รัฐสภาอินโดนีเซียผ่านกฎหมายอาญาฉบับใหม่ในวันอังคาร ห้ามการมีเพศสัมพันธ์นอกสมรส โดยมีโทษจำคุกหนึ่งปี ท่ามกลางความกังวลว่า กฎหมายนี้อาจทำให้นักท่องเที่ยวและนักลงทุนชาวต่างชาติเลี่ยงการเดินทางหรือเข้าไปลงทุนในอินโดนีเซีย ตามรายงานของรอยเตอร์
กฎหมายฉบับใหม่ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากทุกพรรคการเมืองในอินโดนีเซีย จะมีผลบังคับใช้ทั้งชาวอินโดนีเซียและชาวต่างชาติ โดยนอกจากห้ามมีเพศสัมพันธ์นอกสมรสแล้ว ยังห้ามการอาศัยอยู่ด้วยกันของคู่รักที่ยังไม่ได้แต่งงาน ห้ามการดูหมิ่นประธานาธิบดีหรือสถาบันสำคัญของชาติ ห้ามเผยแพร่แนวคิดต่อต้านรัฐบาล และห้ามจัดการประท้วงโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า
อย่างไรก็ตาม กฎหมายนี้จะยังไม่มีผลบังคับใช้เป็นเวลาสามปีจากนี้ เพื่อให้มีการจัดทำระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ เสียก่อน
ปัจจุบัน อินโดนีเซียมีกฎหมายห้ามการคบชู้ แต่ยังไม่มีกฎหมายห้ามการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน
มัวลานา ยูสราน รองหัวหน้าคณะกรรมการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอินโดนีเซีย กล่าวว่า กฎหมายใหม่นี้ทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของอินโดฯ ที่กำลังฟื้นตัวจากการระบาดใหญ่ "เราเสียใจอย่างยิ่งที่รัฐบาลปิดหูปิดตาในเรื่องนี้ เราได้แจ้งความกังวลของเราที่มีต่อกฎหมายนี้ไปให้กระทรวงการท่องเที่ยวรับทราบแล้ว"
เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำอินโดนีเซีย ซุง คิม กล่าวต่อที่ประชุมเพื่อการลงทุนว่า กฎหมายใหม่นี้อาจทำให้ชาวต่างชาติลงทุนน้อยลงในอินโดนีเซีย รวมทั้งการท่องเที่ยวและเดินทางมายังประเทศนี้
"การทำให้การตัดสินใจส่วนบุคคลกลายเป็นความผิดทางอาญานั้น จะถูกนำไปพิจารณาในกรอบการตัดสินใจของบริษัทต่าง ๆ ว่าจะเข้ามาลงทุนในอินโดนีเซียหรือไม่" ทูตซุง คิม กล่าว
อัลเบิร์ต แอรีส์ โฆษกกระทรวงยุติธรรมอินโดนีเซีย กล่าวว่า กฎหมายใหม่นี้เป็นการควบคุมทางศีลธรรมโดยจำกัดว่า ใครที่สามารถแจ้งความผู้กระทำผิดได้ เช่น ผู้ปกครอง ภรรยาหรือบุตรของผู้ที่กระทำความผิดนั้น "จุดประสงค์เพื่อปกป้องสถาบันครอบครัว การแต่งงานและคุณค่าของชาวอินโดฯ ควบคู่ไปกับการปกป้องความเป็นส่วนตัวของชุมชน ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธสิทธิของสาธารณชนหรือบุคคลที่สามในการแจ้งความ หรือ 'ทำตัวเป็นผู้พิพากษา' ในการละเมิดศีลธรรมนี้"
กฎหมายดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในการต่อสู้ทางกฎหมายซึ่งนักวิจารณ์ระบุว่า เป็นการบ่อนทำลายสิทธิเสรีภาพพลเมืองของประเทศประชาธิปไตยขนาดใหญ่อันดับสามของโลก
บทบรรณาธิการในหนังสือพิมพ์หลายฉบับต่างวิจารณ์กฎหมายฉบับใหม่นี้ เช่น Koran Tempo ระบุว่า ส่อไปทาง "อำนาจนิยม" ส่วน Jakarta Post แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อกฎหมายนี้เช่นกัน และองค์กรความช่วยเหลือทางกฎหมาย Legal Aid Institute ระบุว่า "ประชาธิปไตยในอินโดนีเซียได้ตายไปแล้ว"
บรรดาผู้ต่อต้านต่างเกรงว่า จะเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และถือเป็น 'ความถดถอยครั้งใหญ่' ของเสรีภาพทางประชาธิปไตย นับตั้งแต่การล่มสลายของระบอบเผด็จการซูฮาร์โตเมื่อปี 1998
แต่ แบมบัง วูรีอานโต ประธานสภานิติบัญญัติอินโดนีเซีย ชื่นชมการผ่านร่างกฎหมายนี้ โดยระบุว่าเป็นสิ่งจำเป็นต่อการปฏิรูปกฎระเบียบที่หลงเหลือมาจากยุคล่าอาณานิคม
ขณะที่ ยาซอนนา ลาโอลีย์ รัฐมนตรีกฎหมายและสิทธิมนุษยชนอินโดนีเซีย ชี้ว่า เป็นเรื่องยากที่จะบัญญัติกฎหมายที่เป็นประโยชน์กับประชาชนทุกกลุ่มในสังคมที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมเช่นนี้
ด้านนักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า บทบัญญัติในกฎหมายนี้อาจนำไปสู่การเลือกปฏิบัติต่อคนบางกลุ่มภายใต้กฎหมายอิสลาม และอาจสร้างความเสี่ยงต่อกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศได้
จนถึงขณะนี้ ประชาชนอินโดนีเซียยังคงไม่มีเสียงตอบรับหรือต่อต้านกฎหมายใหม่ฉบับนี้มากนัก มีเพียงการประท้วงกลุ่มเล็ก ๆ ในกรุงจาการ์ตาในวันจันทร์และวันอังคารนี้เท่านั้น
- ที่มา: รอยเตอร์