ชีวิตประจำวันของอิทธิวัฒน์ สุนทร ทำให้เขาต้องพบปะกับผู้คนมากหน้าหลายตา ด้วยหน้าที่การงานที่เป็นตัวแทนขายประกันในเมืองออร์แลนโด รัฐฟลอริดา ในขณะที่ครอบครัวมีธุรกิจร้านอาหาร ต้องให้บริการลูกค้าอยู่เป็นประจำ วิถีชีวิตของเขาและครอบครัว จึงสร้างความกังวลให้อิทธิวัฒน์ไม่น้อย ในห้วงเวลาที่ยังมีการระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง
Your browser doesn’t support HTML5
“ห่วงมากเลยครับ ก็พยายามปกป้องตัวเอง ด้วยอาชีพของผมยังไงก็ต้องเจอคนอยู่แล้ว แต่ก็พยายามใส่หน้ากาก ใส่โน่นใส่นี่ ไปเจอคนไปเจอลูกค้าที่เขาต้องการ health insurance ตลอดเวลา ส่วนตัวผมเองก็ไปตรวจทุกเดือน เดือนละครั้ง ว่าจะเจอโรคมั้ย ที่ผ่านมาก็ negative ตลอด” อิทธิวัฒน์กล่าวกับวีโอเอไทย
อิทธิวัฒน์ได้ติดตามข่าวการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัทต่าง ๆ และการที่ได้เห็นจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ในสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้น และตีวงแคบเข้ามาใกล้ตัวเองและครอบครัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เขารู้สึกเป็นห่วงภรรยาและลูกวัยหนึ่งขวบ
“รู้สึกว่าโควิดที่ฟลอริด้ามันใกล้ตัวเข้ามาเรื่อย ๆ ตอนแรกได้ยินข่าวเยอะ โควิดกระจาย แต่หลัง ๆ คนใกล้ตัวที่เรารู้จักเริ่มติด มันใกล้ตัวมาทุกวัน ๆ มันแพร่ อัตราคนที่ติดที่ฟลอริดามัน double มันเยอะขึ้นมาก เริ่มกลัว”
นั่นจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาเริ่มค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีน และค้นพบการเป็นอาสาสมัครทดสอบประสิทธิภาพวัคซีนต้านโควิด-19
“เริ่มได้ยินข่าวว่าวัคซีนเริ่มออกมาแล้วนะ เราอยากจะรู้ เราก็กูเกิลดูว่าจะฉีดได้ยังไง ที่ทราบมาคือเขาจะฉีดให้เฉพาะคนที่ทำงานเกี่ยวกับการพยาบาลหรือหมอก่อน ด่านแรกที่ต้องไปเจอคนไข้ ผมก็แบบ แล้วเราทำไงถึงจะได้ฉีด เลยลองค้นหาดูว่ามันมีอาสาสมัครให้ลองไปฉีดไหม มันก็ pop up ขึ้นมาว่ามันมี study นะ ยูไปเป็นอาสามัครได้”
ชายหนุ่มเชื้อสายไทยวัย 34 ปียอมรับว่าเขามีความกังวลอยู่บ้าง แต่ก็มั่นใจว่าตนมีสุขภาพแข็งแรงพอที่จะเข้าร่วมโครงการ
"ด้วยความที่เป็นคนสุขภาพแข็งแรง ผมไม่ค่อยป่วย ก็กังวลครับ แต่ก็อยากจะทำเพื่อสังคมด้วย ถ้าฉีดแล้วมันเวิร์ค ป้องกันไม่ให้ลูกและภรรยาเราติด ถ้ามันเวิร์คขึ้นมามันก็ช่วยตรงนั้นได้"
โดยทั่วไปแล้ว อาสาสมัครในการทดลองวัคซีนต้านโควิด-19 จะต้องพร้อมที่จะเข้าร่วมการศึกษาวิจัยเป็นระยะเวลาประมาณ 1-2 ปี และยินยอมที่จะไปพบกับเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจเจาะเลือด และประเมินผลด้านอื่น ๆ หลายครั้งในช่วงเวลาการศึกษาวิจัย
หลังจากที่อิทธิวัฒน์ลงทะเบียนสมัครในเว็บไซต์แล้ว เขาก็ได้รับการติดต่อกลับมาอย่างรวดเร็ว เพราะประจวบเหมาะว่าเป็นช่วงเวลาที่จะมีการเร่ิมทดลองวัคซีนกับชนกลุ่มน้อยในสหรัฐฯ ซึ่งหมายถึง กลุ่มผู้ที่มีเชื้อสายเอเชีย กลุ่มฮิสแปนิก หรือผู้ที่อพยพมาจากอเมริกากลางและอเมริกาใต้ที่พูดภาษสเปน เป็นต้น โดยเจ้าหน้าที่ได้สอบถามประวัติและข้อมูลด้านสุขภาพของอิทธิวัฒน์อย่างละเอียด
“ถามว่าเราเคยติดมั้ย คนรอบข้างติดมั้ย ในบ้านอยู่กันกี่คน อาชีพที่ผมทำต้องเจอคนเยอะมั้ย อาทิตย์หนึ่งเจอกี่คน 15 วันที่ผ่านมามีปาร์ตี้มั้ย ไปโบสถ์มั้ย ไปวัดมั้ย ไปร้านอาหารต้องเจอคนเยอะมั้ย ถามค่อนข้างละเอียด”
หลังจากผ่านการคัดเลือกแล้ว อิทธิวัฒน์ก็ได้รับการนัดให้เข้าไปรับวัคซีนในวันที่ 21 ธันวาคม ที่ผ่านมา ซึ่งในขณะนั้น วัคซีนที่ผลิตโดยบริษัทไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทคได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ หรือ FDA แล้ว เขาจึงได้เข้าร่วมโครงการทดลองวัคซีนที่ผลิตโดยบริษัทแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดของประเทศอังกฤษ
“ไปถึงที่จอดรถเขาจะมีคิวรอเลย เช็คชื่อนามสกุลว่าเราเป็นคนที่เขานัดไว้ แล้วเราก็นั่งรอในรถ พอสิบนาทีต่อมาเขาก็จะเรียกชื่อ แล้วเราก็เดินเข้าไปในตึก ตึกเป็นศูนย์คลีนิคที่ค่อนข้างใหญ่ของออแลนโด เป็นศูนย์วัคซีนออแลนโดเลย เข้าไปเสร็จ เขาก็จะเช็คชื่อเราให้เราเข้าไปสัมภาษณ์กับหมอเลยเกือบหนึ่งชั่วโมง ตรวจเช็ค ความดัน น้ำหนัก สภาพร่างกาย มีการทำ nose swap (ตรวจในโพรงจมูก) ว่าเราเป็นโควิดหรือเปล่า รู้ผลเลยภายใน 10 นาที"
"หลังจากที่ตรวจเสร็จปุ๊บว่าเราไม่เป็นโควิด เขาก็จะให้เราเซ็นว่าจะเริ่มรับวัคซีน เบ็ดเสร็จใช้เวลาไม่เกิน 3 ชั่วโมง"
อิทธิวัฒน์ได้ค่าตอบแทนครั้งแรกเป็นเงิน 175 ดอลล่าร์ หรือประมาณ 5,250 บาท ซึ่งเขาไม่ได้คาดหวังมาก่อน หลังจากได้รับเข็มแรกแล้ว อิทธิวัฒน์บอกว่าเขามีอาการปกติ ไม่มีไข้ ไม่มีอาการข้างเคียง ยกเว้นอาการปวดบริเวณแขนเพียงเล็กน้อย โดยเขาต้องรายงานอาการหรือผลข้างเคียงให้เจ้าหน้าที่รับทราบ
ในการทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนนั้น อาสาสมัครจะไม่มีทางทราบว่าพวกเขาจะได้รับวัคซีนตัวจริง หรือวัคซีนหลอก (placebo) ซึ่งในบางกรณีเป็นเพียงน้ำเกลือ แต่อิทธิวัฒน์บอกว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีความสำคัญหรืออิทธิพลต่อเขา มากเท่ากับการได้มีส่วนร่วม
“ไม่ว่าจะได้จริงหรือหลอกก็รู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนร่วมในการรับรองวัคซีน ผมก็อยากให้โรคนี้มันหายไปจากฟลอริดา หายไปจากอเมริกา หายไปจากโลกนี้ คืออยากให้ชีวิตมันกลับมาเป็นเหมือนเดิม คืออยากเอาตัวเองไปช่วยเพื่อให้วัคซีนสำเร็จออกมา”
อิทธิวัฒน์เล่าว่าในระยะเวลาการทดลองวัคซีน เขาสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยมีกำหนดจะรับวัคซีนเข็มที่สองในวันที่ 15 มกราคมนี้ และต้องกลับไปพบเจ้าหน้าที่ทุกเดือน
ฟลอริดาเป็นรัฐที่ 3 ในอเมริกาที่มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสกลายพันธุ์ ซึ่งเป็นเชื้อที่ตรวจพบครั้งแรกในประเทศอังกฤษ ที่ผ่านมามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในรัฐฟลอริดากว่า 1.3 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตแล้วเกือบ 22,000 คน และยังสร้างความเสียหายอย่างมากต่อเศรษฐกิจในเมืองต่าง ๆ รวมทั้งเมืองออร์แลนโด ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยว ที่ตั้งของสวนสนุกชื่อดังอย่างดิสนีย์แลนด์ (Disney Resorts) และยูนิเวอร์ซัล สตูดิโอส์ (Universal Studios)
"ดีใจมากที่วัคซีนของจริงจะออกมาให้ทุกคนได้ฉีด เพราะว่าหนึ่งปีที่ผ่านมาผลกระทบเยอะมาก ไม่ว่าเราจะเป็นคนไทยหรือคนอเมริกา อย่างร้านอาหารผมอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวนะครับ แทบจะเรียกได้ว่าเป็นเมืองร้างเลย (สวนสนุก) ดิสนีย์จากที่คนรอคิวตลอดเวลาก็โล่งมาก ธุรกิจย่ำแย่มาก"
อิทธิวัฒน์กล่าวต่อว่า "ออแลนโด ฟลอริดา เป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของโลก เราจะเห็นคนจากยุโรป เอเชีย และอเมริกามาเที่ยวเยอะมาก แต่ว่าตอนนี้ยูโรเปียนก็ไม่มา เอเชียนคนจีนก็ไม่มา คนอเมริกันก็เที่ยวน้อยลงเยอะ เศรษฐกิจฝืดเคืองมาก ร้าน(ของครอบครัว)อยู่ได้ยังไง ก็พอถูพอไถ (เจ้าของอาคาร) ลดค่าเช่าให้บ้าง พนักงานก็ต้องตัดคน ต้องเลย์ออฟคนไปกว่าครึ่ง คืออย่างน้อยตอนนี้ก็ช่วยให้พนักงานที่เหลืออยู่มีข้าวกินไป ยังมีที่อยู่ มีข้าวกิน มีชีวิตอยู่ ก็ถือว่าเก่งแล้วครับ”
จากเว็บไซต์ของสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติของสหรัฐฯ (National Institute of Allergy and Infectious Diseases) พบว่าปัจจุบันยังมีความต้องการอาสาสมัครในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโควิด-19 หลายประเภท ทั้งการทดสอบประสิทธิภาพวัคซีน การหาวิธีรักษาโควิด-19 หรือแม้แต่การทำความเข้าใจโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ให้มากขึ้น ซึ่งต้องอาศัยอาสาสมัครที่ทั้งเคยและไม่เคยติดโควิด-19 มาก่อน
นักวิจัยและแพทย์ยังได้ย้ำถึงความสำคัญของการทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนกับกลุ่มคนหลากหลายเชื้อชาติและสีผิว เพื่อให้วัคซีนมีประสิทธิภาพคุ้มครองประชากรให้ทั่วถึงมากที่สุด