Your browser doesn’t support HTML5
นางสาวศิริพร ชาวสุรินทร์ นักศึกษาระดับปริญญาเอกด้านพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยคาทอลิค ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟอเมริกา (The Catholic University of America) ที่กรุงวอชิงตัน ให้สัมภาษณ์กับวีโอเอ ภาคภาษาไทย ในฐานะนักเรียนทุนไทยที่มาศึกษาในอเมริกา หลังจากได้ติดตามข่าวทันตแพทย์หญิง อดีตนักเรียนทุนไทยที่ไม่ยอมกลับไปใช้ทุนตามสัญญาและสร้างภาระหนี้สินให้กับผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นข่าวใหญ่ในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา
ศิริพร บอกว่า ยอมรับว่า ติดตามข่าวสารเรื่องนี้ค่อนข้างมาก เพราะว่าในฐานะนักเรียนทุนเหมือนกันก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้เหมือนกัน ทั้งจากคนรอบข้าง และหน่วยงานต้นสังกัดที่ส่งมา
"รู้สึกว่าเป็นความรับผิดชอบของนักเรียนทุน คือต้องไม่ลืมอุดมคติ ความตั้งใจเดิมก่อนที่เราจะมาศึกษาที่นี่ หาความรู้ ให้ได้มากที่สุด เพื่อจะได้กลับไปพัฒนาประเทศ เพราะว่าทุกคนที่เมืองไทยรอเราอยู่"
นางสาวจิตราภรณ์ สุทธิพงศ์ นักศึกษาระดับปริญญาเอก พยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเดียวกัน ที่ยอมรับว่า กรณีที่เกิดขึ้นไม่เพียงจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อพวกเขาที่กำลังศึกษาอยู่เท่านั้น แต่เชื่อว่ายังส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือ และกระบวนการคัดกรองนักเรียนทุนในรุ่นหลังๆ มากขึ้น
'มันส่งผลไม่เฉพาะตัวเรา และส่งผลถึงรุ่นน้องที่จะตามมาในอนาคตมากกว่า ซึ่งอาจจะต้องมีเงื่อนไขการเดินทางมามากขึ้น รวมทั้งผู้ค้ำประกัน ซึ่งต้องอาศัยความไว้วางใจอย่างมาก’ จิตราภรณ์ สุทธิพงศ์ กล่าว
ขณะที่ ร.ต.อ.ปกรณ์ ทองจีน นักเรียนทุน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่เพิ่งเดินทางมาศึกษาต่อระดับปริญญาโท ด้าน Cyber Security ที่มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน ที่กรุงวอชิงตัน เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
ผมคิดว่าเราต้องกลับมาวิเคราะห์ว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้นักเรียนทุนส่วนหนึ่งที่แม้จะเป็นส่วนน้อย ว่ามีเหตุจูงใจอย่างไร มากกว่าจะมุ่งประณามหรือตำหนิบุคคลนั้นเพียงอย่างเดียว แต่ต้องนำข้อมูลมาวิเคราะห์ว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้เขาทิ้งความฝันของการเป็นนักเรียนทุน ละทิ้งความคิดเริ่มต้นที่จะมา และนำส่วนนี้มาปรับปรุงร.ต.อ.ปกรณ์ ทองจีน นักเรียนทุนรัฐบาลไทย
ร.ต.อ.ปกรณ์ มองในแง่ดีว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลดีที่ทำให้สังคมหันมาจับตามอง เพื่อจะเป็นโอกาสสำคัญในการยกระดับกระบวนการคัดสรรนักเรียนทุนให้ดีขึ้นในอนาคต
'ผมคิดว่าการมีข่าวแบบนี้ น่าจะเป็นผลดี เพราะสังคมจับตามองเรามากขึ้น ผมมองเป็นด้านบวกว่าทำให้เราต้องพัฒนาศักยภาพของเราให้มากขึ้น เช่นเดียวกับการพัฒนากฎเกณฑ์ที่จะนำไปปรับใช้ในการดูแลนักศึกษาทุน ผมคิดว่าเราต้องกลับมาวิเคราะห์ว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้นักเรียนทุนส่วนหนึ่ง ซึ่งแม้จะเป็นส่วนน้อย ว่ามีเหตุจูงใจอย่างไร มากกว่าจะมุ่งประณามหรือตำหนิบุคคลนั้นเพียงอย่างเดียว แต่ต้องนำข้อมูลมาวิเคราะห์ว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้เขาทิ้งความฝันของการเป็นนักเรียนทุน ละทิ้งความคิดเริ่มต้นก่อนที่เขาจะมา และนำส่วนนี้มาปรับปรุงสิ่งจูงใจเหล่านั้น"
ข้อมูลจากสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนไทย ที่กรุงวอชิงตัน ระบุว่า ปัจจุบันมีนักเรียนทุนรัฐบาลที่อยู่ในความดูแลประมาณ 1,200 คนใน 260 สถาบันทั่วสหรัฐอเมริกาและแคนาดา