คุยกับเยาวลักษ์ อนุพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กรณีได้รับรางวัลอัลบีย์ ชี้ สะท้อนสถานการณ์ประเทศไทย ว่าการแสดงออกทางการเมืองยังถูกกดปราบ แนะ ควรนิรโทษกรรมคดีการเมือง เดินหน้ารื้อฟื้นนิติรัฐ-ประชาธิปไตยหลังผ่านพ้นรัฐประหาร
บทบาทการทำหน้าที่ช่วยเหลือทางกฎหมาย คุ้มครองนักเรียน นักศึกษา นักกิจกรรมและสื่อมวลชน นับพันราย ที่ออกมาชุมนุมและแสดงออกอย่างสันติ แต่ถูกทางการจับกุมและดำเนินคดีทางกฎหมาย คือผลงานที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน องค์กรภาคประชาสังคมของไทย ได้รับเลือกให้เป็นผู้ที่ได้รับรางวัล ‘อัลบี อวอร์ด’ จากมูลนิธิคลูนีย์เพื่อความยุติธรรม (CFJ) ที่จะมีการมอบรางวัลอย่างเป็นทางการที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาในเดือนกันยายนนี้
มูลนิธิ CFJ ที่ตั้งขึ้นโดยอามัล คลูนีย์ ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและจอร์จ คลูนีย์ ดาราดังชาวอเมริกันผู้เป็นสามี มอบรางวัลอัลบีเป็นปีที่สองติดต่อกันแล้ว โดยในปีนี้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนของไทย จะเป็นส่วนหนึ่งของผู้ได้รับรางวัลร่วมกับตัวแทนจากหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งล้วนเป็นผู้มีบทบาทในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่มีการละเมิดสิทธิอย่างรุนแรงในประเทศต่างๆ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก อิหร่าน ซีเรีย และยูเครน ที่ถูกรุกรานโดยรัสเซีย
“เวลาเราพูดเรื่องประชาธิปไตย เราก็พูดว่า นอกจากประชาธิปไตยแล้ว มันควรที่จะมีนิติรัฐ และก็ควรมีสิทธิมนุษยชน…ถ้าหากเรามีสามเสาเดียวกันนี้อยู่ภายใต้ประเทศ ประชาชนก็จะมีเสรีภาพ มีความเท่าเทียม และมีความเสมอภาคในการดำรงชีวิต”
เยาวลักษ์ อนุพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์กับวีโอเอไทยว่า รู้สึกดีใจที่องค์กรเล็กๆ ได้รับรางวัลในระดับโลก แต่ว่าการได้รับรางวัล ก็สะท้อนว่า ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศเล็กๆ อย่างไทย มีความร้ายแรงจนได้รับความสนใจจากองค์กรต่างประเทศ
“คือรางวัลเขาเป็นรางวัลระดับโลกใช่ไหมคะ และเขาก็มาเห็นในการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศ ไทย ซึ่งถือว่าเป็นประเทศเล็ก ๆ เขาก็ให้ความสำคัญกับงานสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยว่า ประเทศไทยมันเกิดอะไรขึ้น เหมือนกับว่ามันร้ายแรงขนาดไหนที่เขาถึงกลับมาพิจารณาและมอบรางวัลให้เรา” เยาวลักษ์กล่าว
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ก่อตั้งขึ้นไม่นานหลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติเมื่อปี 2557 หลังมีการเรียกบุคคลไปรายงานตัว จับกุม คุมขัง และนำประชาชนขึ้นไต่สวนบนศาลทหาร โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ทำหน้าที่บันทึกข้อมูลการละเมิดสิทธิ ช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ได้รับผลกระทบ และเผยแพร่ความรู้เรื่องกฎหมายและการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
แม้ผ่านช่วงเวลาภายใต้รัฐบาลทหารมาก่อน แต่ช่วงที่เยาวลักษ์สะท้อนว่าเป็นช่วงเวลาวิกฤตที่สุดของการทำงาน กลับเป็นช่วงหลังปี 2563 ที่มีการออกมาชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปในหลายประเด็นอย่างที่สังคมไทยไม่เคยเห็นมาก่อน
“มันเกิดการชุมนุมขนาดใหญ่ หลังจากนั้นรัฐก็ใช้กฎหมาย ใช้ความรุนแรงเข้ามาจัดการ ปราบปรามและดำเนินคดี กับฝั่งประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย มันส่งผลทำให้ประชาชนถูกดำเนินคดี จากสื่อ จากสถิติที่เราทำงาน ก็คือร่วมสองพันคน ถ้าเป็นคดี ก็อยู่ประมาณเกือบ 1,500 คดี ก็ถือว่าสูงสุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ เราก็ทำงานหนักกันมากที่ช่วยเหลือคนถูกจับ ถูกดำเนินคดี”
บันทึกฐานข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า นับตั้งแต่เริ่มมีการชุมนุมของกลุ่ม “เยาวชนปลดแอก” เมื่อ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึง 31 สิงหาคม 2566 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์การชุมนุมและการแสดงความเห็นทางการเมืองแล้วอย่างน้อย 1,925 คน ในจำนวนคดี 1,241 คดี
ในจำนวนนี้ เป็นเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 286 ราย ใน 215 คดี
ในมุมมองของผู้อำนวยการศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยอมรับว่าสถานการณ์ในเรื่องสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมยังคงเต็มไปด้วยคำถาม แม้ไทยจะมีการเปลี่ยนรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำแล้วก็ตาม
“แม้เราจะมีการเลือกตั้ง และเราก็บอกว่าเราได้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งใช่ไหม แต่สุดท้าย รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งพยายามที่จะไม่แตะต้องคดีมาตรา 112 (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112) สังเกตจากการที่เขาหาเสียง เพราะหาเสียงแล้วก็มีการพูดเรื่องนิรโทษกรรม เขาก็จะไม่แตะ พรรคเพื่อไทยก็จะบอกว่าไม่แตะมาตรา 112 อันนี้ก็จะเป็นปัญหา เป็นวิกฤตและส่งผลก่อให้เกิดความขัดแย้งใหม่”
“คือรัฐบาลเปิดโอกาสให้คุณทักษิณกลับมา แล้วก็มีการอภัยโทษ ถูกไหมคะ ฉะนั้นเรื่องการปรองดอง มันไม่ใช่เฉพาะที่จะให้คุณทักษิณได้รับการอภัยโทษเพียงคนเดียว มันควรที่จะมองโดยภาพรวม และนำพาประเทศไปสู่ข้างหน้าด้วยกัน”
เยาวลักษ์คาดหวังว่า หลักนิติรัฐและประชาธิปไตยที่ถูกทำลายโดยการรัฐประหารจะถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ พร้อมกับสังคมที่มีเสรีภาพ ประชาธิปไตยและความเท่าเทียม
“เวลาเราพูดเรื่องประชาธิปไตย เราก็พูดว่า นอกจากประชาธิปไตยแล้ว มันควรที่จะมีนิติรัฐ และก็ควรมีสิทธิมนุษยชน…ถ้าหากเรามีสามเสาเดียวกันนี้อยู่ภายใต้ประเทศ ประชาชนก็จะมีเสรีภาพ มีความเท่าเทียม และมีความเสมอภาคในการดำรงชีวิต”
รางวัลอัลบีย์ หรือ ‘อัลบีย์ อวอร์ด’ โดยมูลนิธิคลูนีย์เพื่อความยุติธรรม จัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้ความสำคัญแก่ผู้ที่เสี่ยงภัยและอุทิศชีวิตให้กับความยุติธรรมจากทั่วโลก โดยตั้งขึ้นตามชื่อของอัลบี แซกส์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประเทศแอฟริกาใต้ หนึ่งในผู้มีบทบาทในการยกเลิกการแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้จำสำเร็จ ในยุคทศวรรษที่ 90
- ข้อมูลเพิ่มเติมจาก: Clooney Foundation for Justice, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน