Josh Leong นักเรียนมัธยมเเม็คลีนในรัฐเวอร์จิเนีย เคยรับประทานอาหารเช้าตั้งเเต่ก่อนหัวรุ่งเพราะต้องรีบไปโรงเรียน เเต่หลังจากรัฐเวอร์จิเนียได้ปรับเวลาเข้าเรียนของโรงเรียนมัธยมทั่วรัฐให้เข้าสายขึ้น Josh มีเวลานอนหลับนานขึ้นเพราะไม่ต้องรีบเร่ง
สมาคมจิตวิทยาอเมริกันหรือ APA ชี้ว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของเด็กวัยรุ่นอายุระหว่าง 15 – 17 ปี นอนหลับเพียงเเค่ 7 ชั่วโมงต่อวันหรือน้อยกว่านั้น
สมาคม APA ชี้ว่าเด็กวัยรุ่นมักเข้านอนดึกและตื่นเเต่เช้า นิสัยการนอนลักษณะนี้เป็นผลมาจากการทำงานของนาฬิกาชีวิต เเต่ทางสมาคมชี้ว่าการให้เด็กวัยรุ่นเข้านอนเร็วขึ้นเพื่อจะได้ตื่นทันในตอนเช้าไม่มีผลต่อนาฬิกาชีวิตนี้ เพราะเด็กวัยรุ่นจะยังรู้สึกเหนื่อยเพลียในตอนเช้าตรู่ตามธรรมชาติ
ทางสมาคมการแพทย์อเมริกันหรือ AMA สนับสนุนให้โรงเรียนมัธยมในสหรัฐฯ ปรับเวลาเข้าเรียนให้สายขึ้น
ในการประชุมประจำปีของทางสมาคมเมื่อปีที่แล้ว วิลเลี่ยม อี. ก็อบเบล่อร์ สมาชิกคณะกรรมการของสมาคม กล่าวว่าการนอนหลับไม่เพียงพอกำลังกลายเป็นปัญหาสุขภาพที่ส่งผลกระทบเเต่วัยรุ่นเเละคนหนุ่มสาวในสหรัฐฯ ทำให้คนกลุ่มนี้เสี่ยงสูงขึ้นต่อโรคจิตเภท ความเครียดทางกายเเละใจ ตลอดจนความบกพร่องอื่นๆ
ในปี ค.ศ. 2016 ทางสมาคมได้ออกข้อเสนอทางนโยบายใหม่ที่เร่งเร้าให้โรงเรียนมัธยมสหรัฐฯ ปรับเวลาเข้าเรียนในตอนเช้าเป็นหลัง 8 นาฬิกา 30 นาทีเป็นต้นไป ไม่ให้เร็วกว่านั้น
ในขณะที่บรรดาเเพทย์ในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่สนับสนุนการเข้าเรียนสาย แต่ชาวอเมริกันไม่เห็นพ้องกันในประเด็นนี้เสมอไป
โรงเรียนในสหรัฐฯ ถูกแบ่งออกเป็นเขตการศึกษา และสำนักงานสำรวจสำมะโนประชากรสหรัฐฯ ชี้ว่ามีเขตการศึกษามากกว่า 14,000 แห่งทั่วประเทศ แต่ละเขตมีคณะบริหารเขตการศึกษาของตนเองซึ่งเป็นผู้กำหนดเวลาเข้าเรียนเเละเลิกเรียนของโรงเรียนในความดูแล ตลอดจนนโยบายสำคัญๆ อื่นๆของโรงเรียน
ผู้ปกครองชาวอเมริกันบางคนไม่เห็นด้วยกับการปรับเวลาเข้าเรียน เพราะกลัวจะกระทบต่อกิจกรรมกีฬาของลูกหลังเลิกเรียน โดยเฉพาะผู้ปกครองในรัฐนิวเจอร์ซี่ย์ที่ไม่เห็นด้วยอย่างมาก
ริช เพอเรลโล่ ผู้ปกครองที่ไม่เห็นด้วย บอกว่าคนที่ตัดสินใจเรื่องนี้ไม่เข้าใจเด็กที่อยากเล่นกีฬาหลังเลิกเรียน ส่วนชาวอเมริกันคนอื่นๆ ไม่เห็นด้วยกับเวลาเข้าเรียนสาย เพราะเห็นว่ายังไม่มีการวางเเผนที่เพียงพอก่อนตัดสินใจเปลี่ยนเวลาเข้าเรียน
เกร็ก ลินด์เนอร์ เป็นผู้อำนวยการคณะกรรมการโรงเรียนในเขตการศึกษายูเนี่ยนวิลล์ - เเชดด์สฟอร์ด ในรัฐเพนซิลเวเนีย บอกว่าเขาลงคะเเนนเสียงไม่เห็นด้วยกับการปรับเวลาเข้าเรียนให้สายกว่าเดิม โดยให้เหตุผลว่าเเม้เขาจะเชื่อในผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ถึงผลดีต่อเด็กนักเรียน เเต่ทางเขตการศึกษาควรใช้เวลาพิจารณาให้ถี่ถ้วนเสียก่อน ไม่ควรรีบร้อนในการตัดสินใจ
ลินด์เนอร์ บอกว่าเขากังวลเรื่องการจัดการด้านการวางแผนกิจกรรมต่างๆสำหรับคนจำนวนมาก รวมทั้งตารางเวลารถโดยสารของโรงเรียนในการรับและส่งนักเรียน เขตการศึกษาของเขาเป็นเขตการศึกษาขนาดใหญ่มาก กินพื้นที่ 77 ตารางไมล์หรือราว 200 ตารางกิโลเมตร รถโดยสารโรงเรียนต้องเดินทางไกลเพื่อไปรับนักเรียนและครูจำนวนมากอาศัยนอกเขตการศึกษา การปรับเวลาเข้าเรียนออกไปให้สายขึ้น อาจจะทำให้เกิดความยุ่งยาก เพราะครูเเละนักเรียนต้องเดินทางในตอนที่มีการจราจรคับคั่ง ครูจำนวนมากมีบุตรวัยเรียนที่ต้องไปเรียนในโรงเรียนต่างเขตที่อาจกำหนดเวลาเข้าเรียนคนละเวลากัน
ลินด์เนอร์ กล่าวว่าเขาสนับสนุนหากจะมีการเสนอให้ปรับเวลาเข้าเรียนในปีการศึกษาหน้า
ด้าน ฟิลลิส เพนนี ผู้อำนวยการกลุ่ม Start School Later ที่เรียกร้องให้โรงเรียนมัธยมในสหรัฐฯ ปรับเวลาเข้าเรียนให้สายขึ้น กล่าวว่า เธอเห็นด้วยว่าเขตการศึกษาควรวางเเผนล่วงหน้าเกี่ยวกับปัญหาการจัดการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นหากต้องปรับเวลาเข้าเรียนใหม่ โดยมองว่าเป็นเรื่องที่สามารถทำได้
เธอกล่าวว่าปัญหาใหญ่ที่สุดเกิดจากคนไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง คนเราต้องการปกป้องตนเองจากการเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง เมื่อได้ยินว่ากำลังจะมีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้น ปฏิกริยาเเรกคือการปฏิเสธโดยบอกว่าไม่ดี เพราะมัวแต่คาดถึงผลเสียและความยากลำบากที่จะเกิดกับตนเองเพียงเท่านั้น
Josh Leong นักเรียนมัธยมเเม็คลีนในรัฐเวอร์จิเนีย บอกว่าชอบเวลาเข้าเรียนใหม่ที่ 8 โมง 5 นาทีมาก เขาบอกว่าชอบมากที่มีเวลามากขึ้นเพราะได้ตื่นพร้อมกับเเสงยามเช้าของพระอาทิตย์ ไม่ต้องรีบทานอาหารเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้นอีกต่อไปและการได้นอนหลับเต็มอิ่ม ทำให้เริ่มต้นวันใหม่ได้อย่างสดชื่นขึ้น
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)