Your browser doesn’t support HTML5
เป็นเวลานานหลายสิบปีที่จีนเคยเป็นประเทศรายใหญ่ที่สุดของโลกผู้รับขยะพลาสติกซึ่งส่งออกจากประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยจีนมีสัดส่วนการรับขยะมาทิ้งในประเทศถึงเกือบครึ่งของจำนวนขยะอุตสาหกรรมที่สร้างขึ้นในโลก และสูงที่สุดที่ราว 9 ล้านตันเมื่อปี 2555
แต่หลังจากนั้นคือช่วงปลายปี 2560 จีนได้เปลี่ยนนโยบายเลิกรับขยะเพื่อลดปัญหามลพิษที่ตามมา การเปลี่ยนท่าทีของจีนทำให้เส้นทางเดินของขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์มุ่งหน้ามาทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทน ด้วยเหตุผลสำคัญคือกฎหมายที่ไม่เข้มงวดและค่าแรงที่ต่ำ
โดยมาเลเซียก้าวขึ้นแทนที่จีนในฐานะประเทศผู้นำเข้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุด
ในส่วนของไทย ปริมาณขยะพลาสติกที่รับจากประเทศอุตสาหกรรมเพื่อนำมาทิ้งในประเทศ เพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าตัวระหว่างช่วงปลายปี 2560 ถึงกลางปี 2561 เป็นจำนวนราว 1 แสน 5 หมื่นตันตามตัวเลขของ Greenpeace
และในฟิลิปปินส์ การนำเข้าขยะพลาสติกก็เพิ่มขึ้นสี่เท่าตัวจากราว 1 พันตันเป็นเกือบ 5,500 ตันในช่วงเวลาเดียวกัน
เกี่ยวกับเรื่องนี้ คุณชัญญา อรรถศิลปเลขา แห่ง Greenpeace ประเทศไทย ชี้ว่า การเปลี่ยนนโยบายของจีนทำให้กลุ่มประเทศอาเซียนกลายเป็นแหล่งทิ้งขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ของโลกโดยปริยาย
ในขณะที่ขยะอิเล็กทรอนิกส์บางส่วนอาจสามารถนำมาหมุนเวียนใช้ใหม่ได้ และอาจเป็นประโยชน์ต่อภาคการผลิตในประเทศกำลังพัฒนานั้น แต่ปัญหาก็คือมีขยะที่ถูกนำเข้าโดยผิดกฎหมายหรือแสดงรายการอย่างไม่ตรงความจริง และเมื่อถูกนำไปทิ้งหรือฝังไว้ก็จะปล่อยสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม
โดย Lea Guerrero ผู้อำนวยการของ Greenpeace ฟิลิปปินส์ ชี้ว่า การส่งออกขยะจากประเทศที่พัฒนาแล้วไปยังประเทศกำลังพัฒนานั้นเป็นเรื่องของความไม่เป็นธรรมด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เพราะไม่ว่าขยะเหล่านี้จะไปลงเอยที่ใด ก็มักจะเกิดปัญหาสำหรับประชาชนในพื้นที่
เจ้าหน้าที่ของ Greenpeace ผู้นี้ถึงกับเรียกเรื่องนี้ว่า "เป็นการลักลอบค้าขยะอย่างผิดกฎหมาย"
ในช่วงกลางปีที่แล้ว เสียงต่อต้านคัดค้านดังกล่าวทำให้บางประเทศ เช่น มาเลเซีย กับฟิลิปปินส์ เริ่มส่งตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุขยะผิดกฎหมายหรือระบุรายการไม่ตรงความจริงกลับคืนไปยังประเทศต้นทาง
และขณะที่บางประเทศของอาเซียน อย่างเช่น มาเลเซีย เมียนมา ไทย และเวียดนาม เริ่มตื่นตัวเรื่องนี้ ขยะพลาสติกก็ดูจะพบที่หมายใหม่ คืออินโดนีเซีย
ด้วยเหตุนี้ Greenpeace กับองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ จึงเห็นว่า สมาคมอาเซียนควรมีท่าทีเป็นหนึ่งเดียวกัน และเรียกร้องให้ใช้โอกาสการประชุมสุดยอดครั้งที่ 34 ที่กรุงเทพมหานคร เพื่อแสดงจุดยืนห้ามการนำเข้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างสิ้นเชิง
SEE ALSO: นานาชาติกำลังหาแนวทางป้องกันปัญหาจากขยะจากประเทศพัฒนาแล้วที่หลั่งไหลมายังเอเชียโดย Heng Kiah Chun นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมคนหนึ่งของ Greenpeace มาเลเซีย ชี้ว่า เรื่องดังกล่าวไม่ใช่ปัญหาเฉพาะของสหรัฐหรือแคนาดาในฐานะประเทศต้นทาง หรือเป็นปัญหาเฉพาะสำหรับมาเลเซียกับฟิลิปปินส์ในฐานะประเทศปลายทางเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของอาเซียนโดยรวมทั้งหมด ดังนั้นทุกประเทศจึงควรแสดงท่าทีที่เป็นหนึ่งเดียวกัน ด้วยกันออกคำแถลงเพื่อยุติการค้า และการนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศโดยทันที
ทางด้านคุณบุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงว่า ไทยในฐานะประธานอาเซียนและเจ้าภาพการประชุม เปิดกว้างและพร้อมสำหรับการประสานงานและความร่วมมือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพื่อยุติการนำเข้าขยะพลาสติกดังกล่าว
คุณเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ก็เตือนว่า หากผู้นำของอาเซียนมุ่งเน้นเฉพาะความร่วมมือทางเศรษฐกิจแต่ละเลยเรื่องผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ปัญหาขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวก็จะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจได้ในอีกไม่นาน