ฮีโร่ไม่จำเป็นต้องมีชุดเกราะประจำตัวให้เป็นที่สนใจ เมื่อชายเวเนซุเอลาลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการสร้างตัวละครซูเปอร์ฮีโร่มาช่วยเป็นแรงผลักดันให้เด็กและเยาวชนหันมาสนใจเรื่องการรีไซเคิลและปัญหามลพิษมากขึ้น
มิเชลล์ เดลกาโด วิศวกรชาวเวเนซุเอลา วัย 26 ปี สร้างตัวละครซูเปอร์ฮีโร่ “รีไซเคิลแมน” (Recycler Man) ตัวแทนการต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม ในการรับมือกับมลพิษและส่งเสริมการรีไซเคิลในชุมชนของเขา
รีไซเคิลแมน จะสวมยูนิฟอร์มสูทสีเขียวและสีดำ มีสัญลักษณ์การรีไซเคิล รูปลูกศรวนเป็นสามเหลี่ยมอยู่บนเสื้อ โดยซูเปอร์ฮีโร่รายนี้จะทำหน้าที่รณรงค์รวบรวมขยะต่าง ๆ เช่น กระดาษ อลูมิเนียม แก้ว และพลาสติก เพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำ
ตามเนื้อเรื่อง รีไซเคิลแมนจะมีพลังพิเศษ ซึ่งก็คือพลังของการรีไซเคิล ใช้ต่อสู้กับศัตรูหมายเลขหนึ่ง “วายร้ายขยะ” หรือ “บาซูเรเตอร์” (Basureitor) ที่จะคอยก่อกวนโลกของเรา ด้วยแผนชั่วร้ายที่ต้องการสร้างหายนะให้เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม
คู่ปรับระหว่าง รีไซเคิลแมนและวายร้ายขยะ ตัวละครสมมติที่สร้างขึ้นมา เพื่อสื่อสารให้เด็ก ๆ เข้าใจถึงปัญหาขยะและมลพิษในโลกแห่งความเป็นจริง โดยหวังที่จะสร้างจิตสำนึกในการปกป้องสิ่งแวดล้อมให้แก่เยาวชน
เดลกาโด เล่าว่า “วายร้ายขยะ คือฝั่งอันธพาล ที่ต้องโดนพลังรีไซเคิลคอยจัดการทุกวัน เศษขยะที่เกลื่อนตามแม่น้ำ มหาสมุทร และที่อื่นๆ สร้างภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ให้เกิดขึ้น อีกทั้งยังก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์” วิศวกรชาวเวเนซุเอลาย้ำว่า คนหนุ่มสาวรุ่นถัดไปควรเรียนรู้ ว่าขยะเป็นสิ่งที่จะต้องถูกรีไซเคิล ถูกนำมาใช้ซ้ำ หรือทำให้มีปริมาณลดลง
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมพารีไซเคิลแมนไปพบกับเด็ก ๆ ตามโรงเรียน โดยต้องการที่จะสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงเน้นความสำคัญของการรีไซเคิล และการลดปริมาณขยะ
เพื่อสร้างความน่าสนใจต่อกลุ่มเยาวชน เดลกาโดยังเลือกใช้หลากหลายกิจกรรม เช่น การถามตอบ กิจกรรมที่ต้องใช้การเคลื่อนไหวของร่างกาย ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม ปลูกฝังวิธีกำจัดขยะ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และให้เด็ก ๆ ทดลองการใช้ชีวิตที่เน้นความยั่งยืน
ความตั้งใจของเดลกาโด เป้าหมายแรกคือให้ความรู้ผ่านตัวละครซูเปอร์ฮีโร่ เขายังเผยว่า มีศูนย์รีไซเคิลที่ได้รับการสนับสนุนจากคนทุกวัย ขยะที่ถูกส่งเข้ามาในศูนย์รีไซเคิลแห่งนี้ราว 90% มีทั้งเศษกระดาษ กระดาษแข็ง พลาสติก อลูมิเนียม แก้ว และวัสดุอื่นๆ โดยทางศูนย์จะนำไปคัดแยก และหาวิธีนำไปใช้ซ้ำ เพื่อสร้างความยั่งยืนเท่าที่จะสามารถทำได้
- ที่มา: รอยเตอร์