Your browser doesn’t support HTML5
นิตยสาร Forbes รายงานว่า Apple Microsoft และ Samsung คือส่วนหนึ่งของบริษัทเทคโนโลยีที่กำลังถูกจับตามอง หลังจากองค์กรนิรโทษกรรมสากลเปิดเผยรายงานว่าบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาการใช้แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมเหมืองแร่โคบอลต์ในสาธารณรัฐคองโก
อุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์สมัยใหม่ เช่น สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ต่างใช้แบตเตอรี่ลิเธียมที่มีแร่โคบอลต์เป็นส่วนประกอบ ประมาณกันว่ามากกว่า 50% ของโคบอลต์ทั่วโลกผลิตในแอฟริกา โดยเฉพาะจากเหมืองทางภาคใต้ของคองโก
รายงานระบุว่า บริษัทเทคโนโลยีมากกว่า 12 บริษัทใช้วัตถุดิบจากเหมืองแร่โคบอลต์ที่มีการใช้แรงงานเด็ก ซึ่งขัดกับข้อกำหนดขององค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาระหว่างประเทศหรือ OECD ที่ระบุไว้ว่า บริษัทต่างๆต้องไม่ทำกำไรหรือแสวงหาผลประโยชน์จากแหล่งที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะมาจากเหมืองแร่หรือจุดใดก็ตามในห่วงโซ่อุปทาน
เมื่อเดือน เม.ย ปีที่แล้ว ผู้จัดทำรายงานขององค์กรนิรโทษกรรมสากลและ Afrewatch ได้พูดคุยกับอดีตคนงานเหมืองโคบอลต์ 87 คนจากเหมือง 5 แห่งในคองโก ซึ่งในจำนวนนี้มี 17 คนที่เป็นเด็ก คนงานเหมืองเหล่านั้นระบุว่าบริษัท Congo Dongfang Mining International หรือ CDM คือบริษัทโคบอลต์รายใหญ่ที่สุดที่ซื้อแร่โคบอลต์ส่วนใหญ่ไปจากเหมืองที่ใช้แรงงานเด็กทางใต้ของคองโก
บริษัท CDM คือสาขาหนึ่งของบริษัท Huayou Cobalt ซึ่งเป็นผู้จัดหาโคบอลต์ให้กับบริษัท Ningbo Shanshan บริษัท Tianjin Bamo และบริษัท L&F Materials ที่ล้วนเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมรายใหญ่ให้กับบริษัทเทคโนโลยีหลายบริษัทในหลายประเทศ รวมทั้งใน Silicon Valley ของสหรัฐฯ
องค์กรนิรโทษกรรมสากลได้ติดต่อไปยังบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ เช่น Apple Microsoft Lenovo LG Dell HP Sony และ Samsung เพื่อสอบถามถึงเรื่องนี้ ซึ่งแต่ละบริษัทก็ได้ตอบสนองแตกต่างกันไป
Apple
Apple มิได้ยืนยันหรือปฏิเสธว่าได้ใช้โคบอลต์จากบริษัท Huayou Cobalt หรือไม่ บอกแต่เพียงว่าโคบอลต์เป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำคัญที่นำมาใช้ผลิตแบตเตอรี่ให้กับทางบริษัท
Microsoft
ทาง Microsoft ยืนยันกับองค์กรนิรโทษกรรมสากลว่า บริษัท Tianjin คือหนึ่งในซัพพลายเออร์ของบริษัทจริง แต่เป็นซัพพลายเออร์ขนาดเล็กซึ่งแทบไม่มีความสำคัญ และผลิตภัณฑ์ของ Tianjin มิได้ถูกนำมาใช้ในสินค้าของ Microsoft ที่วางขายอยู่ในตลาดในขณะนี้ นอกจากนี้ Microsoft ยังได้ติดต่อไปทาง Tianjin เพื่อขอให้ถอดชื่อ Microsoft ออกจากรายชื่อลูกค้าที่ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของ Tianjin ด้วย
ทาง Microsoft บอกว่าที่ผ่านมาบริษัทไม่เคยติดตามตรวจสอบเส้นทางของโคบอลต์ที่บริษัทซัพพลายเออร์นำมาใช้ เนื่องจากความซับซ้อนและการปิดบังข้อมูลของซัพพลายเออร์
Samsung
เช่นเดียวกับทาง Samsung ที่ชี้ว่าการตรวจสอบแหล่งที่มาของโคบอลต์ที่บริษัทซัพพลายเออร์ต่างๆนำมาใช้นั้นทำได้ยาก จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่ Samsung จะตระหนักว่าโคบอลต์ที่นำมาใช้ในแบตเตอรี่ของบริษัทนั้นมาจากเหมืองแร่ที่ใช้แรงงานเด็กในคองโก
Samsung ยังยอมรับด้วยว่าใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัท L&F Materials ซึ่งมีชื่อระบุอยู่ในรายงานขององค์กรนิรโทษกรรมสากลจริง
(ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียงรายงานจาก Forbes)