ห้องข่าววีโอเอภาคภาษาอังกฤษ ออกรายงานเกี่ยวกับความพยายามผลักดันกฎหมายฉบับใหม่ว่าด้วยการคุ้มครองผู้ค้าประเวณีของไทย ที่ผู้สนับสนุนหวังที่จะนำมาใช้แทน พรบ. ป้องกันการค้าประเวณี พ.ศ. 2539
นักรณรงค์หวังว่ากฎหมายนี้จะช่วยเรื่องสวัสดิภาพของผู้ค้าประเวณีในไทย ซึ่งคาดว่ามีอยู่ ราวม 100,000 ถึง 300,000 คน
อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว จินตนา จันทร์บำรุงกล่าวว่าพรบ.เดิมล้าสมัยไปแล้ว โดยหน่วยงานของเธอเป็นผู้ผลักดันหลักให้มีการเปลี่ยนแปลง
เธอกล่าวว่าหากเกิดกฎหมายฉบับใหม่ผู้ค้าประเวณีจะสามารถเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานเช่นเดียวกับคนอาชีพอื่น และสิทธิ์ของผู้ค้าประเวณีจะไม่ถูกละเมิด หรือถูกเอาเปรียบจากลูกค้า หรือเจ้าของกิจการ
ที่ผ่านมา รศ. ณรงค์ ใจหาญ แห่งคณะนิติศาตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีบทบาทสำคัญในการร่างกฎหมายฉบับใหม่ และจัดรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง เขากล่าวว่าผู้ค้าประเวณีกลัวตำรวจเพราะกฎหมายบัญญัติว่าการเสนอขายบริการเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
ขณะที่สตรีผู้หนึ่งที่รายงานระบุว่าใช้ชื่อว่า Mai จากจังหวัดเชียงใหม่วัย 37 ปีกล่าวว่าเธอเริ่มค้าประเวณีมา 10 ปีแล้ว เนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอจากงานภาคเกษตรกรรม รวมทั้งการทำงานร้านอาหารและงานทำความสะอาดที่โรงแรม
เธอบอกว่าไม่มีงานใดที่ช่วยค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัวได้ดีเท่ากับงานค้าประเวณี และว่า ผู้ที่ขายบริการส่วนใหญ่ที่เธอรู้จัก มีลูกต้องเลี้ยงดู
สตรีผู้นี้กล่าวว่า หากอาชีพของเธอถูกกฎหมาย เธอก็จะไม่ถูกหักเงินเพื่อเอาไปจ่ายสินบนเจ้าหน้าที่เพื่อแลกกับความปลอดภัยจากการถูกปราบปรามเธอหวังด้วยว่าจะสามารถเจรจาให้ได้ค่าแรงที่มีเกณฑ์ที่มั่นคง ไม่ใช้ถูกปรับขึ้นลงตามอำเภอใจของเจ้าของกิจการ
Mai เล่าให้ฟังว่าเท่าที่ผ่านมาเธอเคยเจอเหตุการณ์ที่ว่า ถ้าเธอดูอ้วนขึ้นและไม่สามารถเชิญชวนให้ลูกค้าซื้อเครื่องดื่มเพิ่ม ทางบาร์ก็จะตั้งกฎขึ้นมาเองเพื่อลดค่าตอบแทนเธอ
กฎเหล่านั้นอาจจะผิดกฎหมายได้ แต่ในเมื่อการขายบริการเป็นสิ่งผิดกฎหมายอยู่แล้ว ทางเจ้าของกิจการจึงถือโอกาสเอาเปรียบพวกเธอ Mai กล่าว
สำหรับผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการทำให้กิจการค้าประเวณีเป็นสิ่งถูกกฎหมาย สรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ อดีตประธานกรรมการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์เด็ก ที่เป็นองค์กรที่ไม่ใช่หน่วยงานรัฐ กล่าวว่ากฎหมายดังกล่าวอาจเป็นการฉวยโอกาสเชิงพาณิชย์ต่อผู้ค้าประเวณี
ด้วยเหตุนี้ นายสรรพสิทธิ์จึงกล่าวว่า ประเทศไทยอาจเสี่ยงกับการผิดต่ออนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ของสหประชาชาติที่ไทยลงนามรับรองเมื่อปี ค.ศ. 1985
เขากล่าวว่า ตนไม่ติดในเรื่องการขายบริการทางเพศตามที่แต่ละคนต้องการ แต่กังวลว่า หากไม่มีการยกระดับการรักษากฎหมาย คลับและบาร์ที่มีใบอนุญาตจากรัฐเรื่องการค้าประเวณี จะเปิดทางให้มีการค้ามนุษย์เกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นอาชญากรรมในคราบของใบอนุญาตทางธุรกิจ
นายสรรพสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า เนื่องจากธุรกิจนี้ยังมีผู้ที่เป็น “พ่อค้าคนกลาง” ทำงานเป็นตัวจักรสำคัญอยู่ในระบบ ร่างกฎหมายที่นักรณรงค์พยายามผลักดันให้เกิด อาจไม่สามารถแก้ปัญหาโสเภณีถูกเอาเปรียบอยู่ดี
เขาแนะว่ารัฐบาลควรชักจูงให้คนหันหลังให้กับการค้าประเวณี
รศ. ณรงค์ ใจหาญสะท้อนสิ่งที่เขาได้ยินจากการรับฟังความเห็นของประชาชนด้วยว่า บางคนเห็นว่ากหมายเปิดเสรีเรื่องการค้าบริการทางเพศ เป็นสิ่งที่ขัดกับวัฒนธรรมไทย
ทั้งนี้ รัฐบาลใหม่และสภาที่จะมีขึ้นหลังการเลือกตั้ง 14 พ.ค. จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะเดินหน้าต่อไปหรือไม่อย่างไร
- ที่มา: วีโอเอ