Your browser doesn’t support HTML5
หนังสือรวมเรื่องสั้น ความน่าจะเป็น ของคุณปราบดา หยุ่น และ นวนิยายเรื่อง ช่างสำราญ ของคุณเดือนวาด พิมวนา เป็นงานเขียนที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในประเทศไทย เพราะทั้งสองเรื่องได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือรางวัลซีไรต์
แต่ทั้งสองเล่มเพิ่งได้ออกสู่สายตานักอ่านทั่วโลกเมื่อไม่นานมานี้ หลังจากที่ คุณ มุ่ย เลิศหล้า ภู่พกสกุล ได้หยิบสองเรื่องนี้มาแปลเป็นภาษาอังกฤษ และได้รับการตีพิมพ์จากสำนักพิมพ์ในอังกฤษและอเมริกา
ในวันนี้ ถือว่า คุณมุ่ย เป็นนักแปลวรรณกรรมจากไทยเป็นอังกฤษที่งานชุกมากที่สุดคนหนึ่ง เธอได้แปลไปแล้วทั้งหมด 4 เรื่อง คือ "ความน่าจะเป็น" และ "ส่วนที่เคลื่อนไหว" โดยปราบดา หยุ่น อีกทั้งยังมีงานเขียนโดย เดือนวาด พิมวนา คือ "ช่างสำราญ" และ "ฝันแห้งและเรื่องอื่น ๆ"
Your browser doesn’t support HTML5
คุณมุ่ย เป็นนักแปลที่อาจจะเรียกได้ว่าหน้าใหม่ เพราะก่อนหน้านี้คุณมุ่ยเป็นทนายความในบริษัทกฎหมายในมหานครนิวยอร์กเป็นเวลาหลายปี ก่อนจะหันมาเป็นนักแปลเต็มตัว เพราะมีความสนใจวรรณคดีและภาษาอยู่แล้ว อีกทั้งยังเห็นว่ายังไม่ค่อยมีวรรณกรรมไทยที่ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ
"เราก็คิดในใจว่า เอ๊ ทำไมงานแปลวรรณกรรมจากเมืองไทยนี่ ตัวเราเองเป็นคนไทยยังนึกไม่ออกเลยว่ามีอะไรออกมาบ้าง ก็เลยเริ่มไปศึกษาทางนี้ เดี๋ยวดูซิว่ามันมีหนังสืออะไรบ้าง คือมันมีน้อยมากที่พิมพ์ออกมาเป็น paperback ก็เลยคิดว่า ทำไมเราไม่ลองทำดู ถ้าทำได้ซักเล่มหนึ่ง ก็คงจะเป็นอะไรที่น่าภูมิใจ"
งานแรกของคุณมุ่ย คืองานแปลเรื่องสั้นจากหนังสือ “ความน่าจะเป็น” ของคุณปราบดา หยุ่น ซึ่งได้รับรางวัลซีไรต์ในปี พ.ศ. 2545 โดยใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า The Sad Part Was คุณมุ่ยบอกว่า ความน่าจะเป็น เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นที่เธอวางไม่ลง เพราะมีการเล่นกับภาษาอย่างเฉลียวฉลาด และยังสะท้อนภาพชีวิตคนกรุงเทพ เป็นกรุงเทพที่เธอจำได้ในวัยเด็ก ก่อนที่จะย้ายไปใช้ชีวิตอยู่ในอเมริกากว่าสองทศวรรษ
หลังจากงานแปลเล่มแรก คุณมุ่ยได้หันมาศึกษาวรรณกรรมร่วมสมัยของไทยมากขึ้น โดยเฉพาะงานเขียนสะท้อนชีวิตและสังคม และในขณะเดียวกันก็ยังมองหางานเขียนของนักประพันธ์หญิงไทยโดยเฉพาะ
"ในโลกของวรรณกรรมแปล ถึงแม้ว่าจะมีนักแปลผู้หญิงจำนวนพอ ๆ กันกับผู้ชาย ที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ แต่นักเขียนที่ได้รับการแปลที่เป็นนักเขียนชายมีเยอะกว่ามาก ๆ ทั้ง ๆ ที่ผู้หญิงเป็นคนแปลจำนวนประมาณ 50:50 คืออันนี้ก็เป็นประเด็นที่อยู่ในใจมาตลอด ถ้าเกิดมีงานสองเล่มที่เราชอบเท่ากัน เราจะขอเลือกแปลผู้หญิง เพราะว่าผู้หญิงควรจะได้เอา voice ของตัวเองออกไปในโลก เลยถามๆ ว่านักเขียน ว่าถ้าอยากอ่าน ผู้หญิงที่เขียนงานซีเรียสจะอ่านใครดี มีคนแนะนำหลายคนบอกว่า ให้อ่านเดือนวาด พิมวนา"
นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณมุ่ยได้ลงมือแปลเรื่อง “ช่างสำราญ” ซึ่งเป็นงานเขียนรางวัลซีไรต์ปี พ.ศ. 2546 โดยใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Bright และรวมเรื่องสั้น “ฝันแห้งและเรื่องอื่น ๆ” หรือ Arid Dreams ของคุณเดือนวาด พิมวนา ซึ่งวางแผงในสหรัฐฯ เมื่อเดือน เมษายนที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ มีนวนิยายไทยที่ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ และตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ในไทยและต่างประเทศ คือเรื่องความสุขของกะทิ โดย งามพรรณ เวชชาชีวะ และ ลับแล แก่งคอย โดย อุทิศ เหมะมูล ซึ่งแปลโดยนักแปลต่างชาติ แต่ในช่วงสองสามปีมานี้ ได้เริ่มมีผลงานแปลของนักแปลคนไทย อย่างคุณมุ่ย และคุณก้อง ฤทธิ์ดี นักเขียน นักแปล นักวิจารณ์ภาพยนตร์ ที่เป็นผู้แปลงานรางวัลซีไรต์เรื่อง ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต โดยวีรพร นิติประภา
ถึงจะเป็นแนวโน้มที่ดีสำหรับการแปลวรรณกรรมไทย แต่คุณมุ่ยบอกว่า เธอยังไม่อยากตั้งความหวังไว้สูงเกินไป เพราะการแปลและตีพิมพ์วรรณกรรมภาษาต่างประเทศเป็นภาษาอังกฤษนั้น ยังมีความท้าทายหลายอย่าง
"Life cycle ของการ publishing (ตีพิมพ์) มันนานมาก อย่างเช่นเล่ม Bright หรือ ช่างสำราญ นี่บอกได้เลยว่า ตั้งแต่เริ่ม pitch (เสนอเรื่อง) นี่แบบว่า โฮ่ เจอคุณเดือนวาดนี่ เกือบ ๆ 5 ปีก่อนหนังสือจะออก เขาต้องการ manuscript ก่อนหนังสือออกประมาณปีหนึ่ง ฉะนั้นจริง ๆ หนังสือพวกนี้แปลเสร็จไปนานแล้ว กว่าจะออก เพราะว่ากว่าเขาจะทำมาร์เก็ตติ้งแพลน กว่าจะ edit (ตรวจแก้) ทำปก ขั้นตอนมันเยอะมาก"
ความท้าทายสำคัญ คือการหาทุนเพื่อตีพิมพ์ หรือหาสำนักพิมพ์ หนังสือสี่เล่มที่คุณมุ่ยแปลไปนั้น ได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ขนาดเล็กและขนาดกลางที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรที่ไม่หวังผลกำไรในประเทศอังกฤษ และอเมริกา
"สำนักพิมพ์ใหญ่ ๆ อย่าง Penguin เค้าห่วงเรื่องกำไรมากกว่าสำนักพิมพ์เล็ก ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็น non-profit เพราะฉะนั้นเขายอมเสี่ยงด้านนี้เพื่อเปิดหูเปิดตานักอ่าน ว่างั้นเถอะ มันไม่ใช่แค่ต้องจ่ายค่า royalty (ค่าลิขสิทธิ์) ของนักเขียน ยังต้องจ่ายค่าแปล ซึ่งทำให้การทำหนังสือแปลค่อนข้างแพงที่เดียว หลายเล่มหนังสือแปลที่เขาเสี่ยงไปคือขาดทุน ฉะนั้นมันต้องเป็นองค์กรที่รับได้ว่าอาจจะไม่ได้กำไร"
วรรณกรรมไทยที่ได้รับการแปลและตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษยังมีน้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย สื่อญี่ปุ่น Nikkei Asian Review อ้างรายงานจากฐานข้อมูลของมหาวิทยาลัย โรเชสเตอร์ รัฐนิวยอร์ก พบว่า ประเทศไทยยังตามหลัง อินโดนีเซีย และเวียดนาม
คุณมุ่ยมองว่า หากรัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง การแปลวรรณกรรมไทยเป็นภาษาต่างประเทศน่าจะขยายวงกว้างมากขึ้น เห็นได้จากการสนับสนุนงานแปลของรัฐบาลเกาหลีใต้ ที่ทำให้งานวรรณกรรมของเกาหลีออกสู่สากลเป็นจำนวนมากและต่อเนื่อง
ถึงแม้ว่างานแปลวรรณกรรมไทยเป็นภาษาอังกฤษจะเป็นงานที่มีความท้าทายอยู่บ้าง และให้ค่าตอบแทนน้อยเมื่อเทียบกับงานอื่น คุณมุ่ยยังมุ่งมั่นที่จะแปลวรรณกรรมร่วมสมัยของไทยต่อไป เพราะเป็นงานที่ทำให้เธอรู้สึกใกล้ชิดกับประเทศไทยและภาษาไทยอีกครั้ง หลังจากที่ใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศมากว่าครึ่งชีวิต
"เป็นการ rediscovery ประเทศตัวเองและภาษาตัวเอง ที่ภูมิใจจะเป็นเวลาที่แปลบางประโยคแล้วรู้สึกว่าคำมันใช่ร้อยเปอร์เซนต์ เอฟเฟคต์มันเหมือนภาษาไทยเด๊ะ ๆ นั่นจะเป็นสิ่งที่รู้สึกภูมิใจมาก เพราะโลกที่เราอยู่บางทีมันเหมือนมันแยกกันแต่ว่ามันสามารถอยู่คู่กันได้"