วิเคราะห์: ทิศทางการเมืองและสังคมไทย กับชะตากรรมเสี่ยงของ 'พรรคประชาชน'

  • VOA

แฟ้มภาพ - จนท.ตำรวจยืนตั้งแถวหน้าศาลฎีกา ในกรุงเทพฯ เมื่อ 27 ก.ย. 2560

ในเวลานี้ผู้นำพรรคก้าวไกลส่วนหนึ่งยังคงถูกสอบสวนประเด็นจริยธรรมโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) อยู่และหากมีการสรุปความว่าทำผิดจริงก็จะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองดังเช่นกรณีทีมผู้บริหารของพรรคก้าวไกลที่เพิ่งถูกยุบไป

ปปช.เปิดเผยเมื่อวันที่ 8 สิงหาคมว่า ได้สั่งให้มีการดำเนินการสืบสวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 44 คนของพรรคก้าวไกลที่ปัจจุบันคือ สมาชิกพรรคประชาชน ในข้อหาทำผิดกฎจริยธรรมจากการลงชื่อเสนอการแก้กฎหมายอาญามาตรา 112

ทีมผู้นำพรรคประชาชน ในการเปิดตัวเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2567

การตัดสินใจของปปช.มีออกมา 1 วันหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกลจากประเด็นยื่นเสนอแก้ไขลดโทษกฎหมายดังกล่าวซึ่งก็คือ การจำโทษสูงสุดเป็นเวลา 15 ปี โดยมติอันเป็นเอกฉันท์ของศาลฯ ระบุว่า การกระทำของพรรคก้าวไกล “เป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

ในกลุ่มส.ส.ที่ถูกปปช.สอบอยู่นี้ มี 5 คนที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปีไปตั้งแต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษายุบพรรคแล้ว ทำให้เหลืออีก 39 คนที่ย้ายมาสังกัดพรรคประชาชนซึ่งรวมถึง ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคที่อยู่ในภาวะเสี่ยงว่าจะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองหรือไม่

SEE ALSO: สื่อเทศรายงานข่าวยุบพรรคก้าวไกล - องค์กรสิทธิ์ระบุ “ไร้ความชอบธรรม”

ถ้าปปช.สรุปความว่า ส.ส.ทั้ง 39 คนละเมิดกฎจริยธรรมจริง ก็จะส่งมีการส่งเรื่องต่อไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อไต่สวนและพิพากษาต่อไป

นักวิเคราะห์บอกกับ วีโอเอ ว่า คำตัดสินครั้งก่อน ๆ ของศาลที่เกี่ยวข้องกับนโยบายหาเสียงของพรรคก้าวไกลในการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นสัญญาณที่ชี้ว่า คำพิพากษาหลังจากนี้อาจออกมาในลักษณะเดียวกันแล้ว

ณพล จาตุศรีพิทักษ์ นักรัฐศาสตร์จาก ISEAS Yusof Ishak Institute ในสิงคโปร์ กล่าวว่า “ศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษาออกมาที่เป็นเหมือนตัวเร่งปฏิกิริยาให้มีการพิพากษา(ความผิด)ของส.ส. 44 คนต่อไป” พร้อมระบุว่า ศาลฏีกาอาจมีกระบวนการไต่สวนคดีที่ต่างจากศาลรัฐธรรมนูญและอาจเรียกตัวพยานเพิ่มเติมมาให้การได้

ณพล กล่าวด้วยว่า “แต่คำตัดสินที่จะออกมาก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ ถ้าหากศาลฎีกาตัดสินในทิศทางที่แย้งกับคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งถูกจัดให้เป็นศาลสูงที่สุดของประเทศไทย

วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ซึ่งสอนวิชาการเมืองและกฎหมายไทยที่ SOAS University of London เห็นด้วยว่า คำตัดสินที่มีออกมาก่อนหน้าซึ่งตัดสิทธิ์ทางการเมืองของผู้นำพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกศาลสั่งยุบไปเมื่อปี พ.ศ. 2563 ก่อนจะมีการตั้งพรรคก้าวไกลอาจเป็นตัวชี้นำคำตัดสินในคดีใหม่ ๆ

วีรพัฒน์ยกตัวอย่างคดีของ “ช่อ” พรรณิการ์ วานิช ซึ่งถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิตโดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเมื่อปีที่แล้ว จากข้อกล่าวหาฝ่าฝืนจริยธรรมเนื่องจากทำการโพสต์ภาพ ๆ หนึ่งทางออนไลน์ในปี 2553 ที่ถูกระบุว่าพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ โดยระบุว่า “สำหรับส.ส.ในคดี(ใหม่)นี้ ทั้งหมดไม่ได้ทำอะไรเหมือนกับกรณีของ ช่อ พรรณิการ์ เคยทำ แต่ทั้งหมดสนับสนุนหรือเห็นด้วยกับการสนับสนุนร่างกฎหมาย(เพื่อแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) ทั้งทางตรงหรือเป็นนัย และถ้าหากศาล(ฎีกา)ตีข้อกฎหมายเหมือนกับกรณีของ ช่อ พรรณิการ์ (ผู้พิพากษา)ก็อาจขยายความกฎหมายให้ครอบคลุมถึงส.ส.เหล่านี้ และสั่งตัดสิทธิ์ทุกคนได้

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา ศาลในไทยตัดสินว่าจำเลย 272 คนมีความผิดในคดีว่าด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามข้อมูลที่รวบรวมโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ในกรณีของพรรคก้าวไกลนั้น ข้อเสนอแก้กฎหมายของพรรคคือ การจำกัดว่า ใครคือผู้ที่สามารถยื่นเรื่องฟ้องศาลภายใต้อำนาจของกฎหมายม.112 ได้ และการลดโทษจำคุกสูงสุดลง ซึ่งล้วนเป็นส่วนสำคัญของวาระการปฏิรูปที่ทำให้พรรคเป็นฝ่ายมีชัยในการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2566

แต่แม้จะเป็นพรรคที่ได้คะแนนเสียงจากประชาชนมากที่สุด บรรดาสมาชิกรัฐสภาหัวอนุรักษ์นิยมสามารถสกัดกั้นไม่ให้ทางพรรคเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จจนต้องกลับมาเป็นฝ่ายค้านแทน

SEE ALSO: สื่อทั่วโลกวิเคราะห์ รัฐสภาไทยสกัด ‘พิธา’ ไม่ให้นั่งเก้าอี้นายกฯ สำเร็จ

ผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลมองว่า สิ่งที่ศาลและปปช.ทำอยู่คือการลงมือทำการแทนกองทัพและชนชั้นนำที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม และว่า การใช้ภาษากฎหมายแบบกว้าง ๆ ก็ยิ่งช่วยให้การดำเนินการดังกล่าวเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้นด้วย

ทั้งนี้ กฎจริยธรรมที่มีการอ้างอิงเพื่อดำเนินการสืบสวนส.ส. 39 คนของพรรคประชาชนนั้นระบุว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่นักวิเคราะห์ที่ให้สัมภาษณ์กับ วีโอเอ ให้ความเห็นว่า กฎดังกล่าวไม่ได้ลงรายละเอียดมากและทำให้ผู้พิพากษามีทางเลือกจะตัดสินคดีได้ตามสะดวก

ฐิติพล ภักดีวานิช อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า “กฎที่ว่านั้นเปิดทางให้มีการตีความหมายได้มากมาย เพราะไม่มีคำนิยามที่ชัดเจนของการปกป้องสถาบันกษัตริย์” และว่า “เมื่อเราพูดถึงการตีความ นั่นมักหมายความว่า หากคุณเป็นเป้าของชนชั้นนำหรือสถาบัน การจะหาเรื่องมา(เล่นงาน) คุณก็เกิดขึ้นได้

นักวิเคราะห์กล่าวด้วยว่า พรรคประชาชนกำลังอยู่ในความเสี่ยงว่าจะถูกยุบไปด้วย เหมือนกับกรณีของพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกล เพราะนำเสนอวาระการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

วีโอเอ ได้ติดต่อไปยังพรรคประชาชนเพื่อขอความเห็นแต่ไม่ได้รับการตอบกลับ

แต่เมื่อวันเปิดตัวพรรคเมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคก็บอกเพียงว่า จะเดินหน้าโดย “ไม่ประมาท” และแสดงความหวังว่าจะไม่ประสบชะตาเดียวกับที่เกิดขึ้นกับพรรคในอดีต

แต่ไม่ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร นักวิเคราะห์มองว่า สถาบันกษัตริย์ หรือการที่ชนชั้นนำซึ่งมีแนวคิดอนุรักษ์นิยมถูกมองว่าใช้กฎหมายดังกล่าวเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง ยังจะคงเป็นเหมือนแนวรอยเลื่อนทางการเมืองไทยที่แบ่งแยกประชาชนให้เป็นสองฝั่งต่อไป

วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ซึ่งสอนอยู่ที่ SOAS University of London กล่าวว่า “ประเด็นสถาบันกษัตริย์นั้นถูกใช้อ้างอิงโดยนักการเมืองที่ต้องการอยู่ในอำนาจมาโดยตลอด ... และคนกลุ่มนั้นเองที่พึ่งพากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพื่อจัดการกับผู้อื่น เช่น พรรคก้าวไกล หรือ พรรคประชาชน ดังนั้น พลวัตนี้ก็จะดำเนินต่อไปตราบเท่าที่ศาลรัฐธรรมนูญจะยังคงอ้างอำนาจกฎหมายหมิ่นฯ เพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองต่อไป

ส่วน ณพล จาตุศรีพิทักษ์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า สิ่งที่เกิดขึ้นอาจเป็นสัญญาณบอกเหตุว่า การเมืองจะยิ่งวุ่นวายหนักขึ้นไปอีกในไทยที่เกิดการก่อรัฐประหารมาแล้วถึง 13 ครั้งในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ทั้งยังเกิดการประท้วงที่บางครั้งมีการใช้ความรุนแรงอย่างมากหลายต่อหลายครั้งเฉพาะในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาอีกด้วย

ณพลกล่าวว่า “ปัญหาก็คือว่า มันไม่มีความชัดเจนว่า พรรคการเมืองสามารถจัดการกับปัญหาความแตกแยกนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในสภา หรือแม้แต่ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง เนื่องจากข้อจำกัดทางกฎหมาย เพราะหัวข้อเหล่านี้ถือเป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญว่ามีความอ่อนไหวอย่างมากและห้ามแตะต้องด้วย” และว่า “นั่นหมายความว่า รัฐสภานั้นไร้ซึ่งปัญญาอย่างมากที่จะรับมือกับประเด็นความแตกแยกในสังคมได้ ... และนั่นทำให้ประชาชนที่ต้องทนทุกข์ระทมต้องออกมาแสดงออกผ่านการประท้วงตามท้องถนน อย่างที่เราได้เห็นกันมาแล้วว่า ไม่ได้นำไปสู่ผลลัพธ์ที่มีความหมายใด ๆ นอกจากการปราบปรามที่หนักขึ้นและการสั่งจำคุกคนมากขึ้น

  • ที่มา: วีโอเอ