สำนักข่าว The Associated Press รายงานว่า ผู้คนหลายพันคนเดินทางมายังบริเวณพรมแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก ด้วยความหวังที่จะยื่นขอสิทธิ์เป็นผู้ลี้ภัยในสหรัฐฯ หลังจากอดีตปธน.โดนัลด์ทรัมป์ หมดวาระบริหารประเทศไปแล้ว และปธน.โจ ไบเดน ยกเลิกนโยบายด้านตรวจคนเข้าเมืองที่ต่อต้านการรับคนต่างชาติเข้าประเทศไปบ้างแล้ว
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกรุงวอชิงตัน ชุดปัจจุบันที่บริหารประเทศมาไม่ถึง 1 เดือนยังคงต้องรับมือกับอุปสรรคหนักๆ อีกหลาย อย่างที่ขัดขวางผู้ที่ต้องการขอลี้ภัยเข้าสหรัฐฯ ไม่ให้สามารถยื่นเรื่องสำเร็จโดยง่าย
ขณะเดียวกัน รัฐบาลชุดปัจจุบันร้องขอให้ผู้ที่ต้องการอพยพเข้าสหรัฐฯ ยกเลิกแผนการยื่นเรื่องไปก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ดูแลชายแดนต้องประสบกับภาวะงานล้นมือ ดังเช่นในช่วงสมัยรัฐบาลอดีตปธน.ทรัมป์ และอดีตปธน.บารัค โอบามา เมื่อมีผู้อพยพจำนวนมากจากพื้นที่อเมริกากลางพร้อมเด็กเล็กเดินทางมายังพรมแดนด้านใต้ของประเทศอย่างล้นหลาม
เจน ซากิ โฆษกทำเนียบขาว กล่าวระหว่างการแถลงข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า “เวลานี้ ไม่ใช่เวลาที่จะเดินทางมา(สหรัฐฯ)” และว่า “ผู้คนส่วนใหญ่จะถูกปฏิเสธการเข้าประเทศอยู่ดี”
แอนโธนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ส่งสัญญาณแบบเดียวกันเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเช่นกัน ขณะที่ประกาศขั้นตอนของการยุติข้อตกลงกับประเทศฮอนดูรัส เอลซัลวาดอร์ และกัวเตมาลา ที่ทำไว้โดยรัฐบาลทรัมป์ ซึ่งบังคับผู้ที่ต้องการขอลี้ภัยเข้าสหรัฐฯ ให้ไปขอลี้ภัยที่ประเทศเหล่านี้แทน
รมต.บลิงเคน ย้ำว่า การยุติข้อตกลงเหล่านี้ ไม่ได้หมายความว่า พรมแดนสหรัฐฯ พร้อมเปิดต้อนรับแล้ว เพราะแม้ “สหรัฐฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะขยายหนทางทางกฎหมายเพื่อช่วยปกป้องและเปิดโอกาสต่างๆ ทั้งในประเทศและภูมิภาคนี้ สหรัฐฯ ยังคงเป็นประเทศที่มีทั้งพรมแดนและกฎหมายที่ต้องบังคับใช้อยู่”
แต่รายงานข่าวระบุว่า สัญญาณต่างๆ ที่รัฐบาลส่งออกไปนั้นเหมือนจะไปไม่ถึงผู้รับ เพราะยังคงมีผู้คนมากมายเดินทางมายังค่ายที่มาตาโมรอส ในประเทศเม็กซิโก ซึ่งเป็นพื้นที่เมืองที่อันตราย ที่ตั้งอยู่ทางใต้ของพรมแดนรัฐเท็กซัส โดยมีผู้หวังขอลี้ภัยหลายร้อยคนเฝ้ารอโอกาสเดินทางข้ามมาสหรัฐฯ ภายใต้โครงการ Remain in Mexico หรือ “รอต่อไปในเม็กซิโก” ของอดีตปธน.ทรัมป์
มีการคาดกันว่า จะมีผู้ประสงค์ขอลี้ภัยอีกมากที่จะเดินทางมาที่ชายแดนสหรัฐฯ หลังรัฐบาลปธน.ไบเดน ประกาศเมื่อวันศุกร์ที่แล้วว่า จะค่อยๆ อนุญาตให้ผู้อพยพจำนวน 25,000 คนเข้ามาในสหรัฐฯ หลังมีการทบทวนคำร้องแล้ว โดยกลุ่มแรกที่จะได้เดินทางเข้าสหรัฐฯ นั้นภายใต้แผนงานนี้น่าจะกระทำได้ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์นี้
ทั้งนี้ แม้ว่ารัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐฯ จะออกคำสั่งผู้บริหารหลายฉบับเพื่อผ่อนคลายกฎการควบคุมผู้อพยพลี้ภัยแล้ว ยังไม่มีการยกเลิกคำสั่งด้านสาธารณสุขที่อดีตปธน.ทรัมป์ ลงนามไว้ตั้งแต่เมื่อเกิดภาวะระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่ให้อำนาจ สำนักงานศุลกากรและการป้องกันชายแดนของสหรัฐฯ หรือ CBP ขับคนต่างชาติทุกคน รวมทั้งผู้ขอลี้ภัย ออกนอกประเทศได้ ขณะที่ โฆษกทำเนียบขาว ยืนยันว่า รัฐบาลยังคงเดินหน้าพัฒนา “กระบวนการที่มีเนื้อหาครอบคลุมและมีมนุษยธรรม” เพื่อประเมินผู้ที่เดินทางเข้าสหรัฐฯ อยู่
แต่แรงกดดันต่อรัฐบาลของปธน.ไบเดน ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อจำนวนผู้ต้องการอพยพลี้ภัยเข้าสหรัฐฯ ที่บริเวณชายแดนด้านใต้ของประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา
นอกจากนั้น เม็กซิโกเพิ่งประกาศใช้กฎหมายที่ห้ามไม่ให้มีการกักตัวเด็กไว้ในศูนย์กักกักผู้อพยพ ส่วนสหรัฐฯ เองหยุดส่งครอบครัวชาวต่างชาติที่เข้าเมืองมาแล้วข้ามพรมแดนกลับไปทางเม็กซิโกด้วย ขณะที่ CBP เองที่ไม่กำลังพลและสถานที่พอจะควบคุมตัวครอบครัวเหล่านี้ไว้เพราะปัญหาการระบาดของโควิด-19 ตัดสินใจเริ่มปล่อยตัวหลายคนให้เข้ามาในสหรัฐฯ พร้อมสั่งให้ไปขึ้นศาลภายหลัง
หน่วยงานรัฐของสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องกลัวว่า หากข่าวเรื่องการปล่อยตัวผู้อพยพเข้าประเทศแพร่ออกไป จะมีคนมุ่งหน้ามาที่ชายแดนเพื่อข้ามเข้าประเทศมากขึ้น
ความกดดันต่อการดำเนินนโยบายตรวจคนเข้าเมืองของรัฐบาลปธน.ไบเดน ยังไม่หมดแค่นั้น เพราะรัฐเท็กซัสและรัฐแอริโซนา ดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลให้ระงับคำสั่งพักการส่งผู้อพยพกลับประเทศเป็นเวลา 100 วันที่รัฐบาลชุดปัจจุบันเพิ่งลงนามบังคับใช้ ซึ่งผู้พิพากษาได้สั่งให้มีการพัการดำเนินคำสั่งนี้ไว้ชั่วคราวแล้ว
ในเวลาเดียวกัน เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรแห่งสหรัฐฯ หรือ ICE ยังร้องเรียนเกี่ยวกับ กฎใหม่ที่มีการเสนอขึ้นมาให้ทางหน่วยงานมุ่งเน้นการทำงานไปที่การกักตัวและการส่งตัวผู้ที่เข้ามาสหรัฐฯ โดยผิดกฎหมายและอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงต่อประเทศ หรือเคยถูกพิพากษาว่าทำความผิดทางอาญารุนแรงต่างๆ กลับออกไป ซึ่ง จอน เฟียร์ ที่ปรึกษาอาวุโสของ ICE ในสมัยรัฐบาลอดีตปธน.ทรัมป์ กล่าวว่า การที่สหรัฐฯ ส่งสารออกไปว่า ไม่ได้มีการบังคับใช้กฎหมายด้านตรวจคนเข้าเมืองอย่างเคร่งครัด อาจมีการหลั่งไหลเข้ามาอย่างหนักของผู้ที่ต้องการอพยพลี้ภัยเข้าสหรัฐฯ ในระดับที่มากเกินจะจัดการได้ในที่สุด