พรรคเพื่อไทยประกาศจับมืออีก 6 พรรคร่วมตั้งรัฐบาล ไร้เงาพรรคก้าวไกล แต่อาจจะยังไม่เพียงพอจะฝ่าด่านในสภาภายใต้รัฐธรรมนูญที่รัฐบาลทหารเขียนไว้
รอยเตอร์รายงานว่า ความเคลื่อนไหวทางการเมืองรอบล่าสุดนี้เกิดขึ้นหลังจาก พท. ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่มีจำนวน ส.ส. 71 ที่นั่ง ตามมาด้วยการชักชวนพรรคขนาดเล็กอีก 6 พรรค ได้แก่พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคพลังสังคมใหม่ และพรรคท้องที่ไทย เข้าร่วมการจัดตั้งรัฐบาลด้วย
แถลงการณ์จากเพจเฟซบุ๊ก พท. เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ตามเวลาของประเทศไทย ระบุว่า ทางพรรคได้ “รวมเสียงโหวตได้มากกว่ากึ่งหนึ่งแล้ว” แต่ไม่ระบุว่าเป็นกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร 500 ที่นั่ง หรือกึ่งหนึ่งของทั้งสองสภาจำนวน 750 ที่นั่ง
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า “พท. หวังว่าจะสลายขั้วทางการเมือง และหาเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาจากทุกพรรคการเมืองและวุฒิสภา”
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้า พท. กล่าวว่าพวกเขาจะไปหารือกับพรรคก้าวไกล (กก.) ที่ได้จำนวน ส.ส. มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง เพื่อหาเสียงสนับสนุนต่อไป
กก. ที่มีจำนวน ส.ส. 150 ราย ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลและเสนอนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค เป็นนายกรัฐมนตรีได้ และประกาศให้ พท. ที่มีจำนวน ส.ส. จำนวน 141 เสียงเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลต่อในเวลาต่อมา
รอยเตอร์รายงานว่า พท. ที่รับไม้ต่อจาก กก. ก็เผชิญกับอุปสรรคในการหาเสียงสนับสนุนในสภาเช่นกัน ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่คณะรัฐประหารจัดทำขึ้นมา กำหนดให้ต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของทั้งสองสภา และให้วุฒิสภามีสิทธิโหวตผู้เสนอชื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (แคนดิเดตนายกฯ)
และแม้ว่า พท. จะไม่นำ กก. มาร่วมจัดตั้งรัฐบาลในความพยายามครั้งใหม่ เนื่องจากเงื่อนไขของ ภท. ที่ประกาศว่าจะไม่ร่วมรัฐบาลกับก้าวไกล แต่ พท. ก็ยังหวังว่าจะได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาของ กก. ในการโหวตแคนดิเดตนายกฯ ที่คาดว่าจะมีขึ้นในเดือน ส.ค. นี้
ที่มา: รอยเตอร์