Your browser doesn’t support HTML5
Your browser doesn’t support HTML5
“Home is here. Home is here. Home is here...”
เสียงร้องตะโกน Home is here หรือ “บ้านของเราอยู่ที่นี่” ดังกึกก้องไปทั่วบริเวณหน้าศาลฎีกาของสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตันดีซี เป็นเสียงของหนุ่มสาวหลายร้อยคน ที่เข้าเมืองโดยไม่มีเอกสารถูกต้อง หรือที่เรียกว่า undocumented immigrant พวกเขาต้องการตอกย้ำว่า อเมริกาคือ “บ้าน” ในวันที่ศาลสูงของประเทศเริ่มพิจารณาคดีสำคัญ ที่จะกำหนดว่าพวกเขาและอีกเกือบ 800,000 คน จะสามารถใช้ชีวิตและทำงานในอเมริกาต่อไปได้หรือไม่
คดีดังกล่าว เป็นคดีที่มีผู้ฟ้องร้องประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ประกาศยกเลิกโครงการ Deferred Action on Childhood Arrivals หรือ DACA ที่คุ้มครองบุคคลที่อพยพติดตามพ่อแม่เข้าอเมริกาอย่างผิดกฎหมาย ตั้งแต่วัยเยาว์ ไม่ให้ถูกดำเนินคดีหรือถูกส่งออกนอกประเทศ
โจทก์คนหนึ่งที่ร่วมฟ้องร้องรัฐบาลของทรัมป์ในครั้งนี้ คือ คุณจิรายุทธ ลัทธิวงศกร ชายหนุ่มเชื้อสายไทยวัย 29 ปี ผู้อาศัยอยู่ในอเมริกาโดยไม่มีวีซ่าถูกต้อง แต่ได้รับการคุ้มครองภายใต้โครงการ DACA เขาเดินทางมาจากรัฐแคลิฟอร์เนียเพื่อมานั่งฟังผู้พิพากษาศาลฎีกา 9 คน ไต่สวนคดีที่อาจจะพลิกอนาคตของเขาและผู้ร่วมชะตากรรมคนอื่น ๆ
“ได้เข้าไปนั่งแล้วก็เป็นตัวแทนของทุก ๆ คนที่อยู่ข้างนอกที่เขาไม่มีสิทธิเข้าไปข้างใน เป็นร้อย ๆ พัน ๆ คน เขาก็มา rally มาโชว์กันว่าวันนี้มีความสำคัญแค่ไหนกับ immigrant เป็นล้าน ๆ คน ในโอกาสนี้ผมก็อยากจะฟังว่า ในระหว่างที่เขาคุยกันเกี่ยวกับชีวิตเรา เขาจะตัดสินออกมาเป็นยังไง”
DACA เป็นโครงการที่อดีตประธานาธิบดีโอบามาเป็นผู้ประกาศบังคับใช้ โดยให้เหตุผลว่าเด็กและเยาวชนเหล่านี้เติบโต เรียนหนังสือ และใช้ชีวิตในอเมริกา ไม่ต่างจากคนอเมริกันทั่วไป เพียงแต่พวกเขาไม่มีเอกสาร หรือวีซ่า
ในขณะที่รัฐบาลของทรัมป์ มองว่า DACA เป็นโครงการที่ผิดกฎหมาย เพราะโอบามาประกาศใช้ตามอำเภอใจ โดยไม่ผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภา รัฐบาลทรัมป์ยังอ้างว่า DACA เป็นโครงการที่กระตุ้นให้มีเด็กและเยาวชนลักลอบเข้าอเมริกาผิดกฎหมายมากขึ้น และแย่งงานไปจากชาวอเมริกัน
พ่อแม่ของคุณจิรายุทธ หรือคุณนิว เดินทางมาอเมริกาด้วยวีซ่านักท่องเที่ยว ในปี พ.ศ. 2541 เพื่อหาช่องทางทำมาหากินและเริ่มต้นชีวิตใหม่ หลังจากที่ธุรกิจทำบ้านจัดสรรของพวกเขาในกรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี พ.ศ. 2540
หลังจากมาอยู่ได้หกเดือน จึงได้ให้ญาติพาลูกทั้งสามคน คือ คุณจิรายุทธ ลูกชายคนเล็กซึ่งขณะนั้นมีอายุ 9 ขวบ พร้อมพี่ชาย และพี่สาวมาอยู่ด้วย ซึ่งคุณนิวไม่รู้มาก่อนว่านั่นคือการย้ายบ้านถาวร ไม่ใช่แค่การมาเที่ยวอเมริกา
"ในห้องเล็ก ๆ ที่อยู่ด้วยกัน 5 คนเขาก็บอกว่า เราจะไม่กลับเมืองไทยแล้ว เราจะอยู่ที่นี่เลย อยู่ที่อเมริกาเลย ผมก็จำได้ว่า ตอนนั้นอายุ 9 ขวบ นึกถึงว่า อ้าว แล้วเพื่อนสนิทของผม แล้วของเล่นของผมจะเป็นยังไง"
ครอบครัวลัทธิวงศกรปักหลักอยู่ในแคลิฟอร์เนียตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยไม่มีวีซ่าที่ถูกต้อง ทำให้พวกเขาต้องคอยปิดบังสถานะของตัวเอง
ลูกทั้งสามคนได้เข้าเรียนหนังสือในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยของรัฐฯ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถเข้าถึงโอกาสหรือทรัพยากรบางอย่างได้ เช่น การขอทุนการศึกษาของรัฐ การกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา หรือการทำใบขับขี่ เพราะไม่มีวีซ่าที่ถูกต้อง และไม่มีหมายเลข Social Security ซึ่งเป็นหมายเลขประจำตัวที่ต้องใช้ทำธุรกรรมต่าง ๆ ในอเมริกา
คุณจิรายุทธเข้าร่วมโครงการ DACA ทันทีหลังจากที่มีการบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2555 สิทธิประโยชน์ของ DACA มีอายุครั้งละ 2 ปี และเปิดให้ต่ออายุได้ แต่จะไม่นำไปสู่การเป็นพลเมืองของสหรัฐฯ อย่างถาวรแต่อย่างใด
นอกจากจะได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายแล้ว DACA ยังทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถเรียนหนังสือ และขอใบประกอบอาชีพ หรือ work permit ได้
สำหรับคุณจิรายุทธ นั่นหมายถึงการได้เข้าเป็นนักเรียนแพทย์ ที่มหาวิทยาลัย University of California San Francisco หรือ UCSF ซึ่งเป็นสถาบันการแพทย์ชั้นนำของอเมริกา ก่อนจะสร้างประวัติศาสตร์ ด้วยการเป็นนักเรียนที่ไม่มีวีซ่าคนแรกที่เรียนจบจากคณะแพทยศาสตร์ UCSF เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ปัจจุบัน เขาเป็นแพทย์ฝึกหัด (resident) ณ โรงพยาบาล Zuckerberg San Francisco General Hospital and Trauma Center ในนครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย และอีก 3 ปีจะได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมเป็นหมอเต็มตัว
เขามองว่าโอกาสและความสำเร็จที่ได้รับจาก DACA ยิ่งให้ต้องต่อสู้เพื่อรักษาโครงการเอาไว้ เพื่อให้คนอื่น ๆ ได้เข้าถึงโอกาสดี ๆ เหมือนกัน เมื่อมีทนายมาชวนเป็นโจทก์ยื่นฟ้องทรัมป์ เขาจึงไม่ลังเล
"มันเป็นวิธีหนึ่งที่ผมได้ใช้เนื้อเรื่องของตัวเอง ได้ใช้ชีวิตของตัวเอง เพื่อช่วยสู้เพื่อทุกคน การที่นิวได้มาอยู่ถึงจุดนี้ ได้เรียนมาเป็นหมอ ได้มาอยู่อเมริกา ได้มีความสำเร็จ คือไม่ได้ทำคนเดียวเลยทั้งสิ้น มีคนไม่ว่าจะครอบครัว เพื่อน องค์กร งาน ที่ได้ช่วยมาทั้งหมด นิวเลยรู้สึกว่า เชื่อเลยว่า เป็นการรับผิดชอบของนิวนะครับ ที่จะได้ช่วยทุกคนสู้"
ว่าที่นายแพทย์จิรายุทธ ไม่ได้ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว เพราะหลายภาคส่วนในสังคม ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัย อัยการรัฐ ตลอดจนบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น ไมโครซอฟท์ ได้ออกมาสนับสนุนโครงการ DACA และฟ้องร้องรัฐบาลของทรัมป์ด้วยเช่นกัน ในขณะที่บริษัทอย่าง แอปเปิ้ล จ้างหนุ่มสาวที่เข้าร่วมโครงการ DACA กว่า 440 คน และมองว่าคนเหล่านี้เป็นทรัพยากรบุคคลชั้นดีของประเทศ
คาดกันว่า ศาลฎีกาของสหรัฐฯ จะมีคำตัดสินประมาณต้นหรือกลางปีหน้า คุณจิรายุทธแถลงการณ์ต่อหน้าสื่อมวลชนที่มารอทำข่าวว่า เขาหวังว่าผู้พิพากษาศาลสูงจะตัดสินให้โครงการ DACA คงอยู่ต่อไป
"Everyone is here to fight to be a part of the country we love. Everybody deserves happiness, deserves safety in a place we call home."
เขาบอกว่าทุกคนที่มารวมตัวกันวันนี้ต่อสู้เพื่อที่จะเป็นส่วนหนึ่งของประเทศที่พวกเขารัก และทุกคนก็ควรจะมีสิทธิได้รับความสุข และความปลอดภัยในที่ที่พวกเขาเรียกว่าบ้าน
รายงานโดย วรางคณา ชมชื่น Voice of America