Your browser doesn’t support HTML5
ขณะที่ประชาคมโลกจับตาดูสถานการณ์ความเป็นไปในอัฟกานิสถานด้วยความเป็นห่วง หลังกลุ่มตาลิบันเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดี อัชราฟ กานี สำเร็จเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา แต่รัสเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ กลับแสดงจุดยืนที่ตรงข้ามกันออกมาแล้ว
สำนักข่าว เอพี รายงานว่า หลังกลุ่มตาลิบันรุดหน้าเข้ายึดพื้นที่เมืองต่างๆ ในอัฟกานิสถาน จนถึงกรุงคาบูล เมืองหลวงของประเทศได้สำเร็จ รัสเซียออกมาแสดงความพร้อมที่จะเร่งพัฒนาความสัมพันธ์กับกลุ่มกบฏที่ยังถูกตราหน้าว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายนี้ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกว่าที่ได้พยายามผูกมิตรกันมาเป็นแรมปี
เซอร์เกย์ ลาฟนอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย กล่าวย้ำเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลกรุงมอสโก “ไม่ได้รีบ” ที่จะยอมรับกลุ่มตาลิบันในฐานะผู้ปกครองใหม่ของอัฟกานิสถาน แต่ยอมรับว่า มี “สัญญาณอันน่าชื่นใจ” ว่ากลุ่มติดอาวุธนี้พร้อมที่จะยอมรับกลุ่มการเมืองอื่นๆ เข้ามาร่วมรัฐบาล และยอมให้เด็กผู้หญิงได้เข้าเรียนในโรงเรียนแล้ว
ทั้งนี้ รัสเซียขึ้นชื่อกลุ่มตาลิบันว่าเป็นองค์กรก่อการร้ายมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 และจนบัดนี้ รัฐบาลกรุงมอสโกยังไม่ได้ถอดกลุ่มนี้ออกจากรายชื่อดังกล่าวเลย ซึ่งหมายความว่า ผู้ใดที่ทำการติดต่อกับตาลิบันจะถูกลงโทษภายใต้กฎหมายรัสเซีย
แต่หากเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้ว รัสเซียกลับไม่มีความรีบร้อนที่จะทำการอพยพเจ้าหน้าที่ของตนออกจากสถานทูตในกรุงคาบูลเลย ขณะที่ เอกอัครราชทูตรัสเซียเองกลับเร่งไปพบกับผู้นำกลุ่มตาลิบัน เพื่อพูดคุยสิ่งที่อ้างว่าเป็น ประเด็น “สร้างสรรค์” หลังการยึดอำนาจจากรัฐบาลชุดก่อนมา
ในอดีตนั้น สหภาพโซเวียตสู้รบกับอัฟกานิสถานในสงครามที่ยืดยาวนาน 10 ปี ก่อนจะจบลงด้วยการถอนทหารโซเวียตออกมาในปี ค.ศ. 1989 และนับจากนั้นเป็นต้นมา กรุงมอสโกกลับเลือกเล่นบทบาทคนกลางผู้เจรจาต่อรองอันทรงอิทธิพลในกรณีอัฟกานิสถานมาโดยตลอด โดยรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพเชิญตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ มาประชุมระดับทวิภาคีและพหุภาคีหลายต่อหลายครั้ง
ซาเมียร์ คาบูลอฟ ผู้แทนพิเศษรัสเซียด้านกิจการอัฟกานิสถาน กล่าวว่า รัฐบาลเครมลินทำการติดต่อกับกลุ่มตาลิบันมาตลอดช่วง 7 ปีที่ผ่านมา และทำการหารือแล้วในหลายประเด็น และมองว่า ตาลิบันคือ “กองกำลังที่จะมีบทบาทสำคัญในอัฟกานิสถานในอนาคต แม้จะไม่ได้ขึ้นมากุมอำนาจปกครองแบบเบ็ดเสร็จก็ตาม”
และเมื่อ 1 เดือนก่อนที่กลุ่มตาลิบันจะประสบความสำเร็จในการรุกคืบเพื่อยึดพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งกรุงคาบูลสำเร็จนั้น ทางกลุ่มได้ส่งคณะผู้แทนไปยังกรุงมอสโกเพื่อไปรับรองว่า ปฏิบัติการต่างๆ ของตนนั้นจะไม่เป็นภัยคุกคามต่อรัสเซียและพันธมิตรอดีตสหภาพโซเวียตทั้งหลายในพื้นที่เอเชียกลาง และการเดินทางเยือนครั้งนั้นจึงถือเป็นสัญญาณว่า ตาลิบัน ให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์กับรัสเซียเป็นอันดับต้นๆ อย่างเห็นได้ชัด
นอกจากนั้น โมฮัมหมัด โซฮาอิล ชาฮีน โฆษกตาลิบัน กล่าวระหว่างการเยือนมอสโกเมื่อเดือนที่แล้วด้วยว่า ทางกลุ่มจะไม่ยอมให้ผู้ใดใช้ดินแดนของอัฟกานิสถานเพื่อโจมตีรัสเซียและประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ เป็นอันขาด และย้ำด้วยว่า “เรามีความสัมพันธ์ที่ดีมากกับรัสเซีย”
ดิมิทรี เซียร์นอฟ เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำกรุงคาบูล ยังสรรเสริญกลุ่มตาลิบันว่า เป็น “ผู้ที่มีเหตุมีผล” หลังเข้าร่วมการประชุมที่ตนมองว่า “มีสัญญาณบวกและเป็นไปในทิศทางที่สร้างสรรค์” ในสัปดาห์นี้
อเล็กเซย์ มาคาร์คิน นักวิเคราะห์ในกรุงมอสโก ให้ความเห็นว่า “นักการทูตรัสเซียนั้น กำลังทำทุกวิถีทางที่ทำได้ เพื่อรวบรวมรายชื่อผู้ตนเคยติดต่อในนามกลุ่มตาลิบัน” และ “ตัวแทนของรัสเซียได้สร้างภาพว่า กลุ่มตาลิบันนั้นเป็นกลุ่มที่มีจุดยืนสายกลางและมีความรับผิดชอบดี พร้อมทั้งยังทำตัวเป็นกองหนุนของกลุ่มนี้ในเวทีสาธารณะด้วย”
มาคาร์คิน ยังกล่าวด้วยว่า แม้กลุ่มตาลิบันอาจไม่พยายามแผ่อิทธิพลของตนไปยังประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียตในเวลานี้ จุดยืนดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต หลังทำการยึดการปกครองอัฟกานิสถานได้เบ็ดเสร็จแล้ว
อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวชี้ว่า แม้รัสเซียจะสร้างช่องทางติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ตาลิบันได้สำเร็จแล้ว รัฐบาลกรุงมอสโกยังไม่น่าจะเดินหน้าประกาศยอมรับรัฐบาลที่กลุ่มติดอาวุธนี้เป็นผู้นำจัดตั้งโดยทันที อย่างน้อยจนกว่า จะทำการถอนชื่อตาลิบันออกจากรายนามกลุ่มก่อการร้ายของตนอย่างเป็นทางการเสียก่อน
ซาเมียร์ คาบูลอฟ ผู้แทนพิเศษรัสเซียด้านกิจการอัฟกานิสถาน กล่าวย้ำว่า การจะยอมรับรัฐบาลที่นำทีมโดยกลุ่มตาลิบันนั้น ขึ้นอยู่กับความจริงที่ว่า “พวกเขา (ตาลิบัน) จะปกครองประเทศในแบบที่น่าเชื่อถือได้ในอนาคตเพียงใด และหลังจากมีความชัดเจนแล้ว ผู้นำรัสเซียจึงจะหาข้อสรุปในลำดับต่อไป” พร้อมเสริมว่า รัสเซียจะถอดกลุ่มตาลิบันออกจากรายชื่อองค์กรก่อการร้ายหลังคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติทำการดังกล่าวเสียก่อน