กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เลี่ยงตอบคำถามผู้สื่อข่าววีโอเอ ในวันศุกร์เรื่องการหารือโครงการเครื่องบินรบใหม่ของกองทัพไทย หลังจากที่รัฐบาลอเมริกันและคณะกรรมาธิการของวุฒิสภาสหรัฐฯ แสดงความกังวลเกี่ยวกับประชาธิปไตยของไทย อย่างรวดเร็วเมื่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคก้าวไกลเมื่อวันพุธ
เมื่อถูกผู้สื่อข่าวถามว่าดีลเครื่องบินรบ F-16 กับประเทศไทย ได้รับผลกระทบหรือไม่จากกรณีที่ศาลสั่งยุบพรรคก้าวไกล ทีมโฆษกของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ตอบว่า "เป็นนโยบายของเราที่จะไม่เเสดงทัศนะเกี่ยวกับการส่งอาวุธที่อาจเกิดขึ้น หรือยังอยู่ในกระบวนการ ก่อนที่สภาคองเกรสจะอนุมัติโครงการเหล่านั้น"
อย่างไรก็ตาม กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ แสดงท่าทีอย่างต่อเนื่อง ต่อกรณีที่ก้าวไกลโดนสั่งยุบพรรค
เมื่อวันพฤหัสบดี ผู้สื่อข่าวรายหนึ่งถาม โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เเมทธิว มิลเลอร์ ว่า "เป็นที่เห็นอย่างชัดเจนว่าประเทศไทยมีช่วงขาขึ้นและขาลงด้านประชาธิปไตย..คุณประเมินความสัมพันธ์ (สหรัฐฯ - ไทย) อย่างไรต่อไปจากนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นจะกระทบกับความร่วมมือกับประเทศหรือไม่"
โฆษกมิลเลอร์ตอบว่า "ผมไม่ต้องการคาดเดาเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เรามีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพวกเขาในหลายเรื่อง และสามารถทำงานร่วมกันได้ในหลายเรื่องที่เรามีผลประโยชน์อยู่ และที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน แต่เรากังวลต่อสิ่งที่เกิดขึ้น มันเป็นก้าวที่ทำร้ายประชาธิปไตย เเละเราจะยังคงแสดงความกังวลอย่างชัดเจนทั้งต่อสาธารณะและเป็นการส่วนตัวต่อรัฐบาลไทย"
หนึ่งวันก่อนหน้านั้นกระทรวงฯ กล่าวในเเถลงการณ์ว่า "สหรัฐฯ ไม่ได้มีจุดยืนสนับสนุนพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่ในฐานะพันธมิตรและเพื่อนที่ใกล้ชิดซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งและคงทนยาวนาน เราขอเรียกร้องให้ประเทศไทยดำเนินการเพื่อยืนยันให้เกิดการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่ไม่ละทิ้งคนกลุ่มใดอย่างสมบูรณ์ และปกป้องประชาธิปไตย รวมทั้งเสรีภาพของการรวมกลุ่มกันและการเเสดงออก"
เสียงวิจารณ์จากสหรัฐฯ เกิดขึ้นขณะที่กำลังอยู่ในช่วงเวลาสำคัญที่ไทยได้รับพิจารณาข้อเสนอจากบริษัทอเมริกันที่ต้องการขายเครื่องบินรบให้ไทย
ทั้งนี้สื่อ Janes ที่รายงานข่าวกลาโหมของสหรัฐฯ รายงานเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมว่า ในเวลานี้ทางการไทยตัดสินใจที่จะซื้อเครื่องบินรบใหม่ และบริษัทล็อคฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) ของสหรัฐฯ ได้สื่อสารให้เห็นถึงศักยภาพที่สำคัญและการใช้งานได้ยาวนานของเครื่องบินรบรุ่น F-16 Viper Block 70/72 หรือเรียกสั้น ๆ ว่า F-16V Block 70/72
ไอมี เบอร์เน็ตต์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ของฝ่ายพัฒนาธุรกิจกลุ่มงาน Integrated Fighter ของล็อคฮีด มาร์ติน ให้สัมภาษณ์กับสื่อ Janes ว่าคุณสมบัติของเครื่องบินรบรุ่นดังกล่าวจะเหมาะสมกับสิ่งที่กองทัพอากาศไทยกำลังมองหา หากเกิดการซื้อ F-16 รุ่นดังกล่าว ยุทโธปรกรณ์ใหม่นี้จะถูกนำมาแทนที่รุ่น F-16A/Bs ที่ถูกใช้มานาน ภายใต้โครงการที่มีกำหนดระหว่างปีพ.ศ. 2568 - 2577
เบอร์เน็ตต์ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวของ Janes เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมว่าบริษัทได้เสนอรุ่น F-16V Block 70/72 ให้กับไทย เพราะว่าสามารถยืดระยะเวลาใช้งานได้นานมากขึ้น และมีอุปกรณ์เซนเซอร์รุ่นใหม่ นอกจากนี้ล็อคฮีด มาร์ตินเสนอเงื่อนไขสัญญาซื้อที่สามารถกำหนดรายละเอียดให้เหมาะสมแตกต่างกันไปต่อลูกค้าแต่ละราย
สำนักข่าว The Standard ของไทยรายงานเมื่อปลายเดือนมิถุนายนว่านอกจากการพิจารณาข้อเสนอของล็อคฮีด มาร์ตินเเล้ว กองทัพอากาศไทยยังสนใจ ยุทโธปกรณ์การบินของบริษัทซาบ (Saab) จากสวีเดน ซึ่งผลิตเครื่องบิน Gripen E/F อีกด้วย
นักวิชาการที่ให้สัมภาษณ์กับวีโอเอไทย เรื่องผลกระทบต่อความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ จากการยุบพรรคก้าวไกล กล่าวว่า แนวทางยกระดับแรงกดดันรัฐบาลไทย อาจต้องคำนึงถึงเป้าหมายที่รัฐบาลกรุงวอชิงตันต้องการคานอิทธิพลของจีนในภูมิภาคนี้ด้วย
เกร็ก เรย์มอนด์ อาจารย์อาวุโสจาก Coral Bell School of Asia Pacific Affairs จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย มองว่า “ตราบใดที่ไทยยังมีความก้าวหน้าทางประชาธิปไตยอยู่บ้าง ชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ก็คงไม่ต้องการกดดันผู้นำไทยมากจนเกินไป ส่วนหนึ่งเพราะภูมิรัฐศาสตร์ทุกวันนี้ที่มีความกังวลว่าไทยใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น และนั่นเป็นปัจจัยที่จะกำหนดแนวทางของรัฐบาลต่างชาติที่มีต่อไทย”
แน่นอนว่าจากนี้สหรัฐฯ จะเฝ้ามองการเมืองไทยอย่างใกล้ชิด และวางท่าทีการทูตเคียงคู่ปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐฯ โดยวุฒิสมาชิกเบน คาร์ดิน ประธานคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศวุฒิสภาสหรัฐฯกล่าวผ่านแถลงการณ์เมื่อวันพุธว่า “สภาคองเกรสจะคอยประเมินดูว่าพัฒนาการล่าสุดต่าง ๆ ในไทยนั้นจะกระทบความเป็นหุ้นส่วนในระดับทวิภาคีของสหรัฐฯ และไทยเพียงใด”
- ที่มา: วีโอเอ