ผลวิจัยเผย ทารกมีโอกาสเข้าร.พ. จากโควิดน้อยลง หากแม่ฉีดวัคซีนตั้งแต่ตั้งครรภ์

HEALTH-CORONAVIRUS/VACCINES-PREGNANCY

เมื่อวันอังคาร ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือ ซีดีซี เผยแพร่ผลการศึกษาชิ้นใหม่ ที่ระบุว่า ทารกมีโอกาสเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคโควิด-19 ต่ำกว่า หากแม่ของเด็กฉีดวัคซีนตั้งแต่ยังตั้งครรภ์

ผลการศึกษาระบุว่า ทารกที่แม่ฉีดวัคซีน mRNA สองโดสขณะตั้งครรภ์ มีโอกาสเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลต่ำกว่าทารกที่แม่ไม่ได้ฉีดวัคซีนราว 60 เปอร์เซ็นต์ในช่วงหกเดือนแรกของชีวิต และจะมีโอกาสเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลต่ำลงไปอีก หากแม่ของเด็กฉีดวัคซีนหลังมีอายุครรภ์ 20 สัปดาห์

ซีดีซีเตือนให้หญิงตั้งครรภ์ แม่ที่ให้นมบุตร หรือหญิงที่มีแผนจะตั้งครรภ์ ให้ฉีดวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ซึ่งโรคดังกล่าวอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดหรือภาวะตายคลอดได้

นักวิจัยของซีดีซีศึกษาทารก 379 คนที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเด็ก 20 แห่งทั่วสหรัฐฯ ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงมกราคม รวมถึงทารก 176 คนที่ติดเชื้อโคโรนาไวรัส

อังกฤษเผย วัคซีนช่วยลดภาวะ ‘ลองโควิด’

สำนักงานหลักประกันสุขภาพของอังกฤษ หรือ HSA เปิดเผยว่า ผลการศึกษาหลายฉบับระบุว่า วัคซีนต้านโรคโควิด-19 ลดความเสี่ยงจากภาวะ “โควิดระยะยาว” (long COVID) หรือภาวะข้างเคียงหลังผู้ป่วยหายจากโรคโควิด-19 แล้ว ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน

HSA ได้ข้อสรุปดังกล่าวหลังตรวจสอบข้อมูลจากผลการศึกษา 15 ฉบับทั้งในอังกฤษและในประเทศอื่นๆ โดยงานวิจัยครึ่งหนึ่งศึกษาว่า วัคซีนช่วยป้องกันผู้ฉีดวัคซีนจากภาวะโควิดระยะยาว หากผู้ฉีดวัคซีนไม่เคยติดเชื้อหรือไม่ ในขณะทีมงานวิจัยที่เหลือศึกษาถึงประสิทธิผลของวัคซีนต่อผู้ที่มีภาวะโควิดระยะยาวอยู่แล้ว

HSA ได้ข้อสรุปว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนมาแล้ว 1-2 โดส มีโอกาสเป็นภาวะโควิดระยะยาวน้อยกว่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน โดยอาการโควิดในระยะยาวนั้นมีทั้งอาการเหนื่อย ปวดหัว ผมร่วง หายใจลำบาก หรือไม่ได้กลิ่น ผลสรุปยังระบุด้วยว่า มีหลักฐานว่าผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนและมีภาวะโควิดระยะยาว มีอาการน้อยลงหลังจากฉีดวัคซีนแล้ว เมื่อเทียบกับผู้ที่ยังคงไม่ฉีดวัคซีนต่อไป

  • ข้อมูลบางส่วนจากเอพีและรอยเตอร์