ญาติของแรงงานไทยที่ถูกลักพาตัวหรือถูกสังหารโดยกองกำลังติดอาวุธฮามาส ใช้เวลาช่วงหลายวันมานี้นับตั้งแต่เหตุโจมตีอิสราเอลเมื่อวันเสาร์ ปะติดปะต่อข้อมูลรายละเอียดที่เกิดขึ้นกับบุคคลอันเป็นที่รักบนสื่อสังคมออนไลน์ ขณะที่ไทยกำลังกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักจากความขัดแย้งในตะวันออกกลางรอบใหม่ครั้งนี้
กระทรวงการต่างประเทศเผยข้อมูลเมื่อวันอังคารว่า มีรายงานคนไทยเสียชีวิตอย่างน้อย 18 คนจากเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในอิสราเอล และอีก 11 คนเชื่อว่าถูกกลุ่มฮามาสจับเป็นตัวประกัน
แต่ทางกระทรวงฯ เพิ่มเติมว่าตัวเลขดังกล่าวยังไม่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการ เนื่องจากสถานทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ระบุว่า การนับจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ที่ถูกจับเป็นตัวประกันนั้นไม่สามารถทำได้ในช่วงเวลานี้ ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งที่ยังดำเนินอยู่
ทั้งนี้ มีการประเมินว่ามีแรงงานไทยราว 30,000 คนที่ทำงานอยู่ในอิสราเอล และส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่การเกษตรใกล้กับพรมแดนกาซ่า ซึ่งพวกเขาสามารถหารายได้มากกว่า 1,000 ดอลลาร์ หรือราว 36,000 บาทต่อเดือน
ออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย กล่าวผ่านสื่อสังคมออนไลน์เฟซบุ๊กเมื่อวันจันทร์ว่า “ดิฉันขอให้ความเชื่อมั่นกับชาวไทยว่าอิสราเอลจะมุ่งมั่นในการทำทุกวิถีทางในขอบเขตอำนาจเพื่อปกป้องแรงงานไทยในประเทศของเรา” และว่า “พวกเขาจะได้รับการปฏิบัติและการปกป้องอย่างเท่าเทียมกับทุกคนในอิสราเอล”
ญาติของแรงงานไทยที่เชื่อว่าอาจถูกจับเป็นตัวประกัน ประสบความยากลำบากในการค้นหาข้อมูลของพิกัดที่ญาติของพวกเขา และต้องพึ่งพาภาพวิดีโอต่าง ๆ ที่แชร์บนสื่อสังคมออนไลน์เฟซบุ๊กและติ๊กตอก หรือจากกองกำลังติดอาวุธที่ทำร้ายพวกเขา
ปิยนัส ภูจัตตุ วัย 27 ปีที่เชื่อว่า คมกริช ชมบัว ญาติที่ถูกจับตัวไปในฉนวนกาซาโดยกลุ่มฮามาสเมื่อวันเสาร์ ผ่านคลิปวิดีโอที่เผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์ กล่าวกับวีโอเอว่า “ทางการไทยบอกว่าจะหารือกับรัฐบาลอิสราเอลให้ และสถานทูตอิสราเอลในประเทศไทยบอกว่าพวกเขาต้องเคลียร์พื้นที่ก่อนจะค้นหาได้ พวกเขาติดตามสถานการณ์นี้อยู่ แต่ไม่ได้ยืนยันว่าเขาอยู่ที่ไหน รวมถึงไม่ทราบชะตากรรมของเขาด้วย”
สุดา เทพแก้ว ที่เชื่อว่าสามีของเธออยู่ในกลุ่มแรงงานไทย 6 คนแรกเสียชีวิต ในช่วงที่กลุ่มติดอาวุธโจมตีหอพักคนงานใกล้กับกาซ่า ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ในไทยว่า “ฉันเพิ่งได้คุยกับเขาเมื่อวันเสาร์และทุกอย่างปกติดี เราหัวเราะกันและจู่ ๆ ก็มีเสียงปืนดังขึ้น มีขีปนาวุธ และสัญญาณก็ขาดไป ... เพื่อนของเขาที่ฟาร์มมาบอกฉันทีหลังว่า ‘บอลตายแล้ว’ ” ซึ่งกล่าวถึงชื่อเล่นของสามีเธอ
อีกด้านหนึ่ง หนูพา พันธ์สะอาด แม่ของ สมควร พันธ์สะอาด แรงงานไทยในสวนกล้วย ที่ถูกยิงเสียชีวิตในนาฮัล ออซ คิบบุตซ์ ในอิสราเอล ถือภาพของลูกชายระหว่างพูดคุยกับสื่อมวลชนว่าเธอพยายามโน้มน้าวให้ลูกอยู่ที่ประเทศไทยต่อไป แต่ลูกชายบอกว่าเขามีสัญญาจ้างงาน 5 ปีที่นั่น และส่งเงินกลับมา 2,000 ดอลลาร์ หรือราว 73,000 บาทให้ครอบครัวทุกเดือน
เธอกล่าวถึงบทสนทนาสุดท้ายทางโทรศัพท์กับลูกชายว่า “ฉันบอกเขาว่าไม่ได้อยากได้เงิน ฉันอยากให้เขาปลอดภัย ฉันแค่บอกเขาว่าฉันคิดถึงเขามากแค่ไหน”
สำหรับอิสราเอล ไทยเป็นหนึ่งในแหล่งแรงงานต่างชาติใหญ่ที่สุดประเทศหนึ่ง อ้างอิงจากกระทรวงแรงงานไทยที่ระบุว่า แรงงานส่วนใหญ่ถูกจ้างงานให้ทำงานภาคการเกษตรและส่งรายได้รายเดือนกลับบ้าน
โดยทางกระทรวงฯ คาดว่ามีแรงงานไทยราว 7,000 คนที่อาจทำงานอย่างผิดกฎหมายในอิสราเอล ซึ่งสร้างความกังวลถึงความปลอดภัยของแรงงานกลุ่มนี้ที่ไม่ได้อยู่ในฐานข้อมูลการสูญหายของนายจ้าง
ทางรัฐบาลไทยให้คำมั่นว่าจะอพยพประชาชนไทยออกจากอิสราเอลทั้งหมดในช่วงเวลาเหตุการณ์ความไม่สงบนี้โดยมีรายงานว่าคนไทยเกือบ 4,000 คนลงทะเบียนขอกลับประเทศ และเที่ยวบินแรกมีกำหนดถึงประเทศไทยในวันพฤหัสบดีนี้ ตามการเปิดเผยของกระทรวงการต่างประเทศ
แต่มีรายงานไทยบางส่วนที่มีความประสงค์จะอยู่ในอิสราเอลต่อไป เพื่อหาเลี้ยงปากท้องเป็นกำลังหลักของครอบครัวที่บ้านเกิด
จักรพล วิประชา แรงงานไทยวัย 35 ปีในอิสราเอล จากทาลมีโยเซฟ (Talmei Yosef) ที่ไม่ไกลจากฉนวนกาซ่า กล่าวกับวีโอเอว่า “ผมเป็นลูกชายคนโตของบ้าน ดังนั้นผมต้องดูแลพ่อแม่ ภรรยาและลูกอีก 2 คน ... ผมทำงานมา 9 เดือนแล้ว และส่งเงินเกือบทั้งหมดกลับบ้าน”
แรงงานไทยวัย 35 ปีในอิสราเอล ยังบอกด้วยว่า “ผมไม่ได้รับการติดต่อจากรัฐบาลไทยเลย แต่กำลังพิจารณาทางเลือกที่ผมมีตอนนี้ หากผมกลับไป ผมยังต้องการกลับมาทำงานที่ประเทศอื่นอยู่ ด้วยหนี้สินที่ผมมี ผมไม่สามารถหางานในประเทศไทยที่ให้รายได้พอ”
- ที่มา: วีโอเอ