใครก็ตามให้เข้าไปลงทุนในประเทศได้อย่างเสรี

เขาเชื่อว่า ระบอบการปกครองในเกาหลีเหนือยังต้องการรักษาการควบคุมทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่ต่อไป และคงไม่เปิดให้นักธุรกิจต่างชาติเข้าไปลงทุนในทุกส่วนของประเทศอย่างง่ายๆ แต่อาจมุ่งเน้นการส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษในบางพื้นที่ซึ่งมีโอกาสควบคุมได้มากกว่าแทน

ในขณะนี้วัตถุประสงค์สำคัญของนายคิม จอง อึน ดูจะอยู่ที่การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ การพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และการสร้างระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อช่วยการควบคุมโดยภาครัฐ ในขณะที่เกาหลีเหนือค่อยๆ ขยายระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีออกไป

A girl plays with American, North Korean, and Vietnamese flags in a tourist area near Sword Lake in Hanoi, Vietnam, Feb. 27, 2019.

ผู้สันทัดกรณีด้านเกาหลีเหนือเตือนด้วยว่า การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้ช่วยให้นายคิม จอง อึน มาถึงจุดที่ตนต้องการได้ คือได้พบเจรจาระดับผู้นำกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ดังนั้นจึงอาจดูเป็นเรื่องโง่เขลาที่ผู้นำเกาหลีเหนือจะยอมโยนหมากสำคัญตัวนี้ทิ้งไป โดยไม่ได้รับรางวัลหรือข้อแลกเปลี่ยนใดๆ อย่างสำคัญ

และที่สำคัญอีกอย่างก็คือเรื่องราวความสำเร็จของเวียดนาม ซึ่งผู้นำสหรัฐฯ นำมาใช้เป็นกรณีตัวอย่างนั้น เป็นผลจากการรวมประเทศเวียดนาม ซึ่งสำหรับเกาหลีเหนือเอง ขณะนี้เกาหลีใต้ยังเปรียบเสมือนคู่แข่งสำคัญที่มีทั้งความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ มีเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย

ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องที่นายคิม จอง อึน ต้องนำมาพิจารณาทั้งสิ้น