Your browser doesn’t support HTML5
นายโจ อาร์เพโอ หรือ นายอำเภอโจ เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนนโยบายปราบปรามคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย เขาถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดฐานหมิ่นอำนาจศาล หลังจากไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งศาลรัฐแอริโซน่าเมื่อปี ค.ศ. 2011 ที่ให้ยุติการลาดตระเวนตรวจตราที่มีเป้าหมายตามล่าหรือระบุตัวคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย
เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว ปธน. ทรัมป์ มีคำสั่งอภัยโทษให้กับนายอาร์เพโอ ที่บรรดาผู้สนับสนุน ปธน.ทรัมป์ ต่างเรียกว่า “นายอำเภอที่แข็งแกร่งที่สุดในอเมริกา”
ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ พอล ไรอัน จากพรรครีพับลิกัน กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของ ปธน. โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ให้อภัยโทษแก่นายโจ อาร์เพโอ อดีตเจ้าหน้าที่เชอรีฟ ของเขตปกครองมาริโคปา รัฐแอริโซน่า หลังจากที่นายอำเภอผู้นี้ถูกตัดสินเมื่อต้นเดือนว่ามีความผิดในข้อหาหมิ่นอำนาจศาล ซึ่งเกี่ยวโยงกับนโยบายเลือกปฏิบัติด้านเชื้อชาติหรือสีผิว
โดยก่อนหน้านี้ ส.ว. จอห์น แมคเคน และ ส.ว. เจฟฟ์ เฟลค สังกัดพรรครีพับลิกัน ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจของ ปธน. ทรัมป์ ในเรื่องนี้เช่นกัน
แต่ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงในประเทศของทำเนียบขาว นายโธมัส บอสเสิร์ท กล่าวว่า การอภัยโทษครั้งนี้เป็นไปอย่างง่ายๆ ไม่อ้อมค้อม และประธานาธิบดีแทบทุกคนในยุคหลังๆ ก็เคยใช้อำนาจอภัยโทษที่ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาแล้วทั้งนั้น
ประวัติสุดโชกโชนด้านการเหยียดผิวและละเมิดสิทธิมนุษยชน
นายโจ อาร์เพโอ ซึ่งปัจจุบันอายุ 85 ปี เคยทำหน้าที่เจ้าหน้าที่เชอรีฟรัฐแอริโซน่ามานานกว่า 50 ปี เขาชนะเลือกตั้งเป็นนายอำเภอของเขตปกครองมาริโคปา เมื่อปี ค.ศ. 1992 ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี และได้รับเลือกเข้ามาอีกหลายครั้งจนถึงปี ค.ศ. 2016 หรือปีที่แล้ว ซึ่งเขาแพ้เลือกตั้งให้แก่นายพอล เพนโซน
รายงานข่าวระบุว่าที่ผ่านมา นายอาร์เพโอ หรือที่คนแถวนั้นเรียกว่า “เชอรีฟโจ หรือนายอำเภอโจ” มักจะใช้วิธีลงโทษผู้กระทำผิดแบบที่คนอื่นไม่ใช้กัน เช่น นำตัวนักโทษไปไว้ที่ค่ายพักแรมกลางทะเลทรายที่บรรจุคนได้ราว 1,000 คน ท่ามกลางอุณหภูมิที่ร้อนระอุกว่า 100 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 37 องศาเซลเซียส
ต่อมา องค์การนิรโทษกรรมสากลได้ออกมาเรียกร้องให้มีการตรวจสอบเรื่องนี้ โดยบอกว่าเป็นการทารุณกรรมนักโทษเหล่านั้น ก่อนที่จะมีการสั่งปิดค่ายกลางทะเลทรายดังกล่าวอย่างเป็นทางการเมื่อต้นปีนี้
นายอาร์เพโอยังมีชื่อเสียงขึ้นมาจากการให้นักโทษสวมใส่กางเกงในสีชมพูเพื่อลดปัญหาการขโมยชุดในหมู่นักโทษ และยังได้ผลิตกางเกงในแบบบ็อกเซอร์สีชมพูออกขายเพื่อระดมทุนด้วย
เขาเคยถูกฟ้องร้องในข้อหาทารุณกรรมผู้ที่ถูกควบคุมตัวไว้ก่อนการตัดสินคดี ด้วยการให้ทานอาหารเน่าบูด ไม่ให้การดูแลทางการแพทย์ และให้อยู่อย่างแออัดภายในห้องขังที่ร้อนจัด ซึ่งเชอรีฟโจแก้ต่างว่าห้องขังควรจะเป็นสถานที่สำหรับลงโทษผู้กระทำผิด ไม่ใช่ที่ที่สะดวกสบาย
ในปี ค.ศ. 2011 กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เปิดเผยผลการสอบสวนเรื่องนโยบายเลือกปฏิบัติด้านเชื้อชาติ หรือเหยียดผิว ที่สำนักงานเชอรีฟของเขตปกครองมาริโคปา รัฐแอริโซน่า โดยระบุว่าภายใต้นายอำเภออาร์เพโอ ระดับการเลือกปฏิบัติและอคติต่อชาวละตินอเมริกันนั้น อยู่ในระดับสูงสุดอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และต่อมาศาลยังตัดสินว่าว่าการกระทำของนายอำเภอโจนั้นขัดกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้เขาต้องโทษจำคุก 6 เดือน โดยการตัดสินคดีจะมีขึ้นในเดือนตุลาคมนี้
เสียงวิจารณ์ขององค์กรสิทธิมนุษยชน
หลังจากที่ ปธน.ทรัมป์ อภัยโทษให้กับนายอาร์เพโอ องค์กรสิทธิมนุษยชนหลายแห่งได้ออกมาแสดงความผิดหวัง
คุณเซซิลเลีย หวัง จาก American Civil Liberties Union กล่าวว่า ปธน.ทรัมป์ กำลังช่วยเหลือผู้กระทำผิดกฎหมายและผู้ที่สนับสนุนการเหยียดผิว การกระทำของประธานาธิบดีสหรัฐฯ จึงเข้าข่ายเป็นการสนับสนุนการเหยียดผิวเช่นกัน
ขณะที่เครือข่ายด้านกฎหมาย American Bar Association กล่าวว่า ปธน.ทรัมป์ กำลังทำลายความเชื่อใจของประชาชนที่มีต่อระบบกฎหมายของอเมริกา