บริษัทจีนหลายแห่งที่เข้าไปลงทุนทำเหมืองแร่หายาก หรือ แรร์เอิร์ธ (rare earth) ในรัฐคะฉิ่นของเมียนมา สัญญาว่าจะระงับกิจกรรมที่เหมืองเหล่านั้น หลังจากที่มีชาวบ้านมากกว่า 1,000 คนชุมนุมประท้วงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากเหมืองแร่หายาก
ชาวบ้านจากหมู่บ้านมากกว่า 10 แห่งในพื้นที่ที่ควบคุมโดยองค์กรปลดปล่อยชาวคะฉิ่น หรือ เคไอโอ (Kachin Independence Organization) หนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีกำลังมากที่สุด และกองกำลังปลดปล่อยชาวคะฉิ่น หรือ เคไอเอ (Kachin Independence Army) เริ่มประท้วงเมื่อเดือนธันวาคม หลังจากที่เคไอโออนุญาตให้บริษัทจีนเข้าไปทำเหมืองแร่หายากในรัฐคะฉิ่น บริเวณพรมแดนติดกับมณฑลยูนนานของจีน
เมื่อวันเสาร์ ตัวแทนของหมู่บ้านในเขตเหมืองแร่ได้พบหารือกับผู้บัญชาการกลุ่มเคไอโอ เพื่อเรียกร้องให้เหมืองแร่ของบริษัทจีนหยุดการทำงานตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมาเป็นต้นไป แต่ทางบริษัทเจ้าของเหมืองขอผ่อนผันเวลาออกไปจนกว่าจะเสร็จสิ้นกิจกรรมและขั้นตอนต่าง ๆ ที่จำเป็นเสียก่อน
วีโอเอ ภาคภาษาพม่า ได้ติดต่อไปยังบริษัทเหมืองแร่ของจีนเหล่านั้นเพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับการประท้วง แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับ
องค์กรสังคมพลเรือนและศาสนาในคะฉิ่นคือผู้นำการประท้วงครั้งนี้ โดยมีแถลงการณ์ตั้งคำถามต่อกลุ่มเคไอโอว่า ยินยอมให้มีการทำเหมืองแร่หายากเพราะต้องการเงินหรือเพราะต้องทำตามความประสงค์ของรัฐบาลปักกิ่งกันแน่ พร้อมระบุว่า "เรามีความกังวลต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตของชุมชนในท้องถิ่น และความเป็นอยู่ของสัตว์ป่าในบริเวณนั้น" อ้างอิงจากรายงานในสื่อ Union of Catholic Asian News
ทั้งนี้ แร่หายาก หรือ แรร์เอิร์ธ เป็นส่วนประกอบสำคัญของสินค้าเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ รถไฟฟ้า โซลาร์เซลล์ และอาวุธสมัยใหม่ โดยสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศคาดการณ์ว่า ปริมาณความต้องการแร่แรร์เอิร์ธจะเพิ่มขึ้น 3-7 เท่า ภายในปี 2040
สื่อ Investing News รายงานว่า เหมืองในเมียนมาสามารถผลิตแร่หายากได้มากเป็นอันดับ 4 ของโลกเมื่อปี 2022 คิดเป็นปริมาณ 12,000 ตัน โดยจีนคือผู้ผลิตแร่หายากรายใหญ่ที่สุดในโลกด้วยปริมาณ 210,000 ตันเมื่อปีที่แล้ว รองลงมาคือ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย เมียนมา และไทย ตามลำดับ
โดยไทยผลิตแร่ประเภทนี้ได้ราว 7,100 ตันเมื่อปีที่แล้ว ตามรายงานของ Investing News
รายงานเมื่อปี 2021 ซึ่งจัดทำโดย Harvard International Review ระบุว่า การทำเหมืองแร่หายากนั้นส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดการปนเปื้อนในน้ำบาดาลและหน้าดิน รวมทั้งก่อให้เกิดฝุ่นควันพิษ และการตัดไม้ทำลายป่า
- ที่มา: วีโอเอ