'นโบายเอเชียและผลประโยชน์ด้านพลังงาน' ความท้าทายของรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ของสหรัฐฯ

FILE - Chairman and chief executive officer Rex W. Tillerson speaks at a news conference in Dallas, Texas.

นาย เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ ExxonMobil และว่าที่รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ของสหรัฐฯ คือผู้มีประสบการณ์ทำข้อตกลงด้านน้ำมันและก๊าซธรรมชาติกับประเทศต่างๆ

แต่นักวิเคราะห์ชี้ว่าการที่บริษัท ExxonMobil เข้าไปมีส่วนในการสำรวจและพัฒนาแหล่งน้ำมันในหลายประเทศ อาจสร้างความยุ่งยากให้กับนายทิลเลอร์สันในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ

รายงานประเมินภาพรวมทางการเงินและการปฏิบัติงานของบริษัท ExxonMobil ของสหรัฐฯ เมื่อปี ค.ศ. 2015 ระบุว่า 20% ของศักยภาพในการกลั่นน้ำมันของ ExxonMobil อยู่ในแถบเอเชียแปซิฟิก ซึ่งรวมถึงโรงกลั่นในออสเตรเลีย จีน สิงคโปร์ และไทย

เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่บริษัทพลังงาน ExxonMobil สำรวจและขุดเจาะแหล่งน้ำมันนอกชายฝั่งของเวียดนาม ใกล้กับทะเลจีนใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เวียดนามและจีนต่างกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์

คุณ Harry Kazianis จาก Center for National Interest ชี้ว่าการที่โดนัลด์ ทรัมป์ เลือกนาย เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ ExxonMobil ให้เป็นว่าที่รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ของสหรัฐฯ อาจช่วยเน้นย้ำถึงนโยบายด้านเอเชียของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่น่าจะมีท่าทีที่แข็งกร้าวต่อจีนมากขึ้น เนื่องจากนายทิลเลอร์สันและบริษัท ExxonMobil มีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลเวียดนาม ซึ่งมีข้อพิพาทกับจีนในทะเลจีนใต้

ที่ผ่านมารัฐบาลเวียดนามต้อนรับโครงการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันของ ExxonMobil เป็นอย่างดี และมีแผนจะให้สัมปทานพื้นที่ขุดเจาะเพิ่ม ขณะที่ทางการจีนเตือนไม่ให้ บริษัทพลังงานต่างชาติรุกล้ำเข้าไปในแถบทะเลจีนใต้

การแย่งชิงกรรมสิทธิ์ครอบครองแหล่งพลังงานและเส้นทางเดินเรือขนส่งสินค้าในแถบทะเลจีนใต้ คือหัวใจสำคัญของข้อพิพาทในเรื่องนี้ และแม้สหรัฐฯ จะมิได้เป็นหนึ่งในประเทศที่กล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ความขัดแย้งดังกล่าว แต่ที่ผ่านมารัฐบาลอเมริกันเน้นย้ำถึงจุดยืนเรื่องเสรีภาพในการเดินเรือในแถบนั้นมาโดยตลอด

คุณ Peter Dutton ผู้อำนวยการสถาบัน China Maritime Studies ที่ US Naval War College ระบุว่าผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและการลงทุนของสหรัฐฯ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขึ้นอยู่กับความมั่นคงปลอดภัยของสหรัฐฯ ในทะเลจีนใต้ ซึ่งการรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและอิทธิพลทางการเมืองในภูมิภาคนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่งยวดที่ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างมากจากประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ

ด้านนักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนมกราคม จะต้องมีการทบทวนนโยบายเกี่ยวกับเอเชียเสียใหม่ รวมถึง ‘นโยบายจีนเดียว’ ที่สหรัฐฯ ยอมรับว่ารัฐบาลกรุงปักกิ่งคือรัฐบาลเพียงหนึ่งเดียวของจีน และไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน ซึ่งเป็นนโยบายที่สหรัฐฯ ยอมรับมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1979

ในอดีต รัฐบาลประธานาธิบดีบิล คลินตั้น เคยทบทวนนโยบายจีนเดียวที่ว่านี้ และมีการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน เช่น ส่งผู้แทนการค้าไปเยือนกรุงไทเป และสนับสนุนให้ไต้หวันเป็นสมาชิกขององค์กรระหว่างประเทศ ในขณะเดียวกัน ยังคงยอมรับว่ารัฐบาลกรุงปักกิ่งคือรัฐบาลเพียงหนึ่งเดียวของจีน

อย่างไรก็ตาม ความเห็นล่าสุดของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ว่าสหรัฐฯ ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับ 'นโยบายจีนเดียว' และการที่ทรัมป์โทรศัพท์สนทนากับประธานาธิบดีของไต้หวัน ไช่ อิง-เหวิน ได้ทำให้บรรดาผู้นำของรัฐบาลปักกิ่งแสดงความกังวลต่อท่าทีของสหรัฐฯ ต่อจุดยืนเรื่องนโยบายจีนเดียว ภายใต้การนำของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์

(ผู้สื่อข่าว Nike Ching รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)