Your browser doesn’t support HTML5
ในวันจันทร์ซึ่งเป็นวันทหารผ่านศึกในสหรัฐฯ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทวีตข้อความซึ่งไม่มีการแสดงหลักฐานสนับสนุน กล่าวหา ส.ส. อาดัม ชีฟ ประธานคณะกรรมาธิการข่าวกรองของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ผู้ได้รับมอบหมายจาก ส.ส. แนนซี พีโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้รับผิดชอบการสอบหาข้อมูลในกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดี
ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวว่า ส.ส. อาดัม ชีฟ ผู้นี้แก้ไขเปลี่ยนแปลงบันทึกการแถลงให้ปากคำของเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ รวมแปดคน ที่ไปให้ข้อมูลและตอบข้อซักถามของคณะกรรมาธิการซึ่งไต่สวนเรื่องนี้เป็นการเฉพาะอย่างปกปิดก่อนหน้านี้
โดยตามบันทึกการแถลงดังกล่าว มีนักการทูตและเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของรัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งที่อยู่ในตำแหน่งปัจจุบันและในอดีต ไปให้ข้อมูลต่อสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ว่าในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์รวมทั้งคนสนิทผู้ใกล้ชิดได้พยายามกดดันยูเครนให้สืบสวนเพื่อหาเบาะแสหรือข้อมูลในทางลบเกี่ยวกับอดีตรองประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดน ของสหรัฐฯ กับบุตรชาย ผู้เคยทำธุรกิจอยู่ในยูเครนเพื่อแลกกับการให้ความช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีการร้องเรียนเรื่องนี้จาก whistleblower หรือผู้แจ้งเบาะแสการกระทำที่มิชอบซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ แล้วนั้น ทางสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ได้เริ่มกระบวนการสอบหาข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ยอมส่งความช่วยเหลือทางทหารให้กับยูเครนในเดือนกันยายนโดยที่ยูเครนไม่ได้เปิดการสืบสวนหาเบาะแสตามที่ผู้นำสหรัฐร้องขอแต่อย่างใด
แต่พรรคเดโมแครตพิจารณาว่า ความพยายามกดดันของประธานาธิบดีทรัมป์ต่อยูเครนเพื่อใช้โยบายต่างประเทศแลกเปลี่ยนกับประโยชน์ทางการเมืองที่ตนอาจได้รับ ถือเป็นการใช้อำนาจในทางมิชอบ และอาจเป็นความผิดที่อยู่ในข่ายถูกถอดถอนจากตำแหน่งได้
ถึงกระนั้น ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ได้ทวีตเรียกร้องหลายครั้งว่ากระบวนการไต่สวนข้อมูลเพื่อถอดถอนดังกล่าวนี้ควรจะยุติลง ควรมีการเปิดเผยตัวผู้แจ้งเบาะแส และผู้แจ้งเบาะแสรวมทั้งทนายความกับ ส.ส. อาดัม ชีฟ ประธานคณะกรรมาธิการข่าวกรองซึ่งเป็นแรงผลักดันสำคัญเรื่องนี้ควรจะถูกตรวจสอบในข้อหามีความประพฤติฉ้อฉลด้วย
แต่ตามกฏหมายเรื่อง whistleblower ของรัฐบาลสหรัฐฯ นั้น ผู้แจ้งเบาะแสการกระทำผิดหรือความประพฤติมิชอบใด ๆ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะต้องได้รับความคุ้มครองไม่ให้ถูกเปิดเผยตัวตน ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันเรื่องความปลอดภัย
และเมื่อวันอาทิตย์กับวันจันทร์ ประธานาธิบดีทรัมป์ได้แสดงความไม่พอใจเกี่ยวกับกฎเกณฑ์สำหรับการไต่สวนพยานในการถอดถอนครั้งนี้ โดยอ้างว่าตนไม่ได้รับอนุญาตให้ส่งนักกฎหมายหรือพยานของทำเนียบขาวเข้าร่วมในกระบวนการ และเรื่องนี้ถือเป็นการขัดต่อกระบวนการที่เป็นธรรม
อย่างไรก็ตาม สำหรับกฎเกณฑ์เรื่องการถอดถอนนั้น หากสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ มีมติให้ตั้งข้อหาเพื่อถอดถอนและข้อหาดังกล่าวถูกส่งเข้าสู่การพิจารณาในวุฒิสภาแล้ว ประธานาธิบดีทรัมป์ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาจะมีสิทธิแต่งตั้งทนายเพื่อเป็นตัวแทนของตนในกระบวนการที่ว่านี้ได้
ในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกันนั้น ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สี่ที่มีการไต่สวนแบบเปิดเผยต่อสาธารณชนเพื่อการถอดถอนประธานาธิบดี โดยในสามครั้งที่ผ่านมา อดีตประธานาธิบดีแอนดรูว์ จอห์นสัน ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 และอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน ถูกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ หรือสภาล่าง ซึ่งทำหน้าที่คล้ายอัยการตั้งข้อหาเพื่อถอดถอน แต่วุฒิสภาซึ่งทำหน้าที่คล้ายศาล ลงมติไม่เห็นด้วยกับข้อกล่าวหา
ส่วนผู้นำสหรัฐฯ อีกคนหนึ่งซึ่งถูกกระบวนการไต่สวนเพื่อถอดถอนเช่นกัน คืออดีตประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ซึ่งได้ชิงลาออกจากตำแหน่งก่อนที่กระบวนการดังกล่าวจะเสร็จสมบูรณ์