Your browser doesn’t support HTML5
การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งและโรคหัวใจในผู้สูบบุหรี่เอง ส่วนคนที่ไม่สูบบุหรี่ แต่ได้รับควันบุหรี่จากคนอื่นที่สูบ ก็มีความเสี่ยงสูงขึ้นในการเกิดโรคมะเร็งในปอด
และมาถึงตอนนี้ นักวิจัยที่กำลังศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบทางสุขภาพจากการได้รับควันบุหรี่โดยทางอ้อมที่เรียกว่าการสูบบุหรี่มือสาม หรือ third hand smoking
คุณ Manuela Martins-Green นักจุลชีววิทยาที่มหาวิทยาลัย University of California Riverside กล่าวว่าการสูบบุหรี่แบบมือสามนี้เกิดจากการได้รับควันบุหรี่ที่สะสมอยู่ในพื้นผิวของสิ่งเเวดล้อมรอบตัว เมื่อควันบุหรี่ออกมาจากปลายบุหรี่ ควันพิษจะตกลงไปบนโซฟา บนพรม บนเสื้อผ้า และพื้นผิวทั้งหมด แม้แต่พื้นไม้ นอกจากควันพิษจากบุหรี่จะสั่งสมภายในบ้านเเล้ว ยังสั่งสมภายในรถยนต์อีกด้วย
คุณ Martins-Green กล่าวว่าเด็กเล็กจะเป็นกลุ่มคนที่เสี่ยงมากที่สุดต่อการได้รับควันบุหรี่แบบมือสามนี้ เพราะเด็กอาจจะคลานอยู่บนพื้นพรมในบ้านและเอามือที่จับต้องพรมใส่ปากตัวเอง
ควันพิษของบุหรี่ที่สะสมอยู่ในสิ่งเเวดล้อมที่ว่านี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะการสูบบุหรี่ในบ้านหรือในรถยนต์เท่านั้น แต่ควันพิษจากบุหรี่อาจจะแพร่กระจายผ่านระบบดูดอากาศหากมีคนสูบบุหรี่ภายในตัวอาคาร
คุณ Martins-Green นักวิจัยและทีมงานค้นพบว่าควันพิษของบุหรี่ที่ตกค้างอยู่ในพื้นผิวของสภาพแวดล้อมนี้ สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้อย่างง่ายดาย
เธอกล่าวว่าสารเคมีที่มีพิษจากควันบุหรี่เหล่านี้ สามารถซึมเข้าสู่ร่างกายผ่านผิวหนังได้อย่างรวดเร็ว และเข้าไปอยู่ในกระเเสเลือดและกระจายไปทั่วร่างกาย และเป็นสารเคมีที่เราไม่ต้องการให้เข้าสู่ร่างกาย
ทีมนักวิจัยทีมนี้ได้ศึกษาผลกระทบจากการได้รับควันพิษจากบุหรี่แบบมือสามนี้ ในหนูทดลอง ทีมนักวิจัยพบว่าปัญหาสุขภาพจากการได้รับสารพิษของบุหรี่ผ่านการตกค้างของควันพิษในสิ่งเเวดล้อมนี้ ทำให้หนูทดลองเกิดอาการต่อต้านอินซูลิน ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นก่อนหน้าที่จะพัฒนาไปเป็นโรคเบาหวานประเภทที่สอง
ผลการศึกษานี้ตีพิมพ์ในวารสาร PloS One ไปเมื่อเร็วๆนี้
คุณ Martins-Green นักวิจัยกล่าวว่ากระบวนการของความผิดปกตินี้อาจจะเกิดขึ้นตั้งเเต่ตอนที่ยังเป็นเด็ก และบรรดาแพทย์ในปัจจุบันเริ่มพบว่าเด็กวัยรุ่นในสหรัฐฯ มีปัญหาระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
ในขณะนี้ คุณ Martins-Green กำลังศึกษาเพื่อค้นคว้าว่าการได้รับควันบุหรี่แบบมือสามนี้ มีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับความเสียหายที่เกิดขึ้นในตับ
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)