นักประวัติศาสตร์อเมริกันชี้ประชาธิปไตยจะตกอยู่ในอันตรายหากกลุ่มสุดโต่งมีบทบาทครอบงำ

FILE - A mob of supporters of U.S. President Donald Trump fight with members of law enforcement at a door they broke open as they storm the U.S. Capitol Building in Washington, Jan. 6, 2021.

Your browser doesn’t support HTML5

Trump Impeachment

วุฒิสภาสหรัฐฯ จะเริ่มกระบวนการไต่สวนญัตติขอถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ ในวันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์นี้ โดยโดนัลด์ ทรัมป์ จะเป็นผู้นำอำนาจฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ คนแรกที่ถูกตั้งข้อหาเพื่อขอถอดถอนถึงสองครั้ง รวมทั้งเป็นคนแรกด้วยที่ถูกยื่นญัตติขอถอดถอนหลังจากที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว

หากวุฒิสภาสหรัฐฯ ตัดสินว่าเขามีความผิดก็จะเป็นผลให้โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีก

แต่นักประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกันเห็นว่า การพิจารณาเพื่อทบทวนสำรวจตัวเองและยอมรับความจริงในระดับชาติอย่างจริงจังเกี่ยวกับประเด็นที่ทำให้เกิดปัญหานี้ สำคัญมากกว่ากระบวนการกล่าวโทษเพื่อถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ในข้อหายุยงส่งเสริมให้เกิดความไม่สงบเพื่อโค่นล้มรัฐบาล

SEE ALSO: ประเด็นน่ารู้เกี่ยวกับการ “ขอถอดถอน” ทรัมป์รอบสอง

โดยเมื่อวันที่ 13 มกราคม สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ลงมติตั้งข้อหาเพื่อถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์อันเนื่องมาจากคำปราศรัยที่เร่าร้อนเมื่อวันที่ 6 มกราคม ต่อกลุ่มผู้สนับสนุนก่อนที่จะมีการบุกเข้าจู่โจมอาคารรัฐสภาในช่วงบ่ายวันเดียวกัน เพื่อขัดขวางการประชุมร่วมของรัฐสภาไม่ให้ลงมติรับรองชัยชนะจากการเลือกตั้งของโจ ไบเดน

และในบรรดากลุ่มผู้ก่อจลาจลที่สนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ อยู่นี้ ก็มีสมาชิกของกลุ่มขวาจัดซึ่งเกี่ยวข้องกับกลุ่มที่เชิดชูความเป็นเลิศของคนผิวขาวรวมอยู่ด้วย

แต่ถึงแม้อาจารย์ซูซาน โลว บล็อค ผู้สอนวิชากฏหมายรัฐธรรมนูญที่มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ จะเชื่อว่าหากวุฒิสภาลงมติถอดถอนทรัมป์จริง เรื่องนี้จะเป็นสัญญาณเตือนถึงผู้นำทางการเมืองคนอื่น ๆ ในอนาคตว่าไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับความพยายามก่อความไม่สงบเพื่อต่อต้านรัฐบาลนั้น นักกฎหมายผู้นี้ก็ไม่คิดว่าวุฒิสภาจะมีมติในทางนี้เพราะการถอดถอนประธานาธิบดีหรือการตัดสิทธิทางการเมืองไม่ให้ผู้ใดสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีกนั้น จะต้องใช้เสียงข้างมากสองในสามหรือ 67 เสียง

แต่เท่าที่เป็นอยู่ขณะนี้มีวุฒิสมาชิกของพรรครีพับลิกัน 45 คนที่ได้ออกเสียงไม่เห็นด้วยกับการเริ่มกระบวนการไต่สวน นอกจากนั้นเรื่องที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ นายเจมส์ กลอสแมน ผู้อำนวยการบริหารของสมาคมประวัติศาสตร์อเมริกัน ได้ชี้ว่า ถ้าย้อนกลับไปดูถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 มกราคม หลังจากที่เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมสถานการณ์จากเหตุจลาจลที่อาคารรัฐสภาจนการประชุมสามารถกลับมาเริ่มได้อีกครั้งนั้น มีส.ส.ของพรรครีพับลิกัน 139 คนกับวุฒิสมาชิกของพรรคอีก 8 คนร่วมลงมติไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งและชัยชนะของโจ ไบเดน ถึงแม้ว่านายวิลเลียม บาร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของโดนัลด์ ทรัมป์ จะยืนยันว่าไม่มีหลักฐานใดที่แสดงว่ามีการโกงเลือกตั้งเกิดขึ้นก็ตาม

House impeachment managers walk the article of impeachment against former President Donald Trump through the Rotunda of the US Capitol in Washington, Jan. 25, 2021.

คุณเจมส์ กลอสแมน เตือนด้วยว่า บทเรียนในช่วงหลังสงครามกลางเมืองของสหรัฐฯ ซึ่งได้มีความพยายามสร้างสมานฉันท์โดยการให้อภัยโทษแก่ผู้นำของรัฐฝ่ายใต้ที่พยายามแยกตัวออกเป็นอิสระ และต่อมาได้ทำให้มีการออกกฏหมายเกี่ยวกับการแบ่งแยกเลือกปฏิบัติด้านเชื้อชาติในสหรัฐฯ นั้น ควรเป็นเครื่องเตือนใจถึงความผิดพลาดหากจะพยายามสมานบาดแผลในชาติโดยปราศจากความเข้าใจอย่างถ่องแท้และการยอมรับว่าอะไรทำให้เกิดปัญหาความแตกแยกในสังคมขึ้นมา

และว่าประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าประเทศชาติจะได้รับผลเสียหายอย่างหนัก หากกลุ่มคลั่งชาติเหยียดผิวรู้สึกฮึกเหิมหรือได้รับการผ่อนปรน แทนที่จะถูกตำหนิและประนาม

ส่วนคุณทิโมธี นาฟตาลี อดีตผู้อำนวยการห้องสมุดของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ก็ชี้ว่า เส้นทางสู่การรักษาบาดแผลนั้นจะต้องเดินผ่านการยอมรับความจริงและการวางรากฐานต่าง ๆ เพื่อต่อสู้กับภัยของการก่อการร้ายภายในประเทศจากกลุ่มผู้เชิดชูความเหนือกว่าของคนผิวขาวด้วย

และว่าประเด็นปัญหาของสังคมอเมริกันในขณะนี้ใหญ่กว่าเรื่องของโดนัลด์ ทรัมป์ แต่เป็นเรื่องที่ว่าทำอย่างไรสังคมอเมริกันจึงจะสามารถทำให้ผู้ที่เลื่อมใสในตัวโดนัลด์ ทรัมป์ตระหนักว่า พวกตนได้เดินตามศาสดาอย่างผิด ๆ และหลงเชื่อในชุดความคิดซึ่งไร้สาระและเป็นพิษ

SEE ALSO: ยกระดับการรักษาความมั่นคงอีกครั้งในกรุงวอชิงตัน

คุณทิโมธี นาฟตาลี กล่าวด้วยว่า เนื่องจากกลุ่มผู้สนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างเหนียวแน่นคงจะไม่เชื่อในสิ่งที่พรรคเดโมแครตพูดหรือทำ ดังนั้นภาระและปัญหาท้าทายหนักจึงตกเป็นของพรรครีพับลิกันที่จะต้องยอมรับว่า เหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 มกราคมเป็นภัยคุกคามต่อระบบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ และจะต้องสามารถอธิบายให้เป็นที่ยอมรับได้ว่าการเห็นต่างแบบที่ใช้ความรุนแรงนั้นผิดกฎหมาย และไม่อาจยอมรับได้

เพราะประชาธิปไตยย่อมจะถูกคุกคาม เมื่อใดก็ตามที่กลุ่มซึ่งมีแนวคิดแบบสุดโต่งสามารถก้าวขึ้นมามีบทบาทและมีอิทธิพลครอบงำ