การประท้วงครั้งใหญ่ในวันที่ 19 กันยายน อันเป็นวันครบรอบ 14 ปีรัฐประหาร พ.ศ. 2549 ได้ “ยกระดับเพดาน” การปราศรัยเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ไปอีกขั้นทั้งในไทยและการประท้วงคู่ขนานในหลายเมืองทั่วโลก รวมทั้งในนครลอสแอนเจลิสและมหานครนิวยอร์กของสหรัฐฯ ที่ผู้ประท้วงให้ความสำคัญกับประเด็นที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์
ที่นครลอสแอนเจลิส กลุ่มที่เรียกตนเองว่า Red USA ราว 80 คน จัดขบวนรถ 56 คัน ขับเป็นริ้วขบวนในพื้นที่ของเมือง เมื่อวันที่ 18 กันยายน ล่วงหน้าก่อนการประท้วงที่ไทยหนึ่งวัน พร้อมออกแถลงการณ์ “ไม่ยอมรับการดำรงอยู่เหนือกฎหมายของสถาบันใดๆ รวมทั้งสถาบันกษัตริย์” กล่าวถึงปัญหาของระบบการปกครองในไทยที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดสรรเข้าถึงทรัพยากรอย่างเป็นธรรม
ทางด้านมหานครนิวยอร์ก กลุ่มผู้ชุมนุมราวสามสิบคนจัดประท้วงภายใต้ชื่อ #นิวยอร์กจะไม่ทน ที่หน้าสถานกงสุลใหญ่ ในแมนฮัตตัน เมื่อวันที่ 19 กันยายนตามเวลาท้องถิ่น มีการทำกิจกรรมศิลปะเชิงสัญลักษณ์ เช่น การสาดสีตามลำตัวหนึ่งในผู้ประท้วง เพื่อสื่อถึง “การใส่ร้ายป้ายสี” ต่อผู้ลี้ภัยการเมืองที่ พวกเขาเชื่อว่าบางคนถูกอุ้มหายหรือถูกฆาตกรรม กลุ่มคนไทยในนิวยอร์กที่มาชุมนุมยังเห็นว่า รัฐไทยไม่สนใจสืบสวนและติดตามการหายไปของบุคคลเหล่านั้น
การประท้วงที่นิวยอร์กยังเน้นประเด็นที่ล้อไปกับการประท้วงที่ไทย เช่น การเรียกร้องให้มีการยุบสภาเพื่อหยุดการสืบทอดอำนาจ เรียกร้องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมถึงประเด็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่ นัชชชา กองอุดม ผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทยและแกนนำการจัดประท้วงง#นิวยอร์กจะไม่ทน บอกกับวีโอเอไทยว่า “ต้องแก้ไขอย่างยิ่ง ไม่ให้กษัตริย์เป็นเรื่องไกลตัว ประชาชนจับต้องไม่ได้” เช่น ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญไทยฉบับปัจจุบันที่ไม่ให้ผู้ใดกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ยกเลิก พ.ร.บ. จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และให้นิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ทุกคนโดยไม่มีเงื่อนไข
การประท้วงทั้งสองเมืองใหญ่เป็นไปอย่างเรียบร้อย แม้ที่นครนิวยอร์ก จะมีคนไทยอีกกลุ่มหนึ่งที่ออกมาแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จัดการประท้วงในบริเวณเดียวกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาล ก็ตาม โดยสถานกงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก ได้สังเกตการณ์เนื่องจากการประท้วงเกิดขึ้นในบริเวณสถานที่ราชการไทย และประสานงานกับทางตำรวจนครนิวยอร์กตามธรรมเนียมปฏิบัติปกติ
“การชุมนุมสามารถกระทำได้ภายใต้ขอบเขตเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ตราบใดที่ยังอยู่ในกรอบกฎหมายท้องถิ่น และเคารพสิทธิของผู้อื่นในการเดินทางและสัญจรผ่านในช่วงที่มีการชุมนุม รวมทั้งหากไม่ไปกระทบความรู้สึกและความเห็นของคนไทย” สถานกงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก กล่าวกับวีโอเอไทยทางอีเมลก่อนที่จะมีการประท้วง
ในประเด็นข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ นัชชชาเห็นว่า ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สถาบันควรอยู่เหนือการเมืองและถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้
“เรานำเรื่องกษัตริย์มาพูดเปิดเผย ไม่มีการทำกิจกรรมลับหลัง พยายามเอาเรื่องนี้มาพูดให้เข้าสู่สาธารณชนมากขึ้น ก่อนหน้านี้ไม่มีใครกล้าแตะสถาบันกษัตริย์ นักกิจกรรมก็ไม่กล้าพูด” นัชชชากล่าวกับทางวีโอเอไทย
นัชชชา ผู้อาศัยในสหรัฐฯ มาแล้วสองปี และได้รับสถานะผู้ลี้ภัยหลังจากเธอเผชิญคดีในศาลทหารไทยอันเนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมือง เห็นว่า ปัจจัยหลายประการ รวมทั้งการบริหารงานของรัฐบาลปัจจุบัน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้คนกล้าออกมาแสดงความเห็นกันอย่างเปิดเผยมากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วง 5-6 ปีก่อนที่ตัวเธอเริ่มกิจกรรมทางการเมือง
แม้ตัวเธอจะไม่หวังว่าการชุมนุมที่นครนิวยอร์กครั้งนี้จะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวหลักในไทย เพราะเป็นเพียงการชุมนุมเพื่อแสดงการสนับสนุนเท่านั้น แต่เธอก็หวังว่าการประท้วงในครั้งนี้จะช่วยตอกย้ำความต้องการของผู้ชุมนุมในไทย
ทางด้านประจวบ เจริญสุข โฆษกและหัวหน้าฝ่ายต่างประเทศของกลุ่ม RED USA แห่งนครลอสแอนเจลิส กล่าวกับวีโอเอไทยว่า ตัวเขายังคาดหวังเห็นกษัตริย์ไทยสร้างความชอบธรรมมากขึ้น มีการจัดสรรทรัพยากรอย่างทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำในประเทศ
“กษัตริย์ต้องมีความรับผิดชอบทางคุณธรรม เป็นหน้าที่รับผิดชอบว่าประชาชนต้องอยู่เย็นเป็นสุข...ถ้าประเทศมีปัญหาว่าคนกลุ่มหนึ่งถูกรังแก อีกกลุ่มได้สิทธิพิเศษ ก็ไม่ยุติธรรม” ประจวบกล่าว
ประจวบ ผู้อาศัยอยู่ในต่างประเทศมาราว 54 ปี และอยู่ในแวดวง “คนเสื้อแดงในต่างแดน” มาสิบกว่าปี เห็นว่า การประท้วงในปัจจุบันนั้น ผู้คนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มากกว่า ข้อมูลไม่ถูกผูกขาดโดยอำนาจรัฐมากเท่าสมัยก่อน รวมถึงมีแรงขับเคลื่อนของผู้คนในยุคปัจจุบันที่เห็นถึงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต ได้ค้นคว้าประวัติศาสตร์มากขึ้น ประกอบกับสภาพแวดล้อมทางการเมืองที่ทำให้ผู้คนรู้สึกถูกกดดันจากรัฐมากเกินไป
เขายังหวังด้วยว่าการประท้วงครั้งนี้จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งประจวบเองเป็นผู้หนึ่งที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผย
“มาตรา 112 เป็นกฎหมายที่ผมเห็นว่าไม่มีความสมดุล คนที่ฟ้องคุณคือใครก็ได้ ว่าคนคนนี้ดูถูกดูแคลนในหลวง คนถูกจับไม่มีสิทธิ์ซักถามพยาน เป็นกฎหมายที่ไม่ยุติธรรม...ถ้าไม่แก้ไข ความเสียหายต่อพระมหากษัตริย์จะมีมากขึ้น” ประจวบกล่าว
ทั้งนี้ผู้สนับสนุนเรื่องการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์เห็นว่า รัฐธรรมนูญควรให้ความคุ้มครองสถาบันฯ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักหนึ่งของชาติและวัฒนธรรม และมาตรา 112 เปรียบเทียบได้กับกฎหมายหมิ่นประมาทสำหรับบุคคลธรรมดาแต่มีไว้สำหรับพระบรมศานุวงศ์ชั้นสูง ในกรณีที่ตกเป็นผู้เสียหายจากการหมิ่นประมาท