ข้อพิพาทครั้งใหม่ "ไทย-กัมพูชา" ผ่านวัฒนธรรม 'โขน' มรดกร่วมทางประวัติศาสตร์

FILE - Thai student actress perform at Thai traditional “Khon” theater in Bangkok on March 22, 2016.

นักประวัติศาสตร์ระบุว่าศิลปะการแสดงแบบนี้เป็นมรดกร่วมของคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สืบทอดจากมหากาพย์รามายณะ ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากอายธรรมฮินดูในอินเดีย

ผู้สื่อข่าววอยซ์ออฟอเมริกา Steve Herman รายงานข่าวจากกรุงเทพมหานคร ถึงกรณีประเด็นความขัดแย้งครั้งใหม่ระหว่างไทยและกัมพูชา กรณีที่ทางการไทยเตรียมขอขึ้นทะเบียนศิลปะการแสดง 'โขน' กับ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นมรดกโลกด้านวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

จนกลายเป็นประเด็นขัดแย้ง ที่ชาวกัมพูชาแสดงความไม่พอใจอย่างกว้างขวางผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์

ผู้สื่อข่าววีโอเออ้างการสัมภาษณ์ นางสาว Duong Bich Hanh หัวหน้าหน่วยวัฒนธรรม สำนักงานภูมิภาคองค์การยูเนสโก ที่กรุงเทพมหานคร ที่เปิดเผยว่า การขอจดทะเบียนในลักษณะนี้อาจมีการอ้างกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอนุสัญญาการปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

หัวหน้าหน่วยวัฒนธรรมสำนักงานภูมิภาคองค์การยูเนสโก บอกว่า การขอขึ้นทะเบียนของไทยนั้นอาจจะยังไม่มีการดำเนินการในเร็วๆนี้ เพราะประเทศไทยยังไม่ได้เป็น 1 ในสมาชิก 167 ประเทศที่ให้สัตยาบันรับรองอนสัญญาดังกล่าว ขณะที่กัมพูชามีความได้เปรียบในเรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมา กัมพูชาได้จดทะเบียนศิลปะการแสดง 'ละโคนพระกรุณา' หรือ Royal ballet of Cambodia ซึ่งเป็นลักษณะการแสดงรามเกียรติ์ที่สวมหน้ากากในลักษณะเดียวกับโขนของไทย เอาไว้แล้วตั้งแต่ปี ค.ศ.2008

แต่เธอคิดว่าทั้งสองประเทศอาจสามารถหาทางออกร่วมกันได้

ผู้สื่อข่าววีโอเอรายงานด้วยว่า กระแสการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของชาวกัมพูชา ที่แสดงความไม่พอใจในเรื่องการเตรียมจดทะเบียน "โขน (Khon)" หรือ ที่ในกัมพูชาเรียกว่า "Khol"และในลาวเรียกว่า "พระรักพระราม" นั้น มีการกล่าวหาว่าไทยลอกเลียนแบบศิลปะการแสดงของกัมพูชา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เฟสบุคของกระทรวงวัฒนธรรมของกัมพูชา ซึ่งระบุว่า 'การอ้างว่าโขนเป็นมรดกของไทย นั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ'

ข้อความดังกล่าวมีชาวกัมพูชาแชร์ข้อความนี้มากกว่า 10,000 ครั้งในเวลาเพียง 3 วัน แม้กระทั่งเฟสบุคของนายฮุนเซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ยังกล่าวถึงกระแสในเรื่องนี้ผ่านเฟสบุค แม้จะกล่าวเพียงว่ารัฐบาลกัมพูชาไม่ได้ใส่ใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ตาม

Thai Classical Dance (Khon)

ขณะที่ Paul Chamber จากสถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษา ( Institute of South East Asian Affairs) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ข้อขัดแย้งในเรื่องการอ้างศิลปะการแสดงดังกล่าว จะช่วยเพิ่มกระแสชาตินิยมในกัมพูชาได้มากขึ้น แต่ขณะเดียวกันในประเทศไทยเองกลับเป็นเพียงการพยายามรักษามรดกศิลปะวัฒนธรรมนี้เอาไว้

ซึ่งจริงๆแล้วน่าจะเป็นเรื่องของการปลุกกระแสชาตินิยม มากกว่าจะเป็นเรื่องของการโต้เถียงเกี่ยวกับศิลปะวัฒธรรมที่ว่า

นักวิชาการจากสถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษา ยังกล่าวด้วยว่า ในมุมมองของคนไทยนั้นอาจจะมีข้อโต้แย้งว่า การระบำหรือศิลปะการแสดง 'โขน' ของไทยนั้น มีความแตกต่างกับของกัมพูชาอยู่บ้าง แต่จะไม่ใช่การขโมยศิลปะแขนงนี้มาจากชาวกัมพูชาอย่างแน่นอน

ขณะที่นักประวัติศาสตร์หลายท่านระบุว่า ศิลปะการแสดงแบบนี้เป็นมรดกร่วมของคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สืบทอดจากมหากาพย์รามายณะ ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากอายธรรมฮินดู ในอินเดีย นับพันปีก่อน