บริษัทอังกฤษคิดค้นวิธีแปลงขยะพลาสติกเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง

Your browser doesn’t support HTML5

บริษัทอังกฤษกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงจากขยะพลาสติก

Your browser doesn’t support HTML5

Tech Plastic Recycling

ปัจจุบันยังมีการนำขยะพลาสติกไปหมุนเวียนใช้ใหม่น้อยมาก เเละมักถูกทิ้งลงในหลุมฝังกลบขยะ เเละบางส่วนของขยะพลาสติกก็ลงไปอยู่ในมหาสมุทร

แต่ตอนนี้ บริษัทรีไซเคิลแห่งใหม่ในอังกฤษ ได้คิดค้นวิธีนำขยะพลาสติกมาหมุนเวียนใช้ใหม่

เอเดรียน ฮอว์เวิร์ธ แห่งบริษัท Recycling Technologies กล่าวว่า มีความต้องการใช้สินค้าที่ทำจากวัสดุรีไซเคิลกันอย่างมาก และทางบริษัทกำลังพัฒนาวิธีนำขยะพลาสติกไปผลิตเป็นเชื้อเพลิง

บริษัท Recycling Technologies ทำการย่อยพลาสติกเล็กลงเเละนำไปผ่านกระบวนการให้กลายเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง หรือเป็นวัตถุดิบเพื่อนำไปผลิตเป็นพลาสติกชิ้นใหม่

เขากล่าวว่า ทางบริษัทนำพลาสติกไปต้มเหมือนซุปไฮโดรคาร์บอน หลังจากนั้นจะกลั่นในหลายระดับความร้อน โดยในระดับอุณหภูมิที่ร้อนที่สุด ไขจะถูกแยกออกมา เเละเมื่อกลั่นในระดับความร้อนที่ลดลงมาเล็กน้อย ก็จะได้น้ำมันน้ำหนักเบา เเละหากกลั่นต่อไปในระดับที่ร้อนน้อยกว่าเดิมอีกก็จะได้น้ำมันดิบที่มีความหนาเเน่นสูง

ส่วนที่เหลือจะกลั่นให้กลายเป็นแนฟทา (naphtha) ซึ่งเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดหนึ่งที่ติดไฟง่าย ส่วนไฮโดรคาร์บอนที่เหลือจากการกลั่นจะใช้เป็นพลังงานแก่กระบวนการกลั่น

ขั้นตอนที่บริษัทใช้นี้ช่วยผลิตน้ำมันดิบที่มีความหนาเเน่นสูง ที่เหมาะกับการใช้เป็นพลังงานเชื้อเพลิงแก่เรือทะเล

ฮอว์เวิร์ธ กล่าวว่า เราเรียกผลิตภัณฑ์ที่ได้ว่าน้ำมันดิบสะอาด เพราะมีซัลเฟอร์ในปริมาณเพียงเล็กน้อยจนเกือบไม่มีเลย ซึ่งเหมาะกับกฏใหม่ที่กำหนดให้น้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้กับเรือมีระดับซัลเฟอร์ในปริมาณที่ต่ำทั่วโลกเเละยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าอีกด้วย

ในขณะนี้ ทางบริษัท Recycling Technologies ในอังกฤษแห่งนี้ สามารถรีไซเคิลพลาสติกได้ปีละราว 7,000 ตัน เเต่ทางบริษัทคิดว่าจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้อีกอย่างรวดเร็ว

ฮอว์เวิร์ธ กล่าวว่า ทางบริษัทกำลังออกเเบบเครื่องกลั่นที่ใช้เวลาติดตั้งสี่วันเท่านั้น และนี่ไม่ใช่โรงกลั่นน้ำมัน เเต่เป็นเครื่องกลั่นที่นำไปติดตั้งเพื่อใช้งานที่ใดก็ได้

ทางบริษัทได้ตั้งเป้าที่ค่อนข่างสูงว่าจะขายเครื่องรีไซเคิลพลาสติกเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงนี้ให้ได้ 1,300 เครื่องทั่วโลก ในช่วงสิบปีข้างหน้า เเละคาดว่าจะสามารถรีไซเคิลพลาสติกได้ปีละ 9 ล้านตันทั่วโลก

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)