Your browser doesn’t support HTML5
งบประมาณขององค์การสำรวจอวกาศแห่งสหรัฐฯ หรือ นาซ่าประจำปี พ.ศ. 2562 ซึ่งยังไม่ได้แจกแจงว่าจะใช้จ่ายอย่างไรบ้าง ได้รวมเอาความคิดที่จะเดินทางกลับไปสำรวจดวงจันทร์อีกครั้งในช่วงคริสต์ทศวรรษ 2020 เอาไว้ด้วย โดยจะใช้ทั้งดาวเทียมเเละยานสำรวจหุ่นยนต์
ทางนาซ่าหวังว่า เทคโนโลยีนี้จะพัฒนาและสร้างโดยบริษัทเอกชนเเละมหาวิทยาลัยที่ร่วมมือกับองค์การสำรวจอวกาศเเห่งยุโรป (ESA) เเละองค์การสำรวจอวกาศแห่งญี่ปุ่น (JAXA)
โรเบิร์ต ไลท์ฟุท (Robert Lightfoot) รักษาการผู้บริหารแห่งนาซ่า กล่าวว่านาซ่ายังวางแผนที่จะสร้างฐานจอดที่โคจรรอบดวงจันทร์ เรียกว่า Lunar Gateway เพื่อใช้เป็นสถานีจอดระหว่างทางของยานสำรวจที่ออกเเบบให้ลงจอดบนดวงจันทร์
ไลท์ฟุท กล่าวว่า ฐานจอดระหว่างทางนี้จะช่วยใช้เป็นที่จอดยานสำรวจหุ่นยนต์ที่จะลงจอดบนดวงจันทร์ หรือ แลนเดอร์ หลังจากกลับมาจากการสำรวจดวงจันทร์ โดยไม่ต้องส่งยานสำรวจลำใหม่ออกไปจากสหรัฐฯ ทุกครั้ง ช่วยร่นระยะเวลาการเดินทางเเละมีผลดีหลายอย่างต่อยานสำรวจ
แต่คำถามสำคัญหลายคำถามต้องได้รับคำตอบก่อนที่มนุษย์จะเดินทางกลับไปยังดวงจันทร์อีกครั้ง รวมทั้งคำถามที่ว่า ร่างกายมนุษย์อวกาศจะตอบสนองต่อการได้รับรังสีอันตรายนอกอวกาศจากแถบรังสีเเวน อัลเเลน (Van Allen belt) ในขณะอยู่นอกโลกเป็นเวลานานอย่างไร
เเถบรังสีเเม่เหล็กนี้ห้อมล้อมโลกอยู่ในระยะความสูงจากพื้นดินที่ 500 กิโลเมตรจนถึง 58,000 กิโลเมตร สถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) โคจรรอบโลกที่ความสูง 400 กิโลเมตรและอยู่ในระยะปลอดภัย เพราะได้รับการปกป้องเส้นเเรงสนามแม่เหล็กโลก ในขณะที่ดวงจันทร์อยู่ไกลออกไปถึงกว่า 360,000 กิโลเมตรจากโลก
เอลเลน สโตฟาน (Ellen Stofan) อดีตหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ที่นาซ่า กล่าวว่า การส่งพืช สัตว์ เเละสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว ออกไปนอกโลกเพื่อทำการทดลองเพื่อศึกษาถึงการซ่อมเเซมทางดีเอ็นเอมีความสำคัญมาก ซึ่งนอกจากจะสร้างความมั่นใจว่ามนุษย์อวกาศที่ออกไปทำงานนอกโลกมีความปลอดภัยเเล้ว ยังช่วยสร้างความเข้าใจถึงผลดีทางสุขภาพต่อคนเราที่อยู่บนโลกอีกด้วย และในที่สุดเเล้ว มนุษย์จะสร้างสถานีถาวรหลายเเห่งบนดวงจันทร์
เเต่ เจฟฟ์ ไอเซ็กสัน (Jeff Issacson) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารแห่งสมาคมการวิจัยทางอวกาศยูนิเวอร์ซิตี้ (Universities Space Research Association) กล่าวว่า การศึกษาเหล่านี้ต้องขึ้นอยู่กับระดับของความสนับสนุนบนโลก
เขากล่าวว่า งานสำรวจนอกโลกเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก เเละมีปัญหาสำคัญหลายอย่างที่สหรัฐฯ กำลังประสบอยู่ในขณะนี้ เช่นเดียวกับปัญหาที่บรรดานานาชาติที่ร่วมมือกับสหรัฐฯ เเละการคงรักษาระดับความมุ่งมั่น เงินสนับสนุน ตลอดจนการประสานงานกันต่อไป ยากมากในปัจจุบันเมื่อเทียบกับเมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)