ผลการศึกษาพบคนส่วนใหญ่ได้งานทำไม่ตรงสาขาที่เรียนมา

Students participate in a graduation ceremony at Columbia University in New York, May 17, 2017.

ผลการสำรวจโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ พบว่าแค่ 27 เปอร์เซ็นต์ของบัณฑิตมหาวิทยาลัยชาวอเมริกันทั้งหมดที่ได้งานทำตรงกับสาขาวิชาเอกที่เรียน

Your browser doesn’t support HTML5

ผลการศึกษาพบว่าคนส่วนใหญ่ได้งานทำไม่ตรงสาขาที่เรียนมา

ขณะนี้มหาวิทยาลัยรัฐ North Carolina ที่เมือง Raleigh กำลังพยายามช่วยนักศึกษาหาความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับอาชีพการงานที่จะทำในอนาคต

โดยในฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ ทางมหาวิทยาลัยกำลังจะจัดงานอบรมเพื่อช่วยนักศึกษามหาวิทยาลัยปีที่สามและปีที่สี่ วางแผนชีวิตเพื่อเข้าสู่สายงานที่โลกกำลังต้องการ

ที่มหาวิทยาลัยรัฐ North Carolina คณบดีจากภาควิชาสามภาควิชาของมหาวิทยาลัยจะเข้าร่วมสาธยายในการรอบรมนี้ โดยจะนำเสนอความรู้ทางด้านมนุษยศาสตร์ การจัดการธุรกิจเเละการออกเเบบ

Jeff Braden หนึ่งในคณบดีภาควิชามนุษยศาสตร์ บอกว่านักศึกษาไม่ควรวิตกกังวลว่าไม่มีทุกอย่างเหมือนกับที่คนอื่นมี เขากล่าวว่านักศึกษาระดับปริญญาตรีมักมองว่าคนอื่นทำได้เเต่ตัวเองทำไม่ได้

Braden เสนอแนะว่านักศึกษาที่กำลังพยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับงานในสาขาที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ให้มองหาตำเเหน่งงานที่ไม่สามารถทำได้ด้วยเครื่องจักรกลหรือคอมพิวเตอร์ เช่น งานต่างๆ ที่ต้องใช้ความคิดพิจารณาและการวิเคราะห์แนวลึกเหรืออย่างสร้างสรรค์ เป็นงานที่คอมพิวเตอร์ยังทำไม่ได้

ด้าน Annette Ranft คณบดีภาควิชาการจัดการทางธุรกิจที่มหาวิทยาลัยรัฐ North Carolina กล่าวว่า นักศึกษาควรคิดการณ์ไกลกว่าเเค่งานเเรกในชีวิตหลังจบมหาวิทยาลัย เพราะบัณฑิตมหาวิทยาลัยในปัจจุบันจะไม่ทำงานในตำเเหน่งเดียวไปตลอดชีวิตเหมือนคนรุ่นปู่ย่าตายาย

เธอกล่าวว่า หวังว่านักศึกษาจะมองไปข้างหน้าโดยตั้งเป้าหมายทางอาชีพการงานในระยะยาว

ทางสำนักงานสถิติเเรงงานแห่งสหรัฐฯ ชี้ว่าจำนวนปีโดยเฉลี่ยที่เเรงงานในสหรัฐฯ ทำงานในตำเเหน่งใดตำเเหน่งหนึ่ง อยู่ที่ 4 ปี 2 เดือนเมื่อเดือนมกราคมปีที่เเล้ว ซึ่งลดลงมาจากสองปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 4 ปี 6 เดือน

โพลล์สำรวจของ Gallup เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่เเล้ว พบว่า 51 เปอร์เซ็นต์ของชาวอเมริกันจะเปลี่ยนใจเกี่ยวกับการศึกษาอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ไม่ว่าจะเป็นสาขาที่เรียน สถาบัน เเละวิชาเอก

การวิจัยที่จัดทำระหว่าง Gallup กับ Strada Education Network พบว่า 36 เปอร์เซ็นต์ของชาวอเมริกัน บอกว่าพวกเขาจะเปลี่ยนสายการศึกษา ในขณะที่ 28 เปอร์เซ็นต์บอกว่าจะเปลี่ยนภาควิชาหรือมหาวิทยาลัย และ 12 เปอร์เซ็นต์บอกว่าจะเลือกเรียนสาขาใหม่

ในขณะที่อาชีพในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์เเละคณิตศาสตร์ ได้เป็นที่นิยมอย่างมากทั่วโลก นักศึกษาด้านศิลปศาสตร์ วรรณคดี จิตวิทยา รัฐศาสตร์ ปรัชญาและสังคมศาสตร์ เริ่มวิตกกังวลว่าจะหางานทำได้หรือไม่

สำนักงานสำรวจสำมะโนประชากรแห่งสหรัฐฯ รายงานว่า วิชาเอกด้านวิศวกรรมศาสตร์ได้เงินเดือนเฉลี่ยสูงที่สุดหลังเรียนจบ ที่ปีละ 92,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อปีหรือปีละเกือบสามล้านบาท

ส่วนวิชาเอกด้านศิลปะการออกแบบและการเเสดง มีเงินเดือนเฉลี่ยหลังเรียนจบต่ำที่สุดโดยอยู่ที่ปี 50,700 ดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือหนึ่งล้านหกเเสนบาทต่อปี

แต่หน้าเว็บไซท์หางาน Monster.com ชี้ว่า บัณฑิตด้านศิลปศาสตร์ไม่ควรกังวล เพราะมีความสามารถที่เป็นที่ต้องการในงานด้านเทคโนโลยี การตลาดและธุรกิจ นั่นเป็นเพราะว่านักศึกษาในสาขานี้ได้รับการสอนให้คิดอย่างลึกซึ้ง มีเหตุผล ทำการวิจัยอย่างรอบคอบและเขียนได้ดี ความสามารถเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้จ้างงานทุกคนอยากได้

Braden คณบดีภาควิชามนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรัฐ North Carolina กล่าวว่า พ่อแม่มักกังวลเกี่ยวกับวิชาเอกในภาควิชาศิลปศาสตร์หรือมนุษยศาสตร์ เขาได้ถามพ่อเเม่ว่าได้เลือกเรียนวิชาเอกอะไรในมหาวิทยาลัย ผู้ปกครองคนหนึ่งตอบว่าเลือกเรียนเอกภาษาอังกฤษ เเต่ตอนนี้ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ด้านการขาย

เขาบอกว่า นี่เป็นข้อพิสูจน์ว่าเราไม่จำเป็นต้องได้งานทำตรงกับสาขาวิชาเอกที่เรียนมาเสมอไป

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)