การศึกษาชี้ผู้หญิงยุคหินเคยเป็นนักล่าสัตว์ใหญ่ในอดีต

Artist reconstruction of Wilamaya Patjxa vicuña hunt. (Photo: Matthew Verdolivo UC Davis IET Academic Technology Services)

Your browser doesn’t support HTML5

Female Hunter


การขุดซากศพที่สุสานอายุ 9,000 ปีในเปรูทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้ข้อมูลใหม่ๆ เกี่ยวกับบทบาททางเพศในการล่าสัตว์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์

การค้นพบนี้สวนทางกับสิ่งที่นักวิจัยได้พบเห็นในวัฒนธรรมการล่าสัตว์อื่นๆ เกือบทั้งหมด แต่นักโบราณคดีก็ไม่ได้มีความเชื่อมั่นในเรื่องนี้กันทุกคน

ในการศึกษาครั้งใหม่ที่ตีพิพม์ในวารสาร Science Advances นักโบราณคดีพบซากศพของหญิงวัยรุ่นที่ถูกฝังอยู่กับสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นชุดอุปกรณ์ล่าสัตว์ขนาดใหญ่ครบชุด เช่น หอก ใบมีด เครื่องขูดและเครื่องมือหินอื่นๆ

Randy Haas นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่เมืองเดวิสกล่าวว่า พวกเขาไม่สามารถบอกเพศของซากศพได้ที่ไซต์ขุด แต่ทุกคนสันนิษฐานว่าเป็นเพศชาย และจะต้องเป็นนักล่าที่เก่งกาจ หรืออาจจะเป็นหัวหน้าใหญ่ หรือนักรบที่เก่งกาจก็เป็นได้

แต่หลังจากการศึกษาต่อที่ห้องแล็บ Jim Watson จากมหาวิทยาลัยแอริโซนากล่าวว่า เขาคิดว่าซากศพนี้เป็นผู้หญิง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ

ในการศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรมการล่าสัตว์เกือบทุกฉบับ การล่าสัตว์ใหญ่มักจะเป็นหน้าที่ของผู้ชายเกือบทั้งหมด นักมานุษยวิทยาส่วนใหญ่สันนิษฐานว่าเป็นเช่นนั้นมาโดยตลอด แต่จากการศึกษาครั้งนี้ทำให้เกิดคำถามว่าการล่าสัตว์ของหญิงยุคก่อนประวัติศาสตร์อาจเป็นเรื่องปกติธรรมดามากกว่าที่เคยคิดกัน

นักโบราณคดีได้ขุดซากศพไป 429 ชุด และพบว่ามีซากของชาย 16 คนและหญิง 11 คนที่ถูกฝังไว้ข้างๆ ชุดอุปกรณ์ล่าสัตว์ใหญ่ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ และจากซากศพของเพศหญิง 11 คนที่พบอยู่กับอุปกรณ์ล่าสัตว์นั้น นักวิทยาศาสตร์สามารถระบุเพศอย่างชัดเจนพร้อมทั้งเชื่อมโยงซากศพเข้ากับอุปกรณ์เหล่านั้นได้เพียงสามคน

ทั้งนี้ไม่เคยมีรายงานฉบับไหนที่ระบุว่าผู้หญิงเป็นนักล่ามาก่อน Haas ตั้งข้อสังเกตว่าตามไซต์งานอื่นๆ เครื่องมือดังกล่าวไม่ได้ถูกอธิบายว่าเป็นอุปกรณ์ล่าสัตว์ แต่เป็นเครื่องมือสำหรับเตรียมอาหารหรือตัดเย็บเสื้อผ้าซึ่งถือว่าเป็นงานของผู้หญิง

มีกรณีหนึ่ง ที่นักวิจัยไม่เชื่อผลดีเอ็นเอที่ระบุว่าซากศพนั้นเป็นเพศหญิง เนื่องจากพบว่ามีเครื่องมือล่าสัตว์อยู่กับซากศพนั้นด้วย ซึ่ง Haas กล่าวว่าการกีดกันทางเพศอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะเวลา 9,000 ปีอาจเกิดอะไรขึ้นมากมายตามสุสานเหล่านั้น เช่นมีการสลายตัวทำให้ระบุเพศได้ยากขึ้น หรือวัตถุที่พบใกล้ๆ กับศพอาจไม่ได้อยู่ตรงนั้นตอนนี้ถูกนำมาฝัง เป็นต้น

Ben Potter นักโบราณคดีจากศูนย์การศึกษา Liaocheng University Arctic Studies Center กล่าวว่าเขาไม่เชื่อว่าการวิเคราะห์ของ Hass และคณะของเขาจะมีข้อมูลมากมายเกี่ยวกับการแบ่งแยกว่าการล่าสัตว์เป็นงานของเพศไหน

ส่วน Bill Hildebrandt นักโบราณคดีจากกลุ่มวิจัย Far Western Anthropological Research Group กล่าวว่าเขาคิดว่าการศึกษานี้ช่วยแสดงให้เห็นถึงบทบาททางเพศในสมัยโบราณแบบเจาะลึก ตัวเขาเองได้ศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรมอายุ 8,000 ปีในแคลิฟอร์เนียตอนใต้ซึ่งดูเหมือนจะไม่ได้มีการบ่งบอกถึงบทบาททางเพศอย่างตายตัว

นักโบราณคดีจากกลุ่มวิจัย Far Western Anthropological Research Group กล่าวว่า การศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรมการล่าสัตว์ฉบับใหม่ๆ อาจทำให้เราอาจคิดว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนักในการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างหญิงและชาย แต่หากลองศึกษาบันทึกทางโบราณคดีฉบับเก่าๆ ดู บางครั้งอาจจะพบสิ่งที่ไม่คาดคิดก็เป็นได้

เขากล่าวเสริมอีกว่า บทบาทของสตรีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วง 20 หรือ 30 ปีที่ผ่านมาในสังคมของเรา ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่บทบาทของผู้หญิงอาจผันแปรได้ในสมัยโบราณด้วยเช่นกัน