ความเเข็งเเกร่งทางทหารและอาวุธของอัฟกานิสถานช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากงบประมาณมูลค่า 8 หมื่น 3 พันล้านดอลลาร์ที่สหรัฐฯทุ่มเทลงไป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงบรวม 1 ล้านล้านดอลลาร์ที่อเมริกาใช้ในสงครามและโครงการช่วยพลิกฟื้นอัฟกานิสถาน
อย่างไรก็ตามสำนักข่าวเอพี (Associated Press) รายงานว่าผู้เก็บเกี่ยวอานิสงส์ของการสนับสนุนด้านกลาโหมเหล่านี้กลับกลายเป็นกลุ่มตาลิบัน
การรุกคืบของกลุ่มดังกล่าวตามเมืองใหญ่ ทำให้นักรบตาลิบันสามารถครอบครองอาวุธ ตั้งเเต่กระสุน ไปจนถึงเฮลิคอปเตอร์ที่สหรัฐฯให้การสนับสนุนรัฐบาลก่อนหน้านี้ นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ตาลิบันโค่นอำนาจรัฐบาลกรุงคาบูลได้อย่างรวดเร็ว
เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ รายหนึ่งที่ไม่ประสงค์จะออกนามบอกกับเอพีว่าตาลิบันสามารถยึดอาวุธเหล่านั้นได้อย่างรวดเร็วในปริมาณมหาศาล
เอพีรายงานว่าเหตุการณ์นี้เป็นเรื่องที่น่าเสียหน้า ซึ่งเกิดจากการประเมินสถานการณ์ที่ผิดพลาด โดยฝ่ายทหารและฝ่ายข่าวกรองสหรัฐฯ และน่าจะเป็นกรณีศึกษาของการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์สงครามต่อไปจากนี้
หากมองย้อนกลับไป ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า บทเรียนที่เห็นอัฟกานิสถานมีหลายอย่างที่คล้ายกับบทเรียนที่สหรัฐฯ มีจากสงครามอิรัก ตรงที่ทหารท้องถิ่นเเม้มีอาวุธที่เหนือชั้นแต่ไม่มีแรงผลักดันด้านจิตใจในสนามรบ
นายจอห์น เคอร์บี โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯกล่าวว่า “เงินไม่สามารถซื้อความมุ่งมั่นตั้งใจได้”
นายพลเกษียณราชการ ดั้ก ลูตที่ช่วงวางแผนสงครามอัฟกานิสถานภายใต้อดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช และอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา กล่าวว่า
“ตามหลักการทำสงคราม ปัจจัยเรื่องขวัญกำลังใจ ความมีวินัย ภาวะผู้นำและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของหน่วยรบ ส่งผลที่ชัดเจนกว่าจำนวนกำลังพลและอาวุธ"
เขาบอกว่า สหรัฐฯ เป็นคนนอกที่สนับสนุนได้เพียงปัจจัยที่จับต้องได้ ส่วนความเเข็งเเกร่งของปัจจัยที่จับต้องไม่ได้ เช่น ขวัญกำลังใจของทหาร จะมาจากคนในอัฟกานิสถานเองเท่านั้น
เป็นช่วงเวลาหลายปีติดต่อกันที่สหรัฐฯ ไม่ให้ความสำคัญของจุดอ่อนนี้มากนัก โดยอเมริกามักกล่าวว่าความสำเร็จในสงครามอัฟกานิสถานกำลังจะมาถึงบ่อยครั้ง
อย่างไรก็ตาม มีผู้สังเกตเห็นสัญญาณความล้มเหลวมาระยะหนึ่งเเล้ว
เมื่อ 6 ปีก่อน อาจารย์ คริส เมสัน แห่งสถาบันยุทธศาสตร์ศึกษาที่วิทยาลัย Army War College เขียนไว้ในหนังสือ “Why the Afghan National Security Forces Will Not Hold” ว่าสงครามอัฟกานิสถานน่าจะเจอกับบทสรุปเดียวกับสงครามเวียดนามและสงครามอิรัก
ในหนังสือเล่มนั้น เขากล่าวว่า การเสื่อมลงของอำนาจอเมริกาในอัฟกานิสถาน จะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ
เเม้ว่าทหารอัฟกันบางส่วนจับอาวุธสู้อย่างดุเดือด แต่ในภาพรวม นักวิเคราะห์แอนโธนี คอร์เดสเเมน แห่ง Center for Strategic and International Studies กล่าวว่ากำลังทหารที่อเมริกาเเละพันธมิตรนาโต้ช่วยกันสร้างขึ้นในอัฟกานิสถานพังครืนลงเช่นนี้ เนื่องจากความล้มเหลวจากผู้นำฝ่ายพลเรือนอเมริกันเเละจากพันธมิตรทางทหาร
มีหลายครั้งที่เงินจากสหรัฐฯสำหรับการสนับสนุนอัฟกานิสถานถูกดูดไปเข้ากระเป๋าเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และถูกใช้ในทางที่ผิด ตามรายงานของสำนักข่าวเอพี
นอกจากนั้น นักข่าวเครก วิตล็อก เขียนในหนังสือ “The Afghanistan Papers” ระบุว่าผู้เชี่ยวชาญจากอเมริกาที่ฝึกทหารอัฟกัน พยายามยัดเยียดให้ทหารเหล่านั้นทำตามแบบโลกตะวันตก และไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก ว่าเงินภาษีของชาวอเมริกันถูกใช้ไปกับการฝึกกองกำลังอัฟกันที่มีศักยภาพหรือไม่
เขาเขียนไว้ว่า “กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ให้ความสนใจน้อยอย่างน่าฉงนว่าชาวอัฟกันเหล่านี้เต็มใจหรือไม่ที่จะสละชีวิตเพื่อรัฐบาลของพวกเขา”
(ที่มา: สำนักข่าวเอพี)