รมว.ต่างประเทศและกลาโหมสหรัฐฯ คนใหม่ เตรียมเยือนเอเชียครั้งแรก

Antony Blinken

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ลอยด์ ออสติน จะเดินทางเยือนประเทศในเอเชียในช่วงไม่กี่วันข้างหน้า จากการเปิดเผยของรัฐบาลอเมริกัน ถือเป็นการเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งแรกของรัฐมนตรีทั้งสองคนที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนมกราคม

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เน็ด ไพรซ์ แถลงในวันพุธว่า กำหนดการเยือนเอเชียของรัฐมนตรีบลิงเคนระหว่างวันที่ 14-18 มีนาคม จะรวมถึงญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งจะเป็นการยืนยันภารกิจของสหรัฐฯ ในการกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรและเน้นย้ำความร่วมมือเพื่อสร้างสันติภาพ ความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองในแถบอินโด-แปซิฟิก

และนอกจากการพบหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้แล้ว รัฐมนตรีบลิงเคนยังมีแผนจะพบกับบรรดาผู้นำภาคธุรกิจของสองประเทศนี้ด้วย โดยมีประเด็นสำคัญคือผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19

รัฐมนตรีบลิงเคนจะเป็นเจ้าภาพการประชุมออนไลน์กับผู้สื่อข่าวของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ในประเด็นเรื่องเสรีภาพสื่อกับการส่งเสริมธรรมาภิบาลที่ดีและการปกป้องประชาธิปไตย และบทบาทของสหรัฐฯ กับชาติพันธมิตรในการสนับสนุนสันติภาพทั่วโลก

คำแถลงของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยังระบุด้วยว่า รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ และที่ปรึกษาด้านความมั่นคงทำเนียบขาว เจค ซัลลิแวน มีแผนจะพบหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนในวันที่ 18 มีนาคม ที่รัฐอะแลสกาของสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นการพบกันครั้งแรกของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสองประเทศนี้ภายใต้รัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐมนตรีบลิงเคนกล่าวว่า จีนคือบททดสอบสำคัญที่สุดของสหรัฐฯ ในศตวรรษนี้ พร้อมยืนยันว่าสหรัฐฯ จะดำเนินนโยบายหลายด้านกับจีน คือทั้งแข่งขัน ร่วมมือ และเป็นศัตรูหากจำเป็น

ด้านกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือ เพนตากอน มีแถลงการณ์ว่า รัฐมนตรีออสตินจะเริ่มการเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งแรกในวันที่ 13 มีนาคม โดยจะแวะที่รัฐฮาวายก่อนที่จะมุ่งหน้าไปอินเดีย นอกจากนี้ยังมีกำหนดการหารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านกลาโหมของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เกี่ยวกับความสำคัญของการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการทหารระหว่างประเทศ และบทบาททางทหารของสหรัฐฯ ในอินโด-แปซิฟิก

กำหนดการเยือนเอเชียของรัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ของสหรัฐฯ ยิ่งเน้นย้ำให้เห็นว่ารัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ให้ความสำคัญอย่างมากกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทั้งเพื่อคานอำนาจของจีน และส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้