Your browser doesn’t support HTML5
ปัญหาใหญ่ที่แวดวงผลิตพลังงานจากเเสงอาทิตย์ยังประสบอยู่ในขณะนี้ คือการกักเก็บพลังงานเเสงอาทิตย์เอาไว้ในในภายหลัง
เพราะในปัจจุบัน หากเราไม่ใช้พลังงานเเสงอาทิตย์ที่ผลิตได้ พลังงานจะสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์
เเต่ Kasper Moth Poulsen เเห่ง Chalmers University of Technology ในสวีเดน กล่าวว่าความฝันของเขาคือการนำโครงการวิจัยของเขาในห้องทดลองไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์โดยเป็นระบบผลิตพลังงานจริงๆ ที่สามารถใช้งานได้ในชีวิตจริง
Poulsen คิดค้นโมเลกุลเหลวที่สามารถดูดซับและเก็บกักพลังงานเเสงอาทิตย์ได้โดยไม่มีที่สิ้นสุด
เขากล่าวว่าโมเลกุลเหลวที่เขาคิดค้นขึ้นในห้องทดลองสามารถดูดซับเเสงอาทิตย์ หลังจากนั้นเเสงอาทิตย์จะแปลงสภาพโมเลกุลเหลวดังกล่าวให้กลายเป็นโมเลกุลอีกตัวหนึ่งที่เรียกว่า isomer
ตัวโมเลกุล isomer นี้เเม้จะมีองค์ประกอบเดียวกันเเต่มีโครงสร้างที่เเตกต่างไปจากเดิม จะมีความเสถียรและสามารถนำไปเก็บไว้ในถังเก็บกักพลังงาน
และเมื่อต้องการใช้พลังงานก็นำกลับออกมาเเละกระตุ้นโมเลกุลให้คืนสภาพเดิม โดยปลดปล่อยพลังงานที่เก็บกักไว้ออกมาในรูปของความร้อน
ระบบนี้เรียกว่า “ระบบโมเลกุลจัดเก็บพลังงานแสงอาทิตย์”
Kasper Moth Poulsen นักวิจัยสวีเดน กล่าวว่าระบบนี้อาจฟังดูเเล้วซับซ้อน นั่นเป็นเพราะว่าระบบจะต้องมีประสิทธิผลในการดูดซับเเสงอาทิตย์ ในการแปลงสภาพโมเลกุลให้กลายเป็นโมเลกุลพิเศษที่เก็บกักความร้อนเอาไว้ในตัว และยังต้องมีความหนาเเน่นทางพลังงานสูงเพื่อประหยัดพื้นที่ นอกจากนี้ ยังจะต้องมีราคาถูกและใช้งานได้นาน
ขณะนี้ ทีมงานของเขาประสบความสำเร็จในการพัฒนาโมเลกุลจำนวนหนึ่งที่สามารถปรับสภาพของพลังงานเเสงอาทิตย์ที่ดูดซับเอาไว้อย่างน้อย 1 เปอร์เซ็นต์ ให้กลายเป็นพลังงานเคมีที่สามารถจัดเก็บเข้าคลังได้
Kasper Moth Poulsen กล่าวว่า ระบบโมเลกุลเก็บกักพลังงานเเสงอาทิตย์นี้ จะพร้อมที่จะนำออกมาใช้งานได้หากโมเลกุลที่ทีมงานกำลังพัฒนาอยู่นี้สามารถเก็บกักพลังงานได้อย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานเเสงอาทิตย์
(รายงานโดย Kevin Enochs / เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว)