มูลนิธิคลูนีย์เพื่อความยุติธรรม (Clooney Foundation for Justice - CFJ) มอบรางวัล ‘อัลบี อวอร์ด’ สาขาผู้ปกป้องประชาธิปไตย ให้แก่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จากการช่วยเหลือผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองจากการแสดงออกและเรียกร้องประชาธิปไตยในไทย
ข้อมูลจากหน้าแถลงข่าวของมูลนิธิเมื่อ 14 สิงหาคม ระบุว่า ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (ศูนย์ทนายฯ) องค์กรภาคประชาสังคมในประเทศไทย ได้รับรางวัลเนื่องจาก “การคุ้มครองนักเรียน นักศึกษา นักกิจกรรมและสื่อมวลชนเป็นพันรายที่ถูกจับกุมภายใต้กฎหมายของไทย ที่ทำให้การชุมนุมและการพูดโดยสันติเป็นอาชญากรรม”
มูลนิธิ CFJ ที่ตั้งขึ้นโดยอามัล คลูนีย์ ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและจอร์จ คลูนีย์ ดาราดังชาวอเมริกันผู้เป็นสามี มอบรางวัลอัลบีเป็นปีที่สอง รางวัลดังกล่าวตั้งขึ้นตามชื่อของอัลบี แซกส์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่มีบทบาทในการทำให้การแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้สิ้นสุดลง โดยรางวัลอัลบีส์นั้นมีขึ้นเพื่อให้ความสำคัญแก่ผู้ที่เสี่ยงภัยและอุทิศชีวิตให้กับความยุติธรรม
อามัล และจอร์จ คลูนีย์กล่าวในแถลงการณ์ว่า “ผู้ปกป้องความยุติธรรมอย่างกล้าหาญทั่วโลก ต่างเผชิญกับภัยอันตรายอย่างใหญ่หลวงที่ไม่สามารถขจัดได้ภายในชั่วข้ามคืน แต่สิ่งที่พวกเราสามารถทำได้ นอกเหนือไปจากงานรายวันของมูลนิธิ ก็คือการฉายสปอตไลท์ไปยังภัยอันตรายที่บุคคลเหล่านี้กำลังพบเจอ เพื่อเพิ่มเดิมพันต่อตัวผู้คุกคาม”
นอกจากศูนย์ทนายฯ แล้ว ผู้ได้รับรางวัลอัลบีครั้งที่สอง ได้แก่ ดร.เดนิส มุคเวเก นรีแพทย์ที่มีบทบาทช่วยชีวิตเหยื่อ และหยุดยั้งการใช้การข่มขืนเป็นเครื่องมือในสงครามในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก นิลูฟาร์ ฮาเมดี และเอลาเฮ โมฮาเมดี นักข่าวอิหร่านที่เปิดเรื่องราวการเสียชีวิตของ มาห์ซา อะมินี ที่นำไปสู่การประท้วงใหญ่ในอิหร่านเมื่อปี 2022 องค์กร Truth Hounds ที่มีบทบาทในการเปิดเผยอาชญากรรมสงครามในยูเครนจากการรุกรานของรัสเซีย และองค์กร Syrian Center for Media and Freedom of Expression สำหรับการรณรงค์ด้านสิทธิและเสรีภาพในประเทศซีเรีย
ทั้งนี้ ศูนย์ทนายฯ ก่อตั้งขึ้นไม่กี่วันหลังผู้นำเหล่าทัพและฝ่ายความมั่นคง ใช้กำลังยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่นำโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในเดือนพฤษภาคม 2014 และมีการเรียกบุคคลไปรายงานตัว จับกุม คุมขัง และนำประชาชนขึ้นไต่สวนบนศาลทหาร โดยศูนย์ทนายฯ ทำหน้าที่บันทึกข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทย ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ได้รับผลกระทบ และเผยแพร่ความรู้เรื่องกฎหมายและการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
ข้อมูลจากศูนย์ทนายฯ บันทึกว่า นับตั้งแต่การชุมนุมที่เรียกร้องการปฏิรูปการเมืองและปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เมื่อปี 2020 จนถึงเดือนสิงหาคม 2023 มีประชาชนถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและแสดงความเห็นทางการเมืองแล้วอย่างน้อย 1,925 คน ในจำนวนดังกล่าวมี 257 คนที่ถูกดำเนินคดีโดยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
สำหรับกำหนดการรับรางวัลจะมีขึ้น ที่ห้องสมุดสาธารณะ นครนิวยอร์ก ในเดือนกันยายนนี้
- ที่มา: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน