การศึกษาจากหน่วยงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในแถบอเมซอน Amazon Geo-Referenced Socio-Environmental Information Network หรือ RAISG ที่เปิดเผยเมื่อต้นสัปดาห์ พบว่า ในระยะ 18 ปีที่ผ่านมา ช่วงปี ค.ศ. 2000-2018 ผืนป่าอเมซอนถูกทำลายไป 8% หรือ 513,016 ตารางกิโลเมตร เทียบเท่ากับขนาดของประเทศสเปนเลยทีเดียว
หน่วยงาน RAISG เริ่มจัดทำแผนที่ติดตามความเสียหายของพื้นที่ป่าอเมซอนมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 ด้วยความร่วมมือของ 10 องค์กรด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ พบว่า ในช่วงปี ค.ศ. 2003-2010 ระดับการตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่ลดลงไปก็จริง แต่การทำการเกษตร การปศุสัตว์ การทำเหมือง และโครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ต่างเป็นปัจจัยให้พื้นที่ป่าอเมซอนถูกทำลายลงมากเช่นกัน
ประธานาธิบดีจาอีร์ โบลโซนาโร แห่งบราซิล ผลักดันให้มีการพัฒนาพื้นที่ป่าอเมซอนและผ่อนปรนการบังคับใช้กฏหมายด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้ในปี ค.ศ. 2018 เพียงปีเดียว พื้นที่ป่าอเมซอน 31,269 ตารางกิโลเมตรถูกทำลาย นับว่าเลวร้ายกว่าการถางป่าเมื่อปี ค.ศ. 2003 เพียงปีเดียวด้วย ตามข้อมูลของหน่วยงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในแถบอเมซอน
ข้อมูลจาก World Resources Institute ของหน่วยงานที่เคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม Global Forest Watch ระบุว่า ความเสียหายของป่าเขตร้อนอเมซอน ส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบนิเวศในพื้นที่ และกระทบต่อสภาพภูมิอากาศโลกอย่างมาก จากการที่พื้นที่ป่าอเมซอนเปรียบเสมือนกับปอดของโลก ที่ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของโลกราว 8%
การศึกษาล่าสุดของหน่วยงาน RAISG มีขึ้นก่อนโอกาสครบรอบ 5 ปี สนธิสัญญากรุงปารีสว่าด้วยการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ที่ 195 ประเทศเห็นพ้องต้องกันในการควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส ซึ่งสหรัฐฯ เพิ่งกลายเป็นประเทศแรกของโลกที่ถอนตัวจากข้อตกลงดังกล่าวไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา