สื่อต่างประเทศหลายแห่งรายงานข่าวเกี่ยวกับกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องในวันพฤหัสบดีที่ขอให้มีการพิจารณาคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากการแต่งตั้งทนายความที่เคยต้องโทษจำคุกเข้ารับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี
ข่าวเกี่ยวกับการที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลงมติ 6 ต่อ 3 เพื่อรับคำร้องดังกล่าวจากวุฒิสมาชิก 40 คน แต่มีมติ 5 ต่อ 4 ปฏิเสธคำร้องให้มีคำสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ของนายเศรษฐา เป็นประเด็นที่สื่อหลายแห่ง เช่น รอยเตอร์ เอพี อัลจาซีรา นิคเคอิเอเชียและบลูมเบิร์ก รายงานในวันพฤหัสบดี
คำร้องของสว.กลุ่มนี้อ้างอิงจากการที่นายกฯ เศรษฐาแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แม้จะเคยถูกจำคุกเป็นเวลา 6 เดือนเมื่อปี 2551 ในข้อหาหมิ่นประมาทศาลหลังพยายามติดสินบนผู้พิพากษาที่นั่งบัลลังก์พิจารณาคดีการซื้อที่ดินของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร
ศาลรัฐธรรมนูญระบุในรายละเอียดคำตัดสินรับคำร้องว่า เป็นเพราะ “นายเศรษฐา ... ได้นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายพิชิต ... เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้ง ๆ ที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า นายพิชิต ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากนายพิชิตเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริต และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง”
Your browser doesn’t support HTML5
คำตัดสินดังกล่าวมีออกมาขณะที่ นายกฯ เศรษฐา ยังคงปฏิบัติภารกิจอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น และบอกกับผู้สื่อข่าวที่ติดตามไปว่า ได้รับทราบเกี่ยวกับมติศาลแล้วและจะดูรายละเอียดและปรึกษากับที่ทีมกฎหมายเพื่อยื่นเรื่องชี้แจงกลับไป พร้อมยืนยันว่า ผู้สนับสนุนไม่ต้องกังวลอะไร เพราะตนมั่นใจว่า “ทำทุกอย่างด้วยความบริสุทธิ์ใจ”
ทั้งนี้ นายเศรษฐามีเวลา 15 วันที่จะชี้แจงข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญนับตั้งแต่วันที่ได้รับคำร้อง และหากถูกตัดสินว่ามีความผิด ก็อาจถูกปลดจากตำแหน่งได้
สำนักข่าวอัลจาซีรา รายงานว่า นักวิเคราะห์รายหนึ่งจากศูนย์วิจัยกสิกรที่ไม่ขอเปิดเผยตัว ให้ความเห็นว่า “เศรษฐายังคงปลอดภัยอยู่ ณ ตอนนี้” แต่ชี้ว่า ประเด็นอยู่ที่ว่า ศาลรัฐธรรมนูญนั้นยอมรับคำรองนี้ซึ่งมีนัยว่า ศาลเชื่อว่ามีประเด็นบางอย่างที่น่าสงสัยอยู่ในเรื่องนี้
สื่อแห่งนี้รายงานด้วยว่า นักวิเคราะห์หลายรายกล่าวว่า คำตัดสินของศาลที่จะไม่ออกคำสั่งให้นายเศรษฐาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ขณะที่พิจารณารายละเอียดคำร้องอีกข้อต่อไป เป็นการซื้อเวลาให้ทั้งตัวนายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทยไปอีกสักพัก
ขณะเดียวกัน ปีเตอร์ มัมฟอร์ด หัวหน้าฝ่ายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของบริษัทที่ปรึกษา Eurasia Group บอกกับสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ว่า “การยื่นคำร้อง(ของสว.) และการที่(ศาลรัฐธรรมนูญ)ยอมรับคำร้องไว้ เป็นเครื่องเตือนใจว่า กลุ่มอำนาจเดิมนั้นไม่ได้ไม่รู้สึกรู้สาอะไร และไม่ใช่ทุกคนที่พอใจกับการทำข้อตกลงระหว่างพรรคการเมืองหัวอนุรักษ์นิยมและพรรคเพื่อไทย”
อีกประเด็นที่สื่อต่างชาติหยิบยกขึ้นมารายงานจากเรื่องนี้ คือ การที่สมาชิกสภาสูงของไทยยื่นคำร้องต่อศาล แม้ว่าวาระการปฏิบัติหน้าที่จะหมดลงอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมาก็ตาม
สว.ไพฑูรย์ หลิมวัฒนา ซึ่งทำหน้าที่ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการเมืองวุฒิสภา บอกกับ เอพี ว่า การเรียกวุฒิสมาชิกรักษาการนั้นไม่ใช่นิยามที่ถูกต้องนัก เพราะวุฒิสภาก็ยังปฏิบัติหน้าที่เหมือนที่ผ่านมาและไม่ได้สูญเสียอำนาจการทำงานใด ๆ ไปเลย ยกเว้นแต่การที่ไม่สามารถลงมติรับรองแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้เท่านั้น
นอกจากนั้น ทั้งอัลจาซีราและเอพีให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญมีประวัติที่มักตัดสินคดีในแบบที่เข้าข้างกลุ่มอำนาจฝ่ายอนุรักษ์นิยมของไทยที่คอยระแวงพรรคการเมืองซึ่งนิยมใช้นโยบายประชานิยมอยู่เสมอ
- ที่มา: รอยเตอร์ เอพี อัลจาซีรา นิคเคอิเอเชียและบลูมเบิร์ก