ไต้หวันมีโอกาสก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางธุรกิจการเงินแทนฮ่องกง

Taiwan President Tsai Ing-wen speaks to the media in Taipei, Taiwan, Aug. 12, 2020.

Your browser doesn’t support HTML5

Business News


นักวิเคราะห์เชื่อว่า ไต้หวันมีโอกาสและศักยภาพสูงพอที่จะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางธุรกิจการเงินแทนฮ่องกง หลังรัฐบาลจีนบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ที่ทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวล พร้อมๆ กับยกระดับความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนด้วย

สำนักข่าว วีโอเอ สัมภาษณ์นักวิเคราะอย่างน้อย 3 ราย ที่ให้ความเห็นว่า ในเวลานี้ ไต้หวันอยู่ในฐานะที่สามารถดึงเงินทุนที่ไหลออกจากฮ่องกงมาที่ตนได้ ซึ่งจะเปิดทางให้ไต้หวันกลายมาเป็นศูนย์กลางแบบเฉพาะกลุ่มของการจัดการความมั่งคั่งสุทธิที่มีมูลค่าสูง (High Net Worth Asset Management) หรือศูนย์กลางการเงินธุรกิจ (Corporate Financing) ได้ โดยเฉพาะเมื่อประธานาธิบดี ไช่ อิง-เหวิน ประกาศต่อหน้าผู้ประกอบการธุรกิจยักษ์ใหญ่หลายรายเมื่อสัปดาห์ก่อน ว่า รัฐบาลไต้หวันมีเป้าหมายที่จะเปิดเสรีภาคเศรษฐกิจของเกาะแห่งนี้ เพื่อก้าวขึ้นไปเป็นศูนย์กลางการเงินของเอเชียให้ได้

หวาง ต้าเย่ คณบดีจากสถาบันเอกชนที่ชื่อ Academy of Promoting Economic Legislation บอกกับผู้สื่อข่าวว่า กฎหมายความมั่นคงใหม่ที่จีนประกาศใช้ในฮ่องกง ทำให้สถานภาพความเป็นศูนย์กลางทางการเงินของเขตกึ่งปกครองตนเองแห่งนี้อ่อนด้อยลงอย่างมาก และจะทำให้นักลงทุนที่ใช้ภาษาจีนเป็นหลัก พิจารณาย้ายเงินทุนของตนไปที่อื่น เช่น สิงคโปร์ หรือ กรุงไทเป แล้ว

ทั้งนี้ การจัดอันดับโดยบริษัทที่ปรึกษา Z/Yen Group จากประเทศอังกฤษ ซึ่งร่วมมือกับสถาบันพัฒนาจีน หรือ China Development Institute ซึ่งตั้งอยู่ที่นครเสิ่นเจิ้น ระบุว่า กรุงไทเป อยู่ที่ลำดับ 75 ของรายชื่อศูนย์กลางการเงินชั้นนำของโลก 108 แห่ง

Taiwan strait

แต่กระนั้นก็ตาม คณบดีหวาง กล่าวว่า ไทเป มีความสำคัญด้านภูมิยุทธศาสตร์สูงกว่าสิงคโปร์ ขณะที่ ไต้หวันและสหรัฐฯ กำลังหาทางกระจายช่องทางการค้าเพื่อลดการพึ่งพาจีนอยู่ โดยทั้งหมดนี้ น่าจะทำให้บริษัทไต้หวันในจีน ตัดสินใจจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนในไต้หวันในไม่ช้า พร้อมๆ กับที่ผู้ที่มีทรัพย์สินจำนวนมากในฮ่องกงน่าจะโอนย้ายทุกอย่างออกมาพักไว้ที่อื่น เช่น ไทเป ก็เป็นได้

ไชฟ์ ชี อดีตประธานบรรษัทตลาดหลักทรัพย์ไต้หวัน ให้ความเห็นว่า รัฐบาลไต้หวันต้องลงมือทำการต่างๆ มากขึ้น เพราะสิ่งที่มีอยู่นั้นไม่เพียงพอต่อเป้าหมายการพัฒนาตลาดการเงินเพื่อรองรับต่อการเข้ามาของเงินทุนจำนวนมาก และแม้มีโอกาสต่างๆ รอให้ไต้หวันรีบไปคว้ามา คำถามที่สำคัญคือ ไต้หวันจะทำได้สำเร็จหรือไม่

สิ่งที่ทั้ง คณะบดีหวาง และไชฟ์ เห็นพ้องต้องกันคือ ไต้หวันควรเร่งปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานการเงิน ด้วยการดึงผู้เชี่ยวชาญและมีความสามารถด้านธุรกิจการเงินจากต่างประเทศเข้ามา พร้อมๆ กับออกนโยบายใหม่ๆ ที่มีความคิดสร้างสรรค์ และอนุญาตให้อัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินดอลลาร์ไต้หวันเคลื่อนไหวอย่างอิสระและเป็นไปตามกลไกตลาดมากที่สุด

นอกจากนั้น วิลเลียม ลิน ศาสตราจารย์ด้านการธนาคารและการเงิน แห่งมหาวิทยาลัย ทัมกัง ในกรุงไทเป กลว่าว่า ไต้หวันต้องออกนโยบายกำหนดและเก็บอัตราภาษีที่ต่างกันสำหรับสินค้าชนิดเดียวกันที่ส่งมาจากแหล่งที่ต่างกัน หรือ Preferential Tax Rate ที่สามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาได้มากขึ้น โดยยกตัวอย่างความสำเร็จของสิงคโปร์ในการดำเนินนโยบายดังกล่าว จนทำให้ขนาดของทรัพย์สินที่ไหลเข้าไปสูงกว่าที่เข้ามาในไต้หวันอย่างมากมาย ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

แต่ศาสตราจารย์ลิน ย้ำว่า ไต้หวันยังได้เปรียบสิงคโปร์ในหลายจุด อาทิ ขนาดของทุนในไต้หวันที่ใหญ่กว่า จำนวนประชากรที่สูงกว่า และรายได้จากเบี้ยประกันที่เรียกเก็บในประเทศซึ่งสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก รวมทั้งความแข็งแกร่งของธุรกิจไฮเทค และความสามารถของแรงงานในประเทศ เป็นต้น