Your browser doesn’t support HTML5
เมือง Durham เป็นศูนย์กลางการศึกษาของรัฐ North Carolina มหาวิทยาลัย Duke ที่มีชื่อเสียง สร้างวิทยาเขตขึ้นในใจกลางเมืองนี้ เเต่ก่อนหน้าที่การศึกษาขั้นสูงจะกลายเป็นแหล่งรายได้หลักของรัฐนี้ เศรษฐกิจของรัฐนี้เคยขึ้นอยู่กับรายได้จากยาสูบ
ยุคยาสูบของเมือง Durham เริ่มต้นขึ้นระหว่างสงครามกลางเมืองของสหรัฐฯ และหลังจากได้รับชัยชนะสำคัญๆ หลายครั้ง ทหารของฝ่าย Union เข้าโจมตีคลังเก็บยาสูบของเมืองเเละยึดยาสูบไปด้วย เมื่อทหารของฝ่าย Union กลับไปยังบ้านเกิดในรัฐทางเหนือ ทหารเหล่านี้เริ่มติดบุหรี่ที่ได้มาจากรัฐ North Carolina
John Schelp นักประวัติศาสตร์ กล่าวว่า ตั้งเเต่นั้นมาเริ่มมีโรงงานผลิตยาสูบขนาดเล็กเพิ่มมากขึ้น
ธุรกิจยาสูบเริ่มรุ่งเรืองขึ้น เมื่อนาย Buck Duck เศรษฐีได้ซื้อสิทธิบัตรสำหรับเครื่องมวนบุหรี่เครื่องเเรก และพอย่างเข้าปี 1890 โรงงานของเขาผลิตบุหรี่ได้ถึง 45 เปอร์เซ็นของบุหรี่ที่ขายในสหรัฐฯ ทั้งหมด
หลังจากรวมบริษัทเข้ากับคู่เเข่งขันหลายเจ้า บริษัท American Tobacco Company ได้ถือกำเนิดขึ้น เเละภายในไม่กี่ปีหลังจากนั้น บริษัทนี้ขายบุหรี่ 90 เปอร์เซ็นต์ในสหรัฐฯ
ชาวอเมริกันหลายรุ่นสำราญกับการสูบบุหรี่โดยไม่สนใจอะไรมากนัก จนกระทั่งวันที่ 11 มกราคม 1964 รัฐบาลกลางได้ตีพิมพ์รายงานยาว 400 หน้า ชี้ถึงความเกี่ยวข้องระหว่างการสูบบุหรี่กับการเกิดมะเร็ง นั่นทำให้การรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่เริ่มต้นขึ้น
ในปี 1978 American Tobacco โรงงานยาสูบที่ใหญ่ที่สุดของเมือง Durham ต้องปิดตัวลง เเละเป็นเวลานานหลายสิบปี โรงงานเเห่งนี้กลายเป็นโรงงานร้าง
Eddie Belk สถาปนิกที่รับทำงานออกแบบเเละปรับปรุงโรงงานยาสูบร้างเเห่งนี้ บอกว่า ในตอนนั้นมีตำรวจจากทีมหน่วยปฏิบัติการพิเศษไปฝึกซ้อมที่โรงงานร้างแห่งนี้ และเขายังเคยเห็นคนเล่นเกมส์ยิงปืนสีอีกด้วย
Eddie Belk เป็นสถาปนิกที่เชี่ยวชาญด้านงานบูรณะ ได้รับว่าจ้างโดยเจ้าของคนใหม่ของโรงงานยาสูบในปี 2004 ให้ปรับปรุงโรงงานยาสูบเก่าให้กลายเป็นอาคารคอมเพล็กซ์ เพื่อการใช้งานเอนกประสงค์
โรงงานยาสูบ American Tobacco เคยเป็นผู้ผลิตบุหรี่รายใหญ่ที่สุดในโลก เเต่ในตอนนี้ได้กลายมาเป็นสถานที่อยู่อาศัย ร้านค้า สำนักงานเเละสนามกีฬา นอกจากนี้ ผู้คนยังได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์การผลิตยาสูบที่น่าสนใจของสหรัฐฯ
เเละในช่วงฤดูร้อน คอมเพล็กซ์เอนกประสงค์นี้ถูกใช้เป็นสนามเเข่งขันเบสบอลอเมริกันอีกด้วย
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)