เจ้าหน้าที่การทูตของสหรัฐฯ สองคน ขึ้นให้การต่อคณะกรรมการของรัฐสภาสหรัฐฯ ในวันพุธ ระหว่างกระบวนการสืบสวนเพื่อถอดถอนประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ โดยทั้งสองคนกล่าวตรงกันว่า ประธานาธิบดีทรัมป์พยายามสร้าง "ช่องทางที่ไม่ปกติ" เพื่อทำข้อตกลงกับรัฐบาลยูเครนเพื่อให้ช่วยสืบสวนคู่แข่งทางการเมือง
นายวิลเลียม เทย์เลอร์ เอกอัคราชทูตสหรัฐฯ ประจำยูเครน และนายจอร์จ เคนท์ รองผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการยุโรปและยูเรเชีย กล่าวว่า นายรูดี จูลิอานี อดีตนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก คือผู้ทำหน้าที่แทน ปธน.ทรัมป์ ในการติดต่อกับรัฐบาลต่างชาตินอกเหนือจากกิจการของกระทรวงการต่างประเทศ และเป็นผู้สานสัมพันธ์ระหว่างกรุงวอชิงตันกับกรุงเคียฟให้กับทรัมป์
นักการทูตทั้งสองคนกล่าวว่า นายจูลิอานีได้พยายามกดดันให้ยูเครนเริ่มการสืบสวนอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเด้น และบุตรชาย ฮันเตอร์ ไบเด้น ที่เคยทำงานกับบริษัทแก๊สธรรมชาติในยูเครน ซึ่งเวลานี้นายโจ ไบเด้น คือผู้สมัครเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กำลังมีคะแนนนำ
นอกจากนี้ นายจูลิอานีได้พยายามผลักดันให้มีการสืบสวนเรื่องที่ว่ายูเครนเป็นฝ่ายแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2016 ไม่ใช่รัสเซีย
ทูตเทย์เลอร์ กล่าวต่อคณะกรรมาธิการสหรัฐฯ ว่า เจ้าหน้าที่ของตนได้ยินเสียงประธานาธิบดีทรัมป์พูดคุยทางโทรศัพท์กับทูตสหรัฐฯ ประจำสหภาพยุโรป กอร์ดอน ซอนด์แลนด์ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม เรื่องที่ผู้นำสหรัฐฯ ขอให้ยูเครนช่วยในการสืบสวนว่านายไบเด้นได้พยายามใช้ตำแหน่งทางการเมืองในสมัยนั้น ช่วยให้ไม่มีการสืบสวนการกระทำผิดของบุตรชายของเขาหรือไม่
โดยก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน ปธน.ทรัมป์ ได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดียูเครน โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี้ เพื่อกดดันในเรื่องเดียวกันนี้
การสืบสวนกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ยังเชื่อมโยงไปถึงเรื่องที่ ปธน.ทรัมป์ ระงับการให้เงินช่วยเหลือทางทหารมูลค่า 391 ล้านดอลลาร์แก่ยูเครน สำหรับการต่อสู้กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนทางภาคตะวันออกที่ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซียด้วย
โดยทูตเทย์เลอร์ กล่าวว่า มีชาวยูเครนจำนวนมากต้องล้มตายเพราะไม่ได้รับการช่วยเหลือจากสหรัฐฯ และว่าท่าทีของ ปธน.ทรัมป์ แสดงให้เห็นชัดเจนว่าให้ความสำคัญกับการสืบสวนนายไบเด้น มากกว่าความชวยเหลือทางทหารแก่ยูเครน
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ สมาชิกพรรครีพับลิกันพยายามออกมาแก้ต่างว่า ประธานาธิบดีทรัมป์กลับมาให้ความช่วยเหลือทางทหารต่อยูเครนในวันที่ 11 กันยายน โดยที่ยูเครนไม่ได้เปิดการสอบสวนครอบครัวไบเด้นเเต่อย่างใด
ด้านคณะกรรมการด้านข่าวกรองของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จะรับฟังคำให้การของผู้เกี่ยวข้องในกรณีนี้ในสัปดาห์หน้า โดยมีทูตสหรัฐฯ ประจำสหภาพยุโรป กอร์ดอน ซอนด์แลนด์ ขึ้นตอบคำถามด้วย
ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ได้แสดงความไม่พอใจเกี่ยวกับกฎเกณฑ์สำหรับการไต่สวนพยานในการถอดถอนครั้งนี้ โดยอ้างว่าตนไม่ได้รับอนุญาตให้ส่งนักกฎหมายหรือพยานของทำเนียบขาวเข้าร่วมในกระบวนการ และเรื่องนี้ถือเป็นการขัดต่อกระบวนการที่เป็นธรรม
อย่างไรก็ตาม หากสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ มีมติให้ตั้งข้อหาเพื่อถอดถอนและข้อหาดังกล่าวถูกส่งเข้าสู่การพิจารณาในวุฒิสภาแล้ว ประธานาธิบดีทรัมป์ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาจะมีสิทธิแต่งตั้งทนายเพื่อเป็นตัวแทนของตนในกระบวนการที่ว่านี้ได้
ในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกันนั้น ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สี่ที่มีการไต่สวนแบบเปิดเผยต่อสาธารณชนเพื่อการถอดถอนประธานาธิบดี