ลิ้งค์เชื่อมต่อ

หลากมุมมองคนข่าว เสรีภาพสื่อไทยดีขึ้นหรือไม่ใน รบ.เศรษฐา


เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของไทยขณะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ณ อาคารที่ทำการพรรคเพื่อไทย วันที่ 24 สิงหาคม 2023 (ที่มา: Reuters)
เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของไทยขณะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ณ อาคารที่ทำการพรรคเพื่อไทย วันที่ 24 สิงหาคม 2023 (ที่มา: Reuters)

ในวาระโอกาสวันเสรีภาพสื่อโลก วีโอเอไทยคุยกับสื่อมวลชนมากประสบการณ์ในไทยในประเด็นการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายของสื่อภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ ที่แม้มีบรรยากาศเปิดมากขึ้น แต่ยังคงมีอุปสรรคในการทำงานภายใต้บริบทที่เปลี่ยนไป

เมื่อเดือนกรกฏาคม 2567 เฉลิมชัย ศิรินันทวิทยา บรรณาธิการข่าว นสพ. ทันหุ้น ที่ทำข่าวเกี่ยวกับหลักทรัพย์และการลงทุน พบกระสุนปืนสองนัดและรูปภาพของบุตรในกล่องพัสดุที่ส่งมาถึงตัวเขาที่สำนักงาน พร้อมข้อความว่า “กูให้มึง 7 วัน” โดยไม่สามารถสืบทราบถึงแรงจูงใจที่แท้จริง

ในวันต่อมา บ้านของบรรณาธิการบริหารของหนังสือพิมพ์ทันหุ้น ถูกมือมืดขว้างวัตถุคล้ายระเบิดใส่จำนวน 3 ลูก

เฉลิมชัยระบุว่า คดีความที่ได้แจ้งกับตำรวจไว้ แม้อยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน แต่ไม่ได้รับแจ้งความคืบหน้าในช่วงเวลา 2-3 เดือนหลังจากนั้น และการข่มขู่เช่นนี้ก็ทำให้ทีมงานหลายคน “วิตกในด้านความปลอดภัยต่อตนเอง และบุคคลในครอบครัวเป็นอย่างมาก” อ้างอิงตามแถลงการณ์สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

การข่มขู่และเส้นทางทางคดีที่คาบเกี่ยวในช่วงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากรัฐบาลประยุทธ์ 2 สู่รัฐบาลเศรษฐา 1 คืออีกหนึ่งกรณีของแรงเสียดทานในวงการสื่อมวลชนที่ยังคงเกิดขึ้น แม้บริบททางการเมืองจะเปิดกว้างมากขึ้นหลังการเลือกตั้งและผลัดเปลี่ยนการนำรัฐนาวา

เนื่องในวาระวันเสรีภาพสื่อโลก (3 พฤษภาคม) วีโอเอไทยคุยกับสื่อมวลชนและตัวแทนจากฝ่ายรัฐเพื่อสำรวจบรรยากาศการทำงานของสื่อมวลชนไทยเมื่อย่างเข้าเดือนที่ 8 ของรัฐบาลเพื่อไทย ที่แม้หลายเสียงจะเห็นพ้องว่าบรรยากาศเปิดขึ้น แต่ยังคงมีข้อจำกัดที่สามารถแก้ไขและปรับปรุงได้อีก

บรรยากาศเปิดมากขึ้น แต่ยังเปิดได้อีก

สุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส และหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเครือเนชั่น ให้ข้อมูลกับวีโอเอไทยว่า แม้บรรยากาศในการทำงานของสื่อจะเปิดกว้างขึ้น แต่รัฐบาลต้องให้สื่อมวลชนเข้าถึงข้อมูลมากขึ้น ทั้งจากตัวบุคคล และจากกลไกตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารทางราชการ (พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ) ที่จำเป็นต้องแก้ไขให้เป็นไปตามหลักสากล ให้การเปิดข้อมูลเป็นเรื่องหลัก ส่วนการปิดต้องทำเป็นรายกรณีและมีเหตุผลที่ชัดเจน

สุทธิชัย หยุ่น
สุทธิชัย หยุ่น

“เวลาที่นักข่าวขอให้มีการแถลงข่าว ให้ทุกกระทรวงทบวงกรมมาตอบคำถามก็ยังไม่เกิด นายกฯ ก็ยังใช้วิธีการเหมือนนายกฯ ประยุทธ์ ก็คือยืนอยู่หน้าทำเนียบ นักข่าวตะโกนถามคำถามหนึ่ง ก็ตอบคำถามหนึ่ง แต่ในลักษณะที่เป็นมืออาชีพกว่านี้ คือการตั้งโต๊ะและตอบคำถามอย่างละเอียด ตอบครบถ้วนทุกแง่มุมยังไม่เกิด

“ผมคิดว่าตรงนี้อาจจะไม่เกี่ยวกับการไม่อยากจะตอบ แต่วิธีการบริหารให้มีความเป็นมืออาชีพในการที่จะได้ข้อมูลจริงจัง ละเอียด และลงไปถึงรายละเอียดนั้นยังไม่เกิด” สุทธิชัยกล่าว

พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับปัจจุบัน ที่เริ่มบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2540 แม้เป็นพื้นฐานที่ทำให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลราชการหลายอย่าง เช่น โครงสร้างองค์กร มติคณะรัฐมนตรี หรือกฎต่าง ๆ แต่กระบวนการขอข้อมูลทางราชการในรัฐบาลที่แล้ว มีข้อทักท้วงถึงความล่าช้าและความไม่เข้าใจของหน่วยงานราชการต่อข้อมูลที่ร้องขอ เช่นกรณีสื่อ เดอะแมตเตอร์ ที่ใช้เวลาถึง 4 ปี ในการขอข้อมูลรายงานการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

เมื่อปี 2564 คณะรัฐมนตรีชุดก่อนหน้าได้รับรองร่างแก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ที่สื่อและภาคประชาสังคมห่วงกังวลว่าจะเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่รัฐในการปกปิดข้อมูลได้มากขึ้น แต่จากการสืบค้นก็ยังไม่มีการนำร่างฉบับนี้เข้าสู่รัฐสภาเพื่อรับรองจนถึงปัจจุบัน

อุษา มีชารี อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่ายังเห็นคนจากฝ่ายการเมืองเข้ามาทักท้วงการนำเสนอข่าว

อุษา มีชารี
อุษา มีชารี

“เริ่มเข้ามาก็ 2-3 เดือนที่แล้ว รัฐบาลกำลังทำงานตีปี๊บ สื่อก็ทำงานเป็นเสียงสะท้อนไปว่าแบบนี้จะดีหรือไม่ดี แล้วพอออกมาเป็นภาพลบกับรัฐบาลก็จะมีโทรมาหาหัวหน้าข่าวแล้วว่าทำไมเสนอข่าวแบบนี้ หรือรู้จักคนนี้ไหม คอลัมนิสต์คนนี้ทำไมเสนอข่าวแบบนี้ หรือถามว่า ทำไมวันนี้พาดหัวแบบนี้”

ชัย วัชรงค์ โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงกับวีโอเอไทยว่า รัฐบาลไม่เคยมีนโยบายห้ามนำเสนอข่าวในทิศทางที่เป็นลบ ในกรณีที่มีการไปทักท้วงสื่อนั้นอาจเป็นเรื่องส่วนบุคคล และหากสื่อมวลชนมีปัญหาในการใช้งาน พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ และมีการร้องเรียนขึ้นมา ก็คิดว่ารัฐบาลคงจะไม่รีรอที่จะแก้ไขปัญหา

“เจ็ดเดือนที่ผ่านมาภายใต้รัฐบาลเศรษฐา รัฐบาลได้แสดงออกโดยพฤตินัยเป็นที่เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลให้ความเคารพ ยอมรับในเสรีภาพของสื่อมวลชน เวลานายกฯ ไปทำกิจกรรมที่ไหนก็ตาม ไปต่างประเทศหรือที่ไหน ก็จะมีสื่อมวลชนให้ไปสำรวจ ติดตาม และไม่เคยปิดกั้นคำถามหรือข้อสงสัยต่าง ๆ”

“ไม่เคยได้ยินคำสั่งหรือท่าทีใด ๆ ที่จะไปกดดันเจ้าหน้าที่ว่าจะต้องปิดบังข้อมูล หรือกดดันไปว่าไม่ให้ข้อมูล เรื่องนี้เราปล่อยฟรีเลย กฎหมาย ระเบียบกฎเกณฑ์เป็นอย่างไรให้ว่าไปตามนั้น แต่ก็ต้องเรียนว่าระบบราชการไทยมีวัฒนธรรม มีวิธีคิด มีประเพณีอะไรที่ปลูกฝังมาอย่างยาวนาน วิธีการตีความข้อกฎหมายอาจจะไม่เอื้อต่อหลักการสากลอย่างเต็มร้อย” ชัย กล่าว

มีเสรีภาพเป็นบางส่วน

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว เดอะรีพอร์ตเตอร์ส (The Reporters) มองว่าบรรยากาศการทำงานของสื่อมวลชนในปัจจุบันนั้นเปิดกว้างขึ้น เข้าถึงผู้กำหนดนโยบายง่ายขึ้น พื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา ก็เปิดต่อการทำข่าวมากขึ้น แต่การทำข่าวกรณีปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพยังคงมีความเสี่ยง แม้เรื่องเหล่านี้มีพื้นที่ในสื่อมากขึ้นหลังกระแสการชุมนุมเมื่อปี 2563 ก็ตาม

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย
ฐปณีย์ เอียดศรีไชย

หนึ่งกรณีที่สะท้อนถึงความเสี่ยงข้างต้น คือการจับกุมผู้สื่อข่าวสำนักข่าวประชาไทและช่างภาพอิสระเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังจากทั้งสองคนไปทำข่าวกิจกรรมทางการเมืองที่กำแพงพระบรมมหาราชวังเมื่อปี 2566

ในกรณีการทำข่าวประเด็นกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สุทธิชัยมองว่า หากรัฐบาลต้องการให้เรื่องนี้ไม่มีลักษณะที่ลี้ลับ ก็ควรตั้งหลักในการถกแถลงและให้ข้อมูล เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่พูดจากันอย่างกว้างขวางแล้วในสภา ในสื่อสังคมออนไลน์ และสื่อต่างประเทศ

“ผมคิดว่ารัฐบาลยังไม่เผชิญกับความเป็นจริงว่า ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สังคมต้องการให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันกว้างขวางกว่าที่เป็นอยู่” สุทธิชัยกล่าว

รายงานประจำปี 2566 ขององค์กรติดตามสถานการณ์เสรีภาพโลก Freedom House ปรับอันดับของไทยขึ้นจาก “ไม่เสรี” ให้เป็น ‘มีเสรีภาพบางส่วน’ เนื่องจากมีการเลือกตั้งที่เปิดกว้างและมีการแข่งขัน แต่ยังคงมีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารที่สามารถกำหนดทิศทางทางการเมืองได้ เช่น การขัดขวางไม่ให้พรรคที่ได้คะแนนเสียงเลือกตั้งมากที่สุดอย่างพรรคก้าวไกลสามารถจัดตั้งรัฐบาล

เมื่อครั้งที่นายกฯ เศรษฐาเดินทางมาประชุมในเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ที่ประเทศสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว ก็ได้ปฏิเสธให้สัมภาษณ์วีโอเอไทย โดยเดิมทีนั้น ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่ามีสาเหตุมาจากประเด็นทางการเมือง

ในกรณีนี้ ชัย โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ข้อมูลกับวีโอเอไทยว่าเกิดจากการสื่อสารที่ผิดพลาดของทีมงาน เพราะเดิมทีนายกฯ จะไม่ให้สัมภาษณ์พิเศษกับสื่อไทยสำนักใดอยู่แล้ว แต่ทีมงานที่มาแจ้งข้อมูลกลับระบุเป็นอีกอย่าง

ชัย วัชรงค์
ชัย วัชรงค์

“พอสัมภาษณ์กลุ่มจบ คนบอกท่านนายกฯ ว่าเดี๋ยวมีวีโอเอ นายกฯ เลยบอกว่า เอ็กซ์คลูซีฟ (สัมภาษณ์พิเศษ) ไม่เอา แต่เขาไม่ได้บอกผมแบบนั้นแต่ต้น มาบอกนายกฯ ไม่ให้สัมภาษณ์ เพราะรู้สึกว่าวีโอเอค่อนข้างจะสนับสนุนคู่แข่งทางการเมืองมากไป” โฆษกรัฐบาลกล่าว

ในช่วงการเดินทางมาเยือนสหรัฐฯ เพื่อร่วมประชุมเวทีนานาชาติทั้ง APEC และเวทีสหประชาชาติ วีโอเอไทยได้ทำหนังสือเพื่อขอขอสัมภาษณ์นายกฯ มาโดยตลอด แต่ไม่ได้รับการตอบรับ

รอดจากอำนาจรัฐ มาเจออำนาจทุน

สำหรับทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวจากวอยซ์ทีวี ที่เคยถูกจับกุมจากการทำข่าวในสมัยรัฐบาลทหาร มีมุมมองเกี่ยวกับเสรีภาพสื่อในยุครัฐบาลเศรษฐาต่างออกไป

ทวีศักดิ์ ที่ขณะนั้นเป็นผู้สื่อข่าวสำนักข่าวประชาไท ถูกจับกุมที่ จ.ราชบุรีในปี 2559 ขณะที่ทำข่าวการรณรงค์โหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ในกระบวนการประชามติ ซึ่งภายใต้กฎหมาย ณ ขณะนั้น การรณรงค์ให้โหวตไม่รับร่างฯ อาจถูกตีความได้ว่ามีโทษทางอาญา

ทวีศักดิ์ เกิดโภคา
ทวีศักดิ์ เกิดโภคา

การจับกุมนำไปสู่การไต่สวนบนชั้นศาลนานสามปี ก่อนได้รับคำพิพากษายกฟ้องในชั้นฎีกา

ทวีศักดิ์มองว่าปัจจุบันสื่อสามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้อย่างเต็มที่ สะท้อนจากการที่ไม่มีรัฐมนตรีคนใดลอยตัวเหนือการถูกตั้งคำถาม

“ถ้าคุมสื่อมันต้องไม่มีเรื่องของการวิพากษ์วิจารณ์เลย คนของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีจากพรรคไหน ก็ต้องลอยตัว ไม่โดนแรงเสียดทานใด ๆ ทั้งสิ้น แต่นี่โดนทุกที่ โดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักมาตั้งแต่ก่อนจัดตั้งรัฐบาลแล้วด้วยซ้ำ”

ไม่นานมานี้ วอยซ์ทีวีเพิ่งประกาศว่าจะปิดตัวลงในกลางเดือนพฤษภาคมนี้ หลังได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตผลประกอบการในอุตสาหกรรมสื่ออย่างต่อเนื่อง ซึ่งลูกจ้างอย่างทวีศักดิ์มองว่าการลาโรงของวอยซ์ทีวี ได้จุดคำถามตัวโตให้กับคนข่าวในสังกัดอื่น ๆ เช่นกันในแง่ของความมั่นคงในวิชาชีพนี้

“หลายคนก็รู้สึกว่าวอยซ์มั่นคง เพราะแม้ว่าจะเป็นบริษัทเอกชนที่แสวงหากำไร แต่ก็ไม่เคยได้กำไรตลอด 15 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีอยู่จนถึงวันสุดท้าย”

“ประเด็นก็คือสื่อในที่อื่น ๆ ถ้าขาดทุนสะสมมาเรื่อย ๆ แบบนี้ ก็เป็นความเสี่ยงที่เขาจะปลิวได้เหมือนกัน” ทวีศักดิ์กล่าว

ฐปณีย์ สื่อภาคสนามที่มาเปิดสำนักข่าวออนไลน์ ก็แสดงความกังวลถึงบทบาทของทุนในยุคที่รายได้ของอุตสาหกรรมสื่อลดลงและการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้สื่อตัดสินใจไม่รายงานบางเรื่องเพื่อรักษาทุนหรือผลประโยชน์เอาไว้

“มันโดนโดยปริยายอยู่แล้วสำหรับเราที่ทำข่าวเกี่ยวกับการเมือง เกี่ยวกับความมั่นคง เกี่ยวกับอะไรก็แล้วแต่ที่ขัดแย้งกับรัฐหรือนโยบายรัฐ ทุนก็ไม่ได้แฮปปี้ที่จะมาโฆษณากับเราโดยธรรมชาติ ถ้าเราไม่ได้ทำข่าวที่อาจจะไม่ใช่แง่บวก”

“ถ้าหากว่าเราทำข่าวที่ไปขัดแย้งหรือไม่ได้เป็นผลบวกกับองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ โอกาสที่จะได้ทุนหรือได้โฆษณามันก็ดูยากขึ้น เพราะถ้าเรายอม ก็ต้อง PR (ประชาสัมพันธ์) เต็มที่ เรารู้สึกว่าบรรยากาศมันกลับมาทำให้สื่อต้องเซ็นเซอร์ตัวเองและจำกัดสิทธิ เสรีภาพของตัวเอง เพราะการไม่สามารถปฏิเสธทุนได้”

อุษาจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ เรียกร้องให้รัฐและทุนปล่อยให้สื่อทำหน้าที่ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่รอบด้าน เปิดกว้าง และถูกต้องแม่นยำ

“ภาครัฐควรที่จะเปิดกว้างและให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชน กับสื่อมวลชน เพื่อที่สื่อจะได้นำเสนอให้ครบถ้วนรอบด้าน และไม่ควรจะสื่อสารทางเดียว ควรจะเปิดเวทีในการพูดคุย ในการที่จะทำความเข้าใจให้หลากหลายมากขึ้น”

“สื่อเองก็ต้องทำอะไรที่ระมัดระวังและรอบคอบมากขึ้น การที่จะให้ทุนมาสนับสนุน ก็ต้องเปิดโอกาสให้สื่อทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงและกระจกสะท้อนให้กับสังคมและรัฐบาล เพื่อให้เกิดความกระจ่าง เกิดการตรวจสอบและโปร่งใส มันคือโอกาสที่จะพัฒนาประเทศไปด้วยกันว่าเราจะไปร่วมกันยังไง ไม่ให้เกิดความขัดแย้ง เกิดการแบ่งสีเสื้อกันเหมือนเมื่อก่อน” อุษากล่าว

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG