ผู้ต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาหวั่นถูกจับเพราะความสัมพันธ์ไทย-เมียนมา

  • VOA

FILE - A Thai soldier sits in front of the blockage of a road near the Thailand-Myanmar border, in Mae Sot district, Tak province, Thailand, Dec. 19, 2021.

องค์กรสิทธิมนุษยชนแสดงความกังวลว่า สมาชิกกลุ่มแข็งข้อต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาอาจถูกจับกุมและส่งตัวให้เจ้าหน้าที่เมียนมา หากข้ามพรมแดนเข้าไปในประเทศไทย เนื่องจากความสัมพันธ์อันดีของรัฐบาลสองประเทศ

ความกังวลดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่มีสมาชิก 3 คนของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา Lion Battalion Commando Column ถูกทางการไทยจับกุมที่อำเภอแม่สอดเมื่อวันที่ 1 เมษายน ในข้อหาลักลอบเข้าประเทศไทย ก่อนที่จะถูกส่งตัวให้แก่ทางการเมียนมา

สื่อท้องถิ่นรายงานว่า ทั้ง 3 คนพยายามหลบหนีเข้าไปในไทยเพื่อขอรับการรักษาทางการแพทย์ หลังจากที่ 2 ใน 3 ของกลุ่มนี้ถูกเจ้าหน้าที่รักษาชายแดนของเมียนมายิงจนได้รับบาดเจ็บ

อาจารย์ลลิตา หาญวงษ์ แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวกับวีโอเอว่า ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างรัฐบาลไทยกับกองทัพเมียนมา คือเหตุผลหลักของการส่งตัวผู้ลี้ภัยเหล่านั้นกลับประเทศ เพราะไทยไม่ต้องการหักหาญความสัมพันธ์นั้น

"รัฐบาลไทยพยายามโน้มน้าวผู้นำทหารเมียนมาว่า 'เราไม่สามารถช่วยเหลือคุณได้มากบนเวทีโลก เราไม่ต้องแสดงให้โลกเห็นว่าเป็นเพื่อนกับเมียนมา' (แต่) สิ่งที่ไทยทำได้คือบริเวณแนวพรมแดน เช่น สนับสนุนทหารเมียนมา ให้ข้าวให้น้ำ หรือพยายามจับกุมผู้ลี้ภัยทางการเมือง" อาจารย์ลลิตากล่าว

รายงานของสหประชาชาติประเมินว่า ปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยจากเมียนมาในไทยราว 91,000 คน โดยผู้ที่มาในช่วงหลังนี้ไม่ได้รวมอยู่ในอนุสัญญาผู้ลี้ภัยปี 1951 และไม่มีกรอบกฎหมายใด ๆ รองรับเพื่อปกป้องผู้ลี้ภัยเหล่านั้น

อาจารย์ลลิตาชี้ด้วยว่า แม้ไทยและเมียนมาต่างมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน แต่รัฐบาลไทยก็ไม่ต้องการเห็นวิกฤตผู้ลี้ภัยในระยะยาว "และในที่สุดแล้ว รัฐบาลไทยก็ต้องการปิดค่ายผู้ลี้ภัยตามแนวพรมแดนไทย-เมียนมาด้วย"

ด้านองค์กรสิทธิมนุษยชน ฮิวแมน ไรท์ วอทช์ (Human Rights Watch) วิจารณ์ทางการไทยที่ส่งตัวชาวเมียนมา 3 คนกลับประเทศว่า ร่วมมือกับรัฐบาลทหารเมียนมากระทำเรื่องผิดกฎหมายระหว่างประเทศ และทำให้ชีวิตของผู้ต่อต้านรัฐบาลทหารทั้งสามคนนั้นอยู่ในอันตราย

ซาน อ่อง ผู้อำนวยการของกลุ่มประชาสังคม New Myanmar Foundation ในอำเภอแม่สอด กล่าวกับวีโอเอว่า ผู้ที่มีส่วนในการต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาอาจเผชิญความเสี่ยงในประเทศไทย เช่นอาจถูกส่งกลับประเทศโดยไม่เต็มใจและไม่สนใจเรื่องความปลอดภัยของพวกเขาเหล่านั้น

ซานแนะนำให้ทางการไทยควรตรวจสอบก่อนว่า ชาวเมียนมาที่ถูกจับกุมนั้นเป็นสมาชิกกลุ่มแข็งข้อต่อต้านหรือผู้สนับสนุนประชาธิปไตยหรือไม่ และพวกเขาจะเผชิญอันตรายอย่างไรเมื่อถูกส่งตัวกลับประเทศ

  • ที่มา: วีโอเอ