Your browser doesn’t support HTML5
ประภาพร คัมภิรานนท์ คนไทยในมหานครนิวยอร์กเชื่อว่าเธอเป็นคนสุขภาพดีแข็งแรงคนหนึ่ง ในวัย 40 ปี เธอไม่เคยมีโรคประจำตัว ไม่เคยต้องทานยาหรือไปหาหมอเวลาเป็นหวัดหรือมีไข้ เพราะฉะนั้นเมื่อกลางเดือนมีนาคม ที่เธอมีอาการปวดหัว ตัวร้อน ติดต่อกันสามวัน เธอจึงไม่ได้คิดว่านี่จะเป็นอาการเริ่มต้นของโควิด-19 ที่ขณะนั้นมีผู้ติดเชื้อในรัฐนิวยอร์กไม่ถึงหนึ่งพันราย
“พอวันที่ 4-6 หายเป็นปลิดทิ้ง ออกไปเดินเล่นได้ตามปกติ ก็นึกว่าหายแล้ว พอวันที่ 7 ตื่นมาไข้ขึ้น ไป 102 องศาฟาเรนไฮต์ น่าจะประมาณ 38 (องศาเซลเซียส) กว่า หลังจากนั้นก็ซมเลย...ที่คิดว่าเริ่มเป็นโควิดก็คือกลับมาเป็นไข้อีกรอบ ระยะเวลามันถึงสิบวันแล้ว มันไม่เคยเกิดขึ้นในชีวิต”
ช่วงเวลาหลายสัปดาห์หลังจากนั้น เป็นช่วงเวลาที่ประภาพร ครูสอนโยคะ ต้องต่อสู้กับอาการเจ็บป่วยที่เธอบอกว่าเลวร้ายและยาวนานที่สุดในชีวิต
“เป็นความกลัวอย่างมหาศาลเลยค่ะ คือการปวดหัว ตัวร้อน ปวดตัว ปลาทนได้นะคะ...แต่กรณีที่เจ็บปอด คือ (ทำท่าสูดหายใจ) หายใจแบบนี้ค่ะ เจ็บ เสียด เหมือนมีอะไรมากดทับ แถมหายใจแล้วมันเหมือนกับว่าลมหายใจมันมาแค่ครึ่งปอด ถามว่ากลัวมั้ย กลัวมาก...คนมันไม่เคยป่วย จิตมันก็ไม่เคยเป็นแบบนี้ จิตหลุดมาก ร้องไห้ ยืนร้องไห้กับตัวเอง ทำไม เกิดอะไรขึ้น แต่ก็ต้องเรียกสติคืนกลับมาให้เร็วที่สุด”
Your browser doesn’t support HTML5
ความยากลำบากของการตรวจหาเชื้อ เมื่อโควิด-19 ปะทุในสหรัฐฯ
ปัญหาใหญ่ในการรับมือกับโควิด-19 ของสหรัฐฯ คือการขาดแคลนชุดตรวจหาเชื้อไวรัส โดยเฉพาะในช่วงแรกที่มีการระบาด ทำให้การตรวจหาและยืนยันผู้ติดเชื้อเป็นไปอย่างเชื่องช้าและอยู่ในวงจำกัด ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ประภาพร เจอกับตัวเอง
“ปลาก็พยายามเริ่มโทร. หา coronavirus hotline (สายด่วนโคโรนาไวรัส) เพื่อขอตรวจแบบ Drive Thru (การรับบริการตรวจโดยนั่งอยู่ในรถยนต์ส่วนตัว) ไม่ใช่ว่าเอะอะจะขับรถไปได้เลย ต้องโทร.ไปในฮอทไลน์ และได้รับการ approve (อนุญาตให้ตรวจ) ได้ approve 2 รอบ แต่เท่านั้นยังไม่พอ มันต้องรอให้เขาโทร.หามือถือเรา แล้วบอกว่าให้เราไปเทสต์ที่ไหน ณ ตอนนี้ ระยะเวลาผ่านไป 30 วันก็ยังไม่มีใครโทร.มา ปลาก็ follow up (ตามเรื่อง)ไปแล้ว คิดว่าตอนนั้นเป็นช่วงที่คนเป็นมาก ๆ แล้ว เขาต้อง prioritize (จัดลำดับความสำคัญ) ว่าใครที่เขาจะโทร.ก่อน โทร.หลัง”
คนไข้ล้น แพทย์ เครื่องมือไม่พอ: ภาพสะท้อนจากนิวยอร์ก ศูนย์กลางการระบาดโควิด-19
ครูสอนโยคะชาวไทยในนิวยอร์กยังเล่าว่าการจะเข้ารับการรักษา ยังเป็นไปได้ยากมาก รัฐนิวยอร์กกลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 โรงพยาบาลแทบทุกแห่งต้องเจอกับปัญหาคนไข้ล้น บุคลากรการแพทย์และเครื่องมือไม่เพียงพอ หนทางเดียวที่อาจจะได้รับการรักษา คือต้องไปต่อคิวที่แผนกฉุกเฉิน หรือ ER (emergency room) ที่นอกจากจะต้องรอหลายชั่วโมงแล้ว ยังไม่มีอะไรการันตีว่าเธอจะได้รับการรักษา หรือได้ admit เป็นผู้ป่วยใน
"คนที่เป็นโควิด-19 แล้วจะได้รับการรักษาหรือได้เจอหมอในนิวยอร์กซิตี้ ก็คือต้องเข้าห้องฉุกเฉินเท่านั้น แล้วก็ criteria ของคนที่จะได้แอดมิทเข้าโรงพยาบาล ก็คือ เอาง่าย ๆ เลยนะคะ คือต้องใกล้ตายแล้ว ต้องไม่สามารถหายใจเองได้แล้ว ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือมี heart attack (หัวใจวาย) หรือ อวัยวะภายในล้มเหลว”
ทางเลือกของประภาพรคือบริการ virtual doctor หรือการพบหมอผ่านระบบวีดีโอคอล ซึ่งเธอปรึกษาแพทย์ผ่านระบบออนไลน์ไปทั้งหมด 4 ครั้ง เริ่มตั้งแต่มีอาการเป็นไข้สูง อ่อนเพลียไร้เรี่ยวแรง จนกระทั่งมีอาการเจ็บบริเวณปอด และหายใจลำบาก เธอจึงไปเอ๊กซ์เรย์ที่คลีนิคแห่งหนึ่ง ซึ่งผลออกมาพบว่ามีจุดขาวจาง ๆ บริเวณปอดขวาด้านล่าง
“ก็ได้รับการยืนยันจากหมอแล้วว่าดูจากอาการ และระยะเวลาที่ไข้ฟักตัว ก็เป็นโควิด-19 แหละ แต่ไม่ได้รับการยืนยันโดยการ test...ผลของปอดบวมมันทำให้หายใจไม่ได้ มันทำให้ freak out (ตระหนกตกใจ) มาก แล้วก็เศร้ามากตรงที่ว่า ถ้าอาการขนาดนี้ เราอยู่เมืองไทย เราสบายแล้ว เราอยู่กับหมอ เรามีผู้รู้ที่รู้ว่า next step (ขั้นตอนต่อไป) คืออะไร อาการแบบนี้ แก้ไขยังไง อย่างน้อยใจเราไม่ว้าวุ่น มันก็คลายกังวลได้”
ยาต้านมาลาเรีย Hydroxychloroquine: ทางเลือกอันตรายเมื่อไร้ทางเลือก
ในด้านการรักษา ประภาพร หรือ ปลา เล่าว่าเป็นการรักษาตามอาการ คือทานยาลดไข้ และทานยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาอาการปวดบวมหรือปอดอักเสบ แต่สิ่งที่ทำให้เธอต้องคิดหนักมากที่สุด คือการชั่งใจว่าจะใช้ยาไฮดรอกซีคลอโรควิน (hydroxychloroquine) ยาต้านมาลาเรีย ดีหรือไม่ ซึ่งเป็นยาที่เหลือตกทอดมาจากเพื่อนของเธอ ผู้ป่วยโควิด-19 เช่นกัน
ในขณะนั้นยังไม่มีงานวิจัยยืนยันว่ายาต้านมาลาเรียรักษาโควิด-19 ได้หรือไม่ และยังเป็นยาที่ส่งผลข้างเคียงรุนแรง
“ต้อง research (ค้นหาข้อมูล) เอง ถามเพื่อนคนโน้นคนนี้ ถามเพื่อนที่เป็นหมอที่เมืองไทยด้วย...แต่ก็คิดว่าไม่มีทางเลือกแล้วแหละ คอร์สที่ทาน 6 วัน หกวันนั้นทั้งไมเกรน, ทั้ง vertigo (อาการเวียนศรีษะบ้านหมุน), ปวดหัว รวมสุมอยู่ เบ้าตาปลานี่คือแทบจะทะลักออกมาเลย แล้วก็คลื่นไส้ตลอดเวลา หกวันนั้นคือนอนซมอย่างเดียว แต่ในขณะที่นอนซม รู้สึกว่าการหายใจเริ่มดีขึ้น ก็พอทานครบหกวัน ก็ครบหนึ่งอาทิตย์พอดีจากการไปเอกซ์เรย์ปอดครั้งแรก ก็เลยไปเอ๊กซ์เรย์อีกครั้งหนึ่ง หมอบอกว่ามันจางลง อาการดีขึ้นแล้ว”
งานวิจัยล่าสุดโดยรัฐบาลสหรัฐฯ ชี้ให้เห็นแล้วว่ายาต้านมาลาเรียไฮดรอกซีคลอโรควิน ไม่ได้มีประโยชน์ด้านการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เลย ยิ่งไปกว่านั้น อาจทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้น
"ไม่มีอะไรมีค่าไปว่าสุขภาพและชีวิตของตัวเอง"
หลังจากผ่านไปหกสัปดาห์ ประภาพรเริ่มกลับมาสอนโยคะผ่านระบบออนไลน์ วันละประมาณ 1-2 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับชั่วโมงการทำงานก่อนที่จะมีมาตรการล็อคดาวน์ป้องกันการระบาดของโควิด-19 แต่เธอกลับมองว่าการทำงาน ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดในเวลานี้
“ตอนนิวยอร์กเริ่มมีการ quarantine ต้องปิดสตูดิโอ ที่สอนที่อื่นก็ยกเลิกหมดเลย ตอนนั้นกังวลมาเรื่องเงิน ว่าจะ support ตัวเองยังไง จะอีกนานแค่ไหน อาทิตย์แรกที่อยู่บ้านรู้สึกเบื่อมาก รู้สึกเแบบว่าหายใจทิ้งไว้วัน ๆ แต่พอมาป่วย รู้สึกว่าไม่มีอะไรมีค่าไปกว่าสุขภาพและชีวิตของตัวเองแล้ว สุขภาพมาก่อน เงินมาทีหลัง อาชีพ ทุกอย่างมันรอได้ รอได้จริง ๆ”
ปัจจุบัน ประภาพร ยังคงเป็นผู้ป่วยโควิด-19 อย่างไม่เป็นทางการของมหานครนิวยอร์ก เช่นเดียวกับอีกหลายคนที่ไม่ได้รับการตรวจหรือไม่แสดงอาการ ที่ผ่านมาสหรัฐฯ ได้เร่งเครื่องให้มีการตรวจหาเชื้อไวรัสมากขึ้น แต่ผู้เชี่ยวชาญและผู้นำหลายรัฐมองว่ายังไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้ต่อสู้กับวิกฤติโควิด ที่โจมตีอเมริกาอย่างหนักหน่วงจวบจนถึงทุกวันนี้
รายงานโดย วรางคณา ชมชื่น Voice of America กรุงวอชิงตัน