การศึกษายืนยัน ‘ซูเปอร์บักส์’ คร่าชีวิตผู้คนมากกว่าเอดส์และมาลาเรีย

To match Special Report ANTIBIOTICS

การศึกษาล่าสุด ชี้ว่า การเสียชีวิตจากการติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยา หรือ ซูเปอร์บักส์ (Superbugs) มากกว่าการเสียชีวิตจากเอชไอวีเอดส์หรือมาลาเรียแล้วในขณะนี้

ในการศึกษาล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet ที่นำโดย University of Washington ในนครซีแอตเติล ของสหรัฐฯ วิเคราะห์ข้อมูลจาก 204 ประเทศและเขตปกครองทั่วโลก พบว่า ในแต่ละปีจะมีผู้คนมากกว่า 1.2 ล้านคนเสียชีวิตจากการติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยา หรือ ซูเปอร์บักส์ (Superbugs) ที่ก่อให้เกิดอาการป่วยรุนแรงจนบำบัดไม่ได้ผลด้วยยาฆ่าเชื้อโรคปกติทั่วไป และว่ามีผู้คนกว่า 4.95 ล้านคนเสียชีวิตจากภาวะที่เกี่ยวข้องกับแบคทีเรียดื้อยารุนแรงนี้ด้วยเช่นกัน

ในมุมมองของแอนโทเนีย ซาโกนา (Antonia Sagona) ผู้เชี่ยวชาญด้านการติดเชื้อแบคทีเรียจาก University of Warwick ให้ข้อมูลกับวีโอเอว่า หากเราไม่มีหนทางการรักษาการติดเชื้อซูเปอร์บักส์นี้ ภายในปี ค.ศ. 2050 หรืออีก 28 ปีข้างหน้า มหันตภัยจากซูเปอร์บักส์ จะคร่าชีวิตผู้คนนับล้านและสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจได้ถึง 100 ล้านล้านดอลลาร์ทีเดียว

เมื่อมองเป็นรายประเทศ ยังพบว่า ประเทศยากจนจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเชื้อแบคทีเรียดื้อยารุนแรงชนิดนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่แอฟริกาใต้สะฮารา (Sub-Saharan Africa) และเอเชียใต้

ในรายงานการศึกษานี้ ยังชี้ว่า การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง คิดเป็นสัดส่วนการเสียชีวิตมากกว่า 1.5 ล้านคน ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับการติดเชื้อซูเปอร์บักส์ เมื่อปี ค.ศ. 2019 ทำให้เป็นการติดเชื้อที่น่าวิตกมากที่สุด พร้อมกับเตือนว่า จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในเรื่องนี้ เนื่องจากทีมวิจัยยังขาดข้อมูลสำคัญจำเป็นในกลุ่มประเทศรายได้น้อย และเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเพิ่มศักยภาพของห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยาและระบบการเก็บข้อมูลในกลุ่มประเทศเหล่านี้ เพื่อช่วยให้เข้าใจถึงอันตรายของซูเปอร์บักส์ซึ่งเป็นภัยคุกคามด้านสาธารณสุขครั้งสำคัญของมนุษย์

ปัญหาเรื้อรังจากการใช้ยาปฏิชีวนะเกินจำเป็น

บรรดานักวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า การใช้ยาปฏิชีวนะเกินจำเป็น ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ได้กระตุ้นให้เชื้อมีการพัฒนาตัวเองจนกลายเป็นซูเปอร์บักส์ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านการติดเชื้อแบคทีเรียจาก University of Warwick อธิบายว่า อย่างเวลาที่คนล้มป่วยจากการติดเชื้อไวรัส แต่กลับได้รับใบสั่งยาให้กินยาปฏิชีวนะมาเป็นเวลาหลายปี ซึ่งการได้รับยาปฏิชีวนะเป็นเวลานานกลับทำให้อาการป่วยรุนแรงขึ้น ขณะที่แบคทีเรียดื้อยาที่ได้รับยาปฏิชีวนะเข้าไปกลับมีความทนทานต่อยาปฏิชีวินะหลายชนิดได้

เมื่อปีที่แล้ว องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้เตือนว่า ยาปฏิชีวนะ 43 ชนิดที่อยู่ระหว่างการพัฒนาขึ้นใหม่หรือได้รับการอนุมัติการใช้ล่าสุดนี้ ไม่มียาตัวไหนที่แรงพอสำหรับการรับมือกับซูเปอร์บักส์เลย

ความหวังใหม่ในการรักษา

ทั้ง ซาโกนา ผู้เชี่ยวชาญด้านการติดเชื้อแบคทีเรียจาก University of Warwick และนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการรักษาซูเปอร์บักส์ ซึ่งเรียกว่า แบคเทอริโอเฟจ หรือ เฟจ (phage) ซึ่งเป็นวิธีการรักษาโดยการใช้ไวรัสที่มุ่งเป้าโจมตีเชื้อแบคทีเรีย และสามารถใช้การรักษานี้อย่างเดียว หรือใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะ เพื่อเข้าจัดการกับเชื้อดื้อยาชนิดรุนแรงนี้

ถึงแม้จะมีหนทางการรักษาใหม่ที่น่าสนใจออกมา แต่นักวิทยาศาสตร์ต่างย้ำว่า เป็นเรื่องสำคัญที่จะควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะไม่ให้เกินความจำเป็น เพื่อชะลอการพัฒนาซูเปอร์บักส์ที่แข็งแกร่งและร้ายแรงกว่าเดิมได้