วิเคราะห์: ฉากประวัติศาสตร์การเมืองไทยจาก 'เหตุการณ์ขบวนเสด็จฯ'

Thailand Protest

Your browser doesn’t support HTML5

Thai Protest Royal Motorcade Banking Emergency Decree


สำนักข่าว Associated Press (เอพี) รายงานการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในกรุงเทพมหานครของรัฐบาลไทยในวันพฤหัสบดี หนึ่งวันหลังจากการประท้วงที่มีแกนนำเป็นนักศึกษาที่เกิด "เหตุการณ์พิเศษ" ซึ่งผู้ชุมนุมร้องตะโกนขณะขบวนเสด็จพระราชดำเนินเคลื่อนผ่าน

หลังจากที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งเกิดขึ้นก่อนรุ่งสาง ตำรวจปราบจลาจลสลายการรวมตัวของผู้ประท้วงบริเวณด้านนอกของทำเนียบรัฐบาล โดยผู้ชุมนุมเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมลาออกจากตำแหน่ง และให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

แกนนำหลายคนถูกควบคุมตัว โดยหนึ่งในนั้นกล่าวผ่านเฟสบุ๊กว่าเขาถูกปฏิเสธที่จะปรึกษาทนายและเขาถูกนำตัวขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปที่ภาคเหนือ ทั้งนี้ตำรวจกล่าวว่ามีผู้ถูกจับแล้ว 22 ราย

สำนักข่าวเอพี สัมภาษณ์ไมเคิล มอนเทสซาโน ผู้ประสานงานโครงการไทยศึกษา แห่งสถาบัน ISEAS-Yusof Isak Institute ที่สิงคโปร์

เขากล่าวว่า รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์เคยพยายามประคับประคองไม่ให้ทางตันทางการเมืองเกิดการปะทุขึ้นอย่างรุนเเรงและประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ต่อขบวนเสด็จฯของ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พระบรมราชินี และมีการจับกุมตัวผู้นำการประท้วง สถานการณ์ได้กลายเป็นวิกฤติที่เต็มรูปแบบไปแล้ว

เขากล่าวว่า ภายใน 48 ชั่วโมง "ประเทศไทยอยู่ในจุดที่อันตรายแล้ว ณ เวลานี้"

A police officer reacts during clashes between pro-democracy demonstrators and royalists during a Thai anti-government mass protest, on the 47th anniversary of the 1973 student uprising, in Bangkok, Thailand October 14, 2020.

โฆษกรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี ประกาศเช้าวันพฤหัสบดีว่า นายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้ตำรวจดำเนินการอย่างเคร่งครัดต่อผู้ขัดขวางขบวนเสด็จฯ หรือมีพฤติกรรมดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์

หมิง ยู ฮาห์ รองผู้อำนวยการหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน Amnesty International ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเเละเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรียกร้องให้ทางการไทยมีการเจรจาที่สร้างสรรค์กับผู้ประท้วง

Amnesty International กล่าวว่าการสลายการชุมนุมประท้วง “ไม่มีเหตุผลอันสมควร” และว่า “เป็นมาตรการที่ถูกออกแบบมาอย่างชัดเจนเพื่อสยบผู้เห็นต่างและหว่านเมล็ดความกลัวต่อคนที่มีมุมมองคล้อยตามผู้ประท้วง” ตามรายงานของเอพี

สำนักข่าวเอพียังได้นำเสนอการวิเคราะห์ ของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ เควิน ฮิวิสัน นักวิชาการด้านไทยศึกษาที่มหาวิทยาลัย University of North Carolina

เขากล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับขบวนเสด็จฯ “ไม่เพียงแต่จะเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ยังเป็นเรื่องช็อคสำหรับหลายคน”

“อย่างไรก็ตาม มันเป็นเครื่องแสดงถึงการที่ผู้ประท้วงที่เป็นคนรุ่นใหม่ มองว่าสถาบันกษัตริย์และรัฐบาลที่มีทหารหนุนหลังเกี่ยวพันกันอย่างไร และสะท้อนถึงการปฏิรูปทางการเมืองที่ต้องการเห็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ด้วยเช่นกัน” ศาสตราจารย์ เควิน ฮิวิสัน แสดงทัศนะผ่านเอพี

และเมื่อเริ่มมีการรวมตัวประท้วงต่อเนื่องในเย็นวันพฤหัสบดี รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ต.อ. กฤษณะ พัฒนเจริญ กล่าวเตือนผู้ชุมนุมก่อนหน้านี้ว่าการประท้วงในลักษณะนี้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เขากล่าวว่าผู้ประท้วงไม่สามารถอ้างได้ว่าไม่ทราบกฎหมาย เพราะเป็นสิ่งที่ทางการบอกไว้ชัดแจ้ง