"ผมมา (ร่วมนิทรรศการโฉมหน้าเหยื่อ 112) เพราะว่า ตามความคิดเห็นส่วนตัวก็คือ รู้ดีกว่าไม่รู้ แต่ละคนก็มีความคิดเห็นและว่ามุมมองที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งมาจากประสบการณ์ของตัวเอง”
ในวันจันทร์ (18 ก.ย.) ที่ผ่านมาตามเวลาในสหรัฐฯ คุณวัชเรศร วิวัชรวงศ์ หรือ “ท่านอ้น"โอรสคนที่ 2 ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ขณะดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เดินทางไปร่วมชมนิทรรศการ “โฉมหน้าเหยื่อ 112” (Faces of Victims of 112) ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในนครนิวยอร์ก
รู้ไว้ดีกว่าที่จะไม่รู้ จะเชื่อหรือว่าจะเห็นด้วยไม่เห็นด้วย ก็เรื่องของส่วนตัว มาฟังไว้รับรู้ไว้เป็นสิ่งที่ดีที่สุดวัชเรศร วิวัชรวงศ์
“ไม่ว่าใครจะมีความคิดอย่างไร เราจะฟังหรือไม่ฟัง เขาก็มีความคิดนั้นอยู่ดี การที่เราไม่ฟังเขาก็ไม่ได้ทำให้ความคิดเห็นเขาหายไป เพราะฉะนั้นรู้ไว้ดีกว่าที่จะไม่รู้ จะเชื่อหรือว่าจะเห็นด้วยไม่เห็นด้วย ก็เรื่องของส่วนตัว มาฟังไว้รับรู้ไว้เป็นสิ่งที่ดีที่สุด”
Your browser doesn’t support HTML5
นิทรรศการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ 112Watch ที่ก่อตั้งโดย รศ.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเกียวโต เพื่อสร้างความตื่นตัวเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ผ่านรูปภาพและเรื่องราวของผู้ถูกดำเนินคดี 25 คน
“มัน based on ความคิดที่ว่างานศิลปะอาจจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยอธิบายสถานการณ์ได้ดี พอ ๆ กับการได้ไปเจอผู้คน...25 คนนี่ผมก็เลือกที่ทั้งเป็นคนที่มีคนรู้จักกันมาก กับในกรณีของหลาย ๆ คนที่ไม่มีใครรู้จักเลย มาผสมรวมกัน เพื่อจะได้มุมมองที่แตกต่างกันไป” นักวิชาการไทยกล่าว
บทบาทในการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ และการก่อตั้งกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส ที่เปิดให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กได้พูดถึงสถาบันฯ อย่างเปิดเผย ทำให้อาจารย์ปวินถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเช่นกัน
ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา นักวิชาการไทยที่ขอลี้ภัยในประเทศญี่ปุ่นได้รณรงค์ให้มีการปฏิรูป ม.112 ก่อนที่จะก่อตั้งโครงการ 112Watch เพื่อหาแนวร่วมจากต่างประเทศ ในการจัดการกับปัญหาที่เกิดจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว ซึ่งเขาบอกว่า ในช่วงแรก การเคลื่อนไหวยังเป็นไปอย่างจำกัด
“ประเทศไทยมักจะถูกเปรียบเทียบกับประเทศที่มีสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่แย่กว่ามาก ๆ เช่น พม่า ซึ่งมันไม่แฟร์ การละเมิดสิทธิมนุษยชนคือการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ว่ามันจะระดับความรุนแรงเป็นยังไง นี่ปัญหาแรก ปัญหาที่สอง คือความเกี่ยวข้องของ ม.112 กับสถาบันกษัตริย์ มันยังเป็นตัวแปรอันหนึ่งที่ทำให้ ประเทศหลาย ๆ ประเทศพูดออกมาได้ไม่เต็มปาก” อาจารย์ปวินกล่าว
อย่างไรก็ตาม อาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเกียวโตกล่าวว่า หลังจากที่เยาวชนคนหนุ่มสาวได้ออกมาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองและสถาบันกษัตริยในปี พ.ศ.2563 จนนำไปสู่การดำเนินคดีด้วย ม.112 ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ต่างชาติหันมาให้ความสำคัญ เพราะมองว่าเป็นปัญหาสิทธิมนุษยชน
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตาม ม.112 แล้วอย่างน้อย 257 คน จาก 278 คดี ในช่วงเวลาประมาณสองปีครึ่ง
นายกีรติ ผู้ไม่ขอเปิดเผยนามสกุล มาร่วมชมนิทรรศการ “โฉมหน้าเหยื่อ 112” และมองว่าถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยควรจะพิจารณาแก้ไข ม.112
“เราจะแก้ไขมันยังไงดี ให้มันมีความ...มีมาตรฐานในการใช้กฎหมาย หรือพูดถึงเรื่องจำนวนโทษที่อาจจะมากไปหรือน้อยไป มันถึงเวลาแล้วที่เราต้องมาคุยกันว่า ถ้าเปรียบเทียบกับกฎหมายบทอื่น ๆ หรือตัวอื่น ๆ มาตรา 112 โทษของมัน makes sense มั้ย โทษของมันเป็นไปตามที่มันควรจะเป็นหรือไม่”
ส่วน โรฮัน โจ-ลี (Rohan Zhou-Lee) นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวว่าเขามาร่วมงานเพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับกลุ่มคนชาวไทย ที่ต้องการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็น
“นิทรรศการนี้ ทำให้ผมได้เรียนรู้ว่ามีการนำเอา ม.112 มาใช้มากแค่ไหน และส่งผลต่อการแสดงออกทางประชาธิปไตยในทุกรูปแบบ และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างไรบ้าง ผมคิดว่ามันน่าตกใจที่ได้เห็นว่ามีผู้คนที่หลากหลายที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายนี้”
ผู้เข้าชมนิทรรศการหลายคนให้ความสนใจกับการปรากฎตัวของคุณวัชเรศร ที่ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงในการเดินชมนิทรรศการ พูดคุยกับอาจารย์ปวิน และถ่ายรูปกับผู้มาร่วมงาน โดยท่านอ้น ได้กล่าวกับวีโอเอไทยเกี่ยวกับ ม.112 ก่อนเดินทางกลับว่า
“เรื่องมาตรา 112 เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน มีความคิดเห็นกันทุกฝ่าย หลายฝ่าย หลายด้าน ก็ไม่ใช่ว่าฝ่ายไหนจะผิดฝ่ายไหนจะถูก แต่จริง ๆ แล้วขอให้ทุกฝ่ายฟังซึ่งกันและกัน มันก็มีเหตุผล เรามีความคิดเห็นยังไง เราฟังของอีกฝ่ายหนึ่งด้วย แล้วมาปรับความคิดของเราเอง"
ประเด็นนี้ไม่ใช่เป็นประเด็นว่าคุณเป็นเจ้าหรือไม่เป็นเจ้า ประเด็นนี้คือคุณเป็นคนหรือไม่เป็นคนรศ.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเกียวโต
ส่วน รศ.ปวิน มองว่าการมาชมนิทรรศการของท่านอ้น เป็นสัญลักษณ์ในเชิงบวก
"สำหรับผมก็คิดว่าเขายังเป็นส่วนหนึ่งของพระบรมวงศานุวงศ์ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลส่วนตัวอะไรก็ตามที่กลับเมืองไทยไม่ได้ แต่การที่เรามีคนที่เป็นสมาชิกของพระบรมวงศานุวงศ์มาชมนิทรรศการแบบนี้ ซึ่งหนึ่งเกี่ยวข้องกับเมืองไทย สองเกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน และสามประเด็นมาตรา 112 มันเป็นอะไรที่ผมคิดว่าน่าชื่นชม ประเด็นนี้ไม่ใช่เป็นประเด็นว่าคุณเป็นเจ้าหรือไม่เป็นเจ้า ประเด็นนี้คือคุณเป็นคนหรือไม่เป็นคน เท่านั้นแหละ"
นิทรรศการโฉมหน้าเหยื่อ 112 จะจัดแสดงที่ ลีรอย นีแมน แกลเลอรี (Leroy Neiman Gallery) มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ไปจนถึงวันที่ 25 กันยายน